×

สองคู่หูผู้ก่อตั้ง Instagram ประกาศลาออกจากบริษัทแล้ว ลือแนวทางขัดแย้งกับ Facebook

25.09.2018
  • LOADING...

นับเป็นข่าวใหญ่สะเทือนวงการโซเชียลมีเดียพอสมควร เมื่อ เควิน ซิสตรอม และไมค์ ครีเกอร์ สองผู้ร่วมก่อตั้งและหัวเรือใหญ่ของอินสตาแกรมได้ประกาศลงจากตำแหน่งและลาออกจากบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวานนี้ (24 ก.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ขณะที่สื่อหลายสำนักเชื่อว่าการลาออกในครั้งนี้เป็นผลมาจากการไม่ลงรอยกับแนวทางการบริหารงานของบริษัทแม่อย่างเฟซบุ๊ก

 

เควินได้และไมค์โพสต์ข้อความสุดท้ายอำลาบน Instagram Press โดยระบุว่าพวกเขาขอขอบคุณช่วงเวลาดีๆ ตลอด 8 ปีที่ผ่านมากับอินสตาแกรม และอีก 6 ปีในการทำงานกับทีมของเฟซบุ๊ก ทั้งๆ ที่เริ่มต้นกับทีมงานแค่ 13 คน แต่ทุกวันนี้บริษัทที่ทั้งคู่ก่อตั้งมาร่วมกันกลับมีพนักงานมากกว่าพันคนทั่วทุกมุมโลกที่ร่วมกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีและเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนหลายพันล้านคน

 

“ตอนนี้เราพร้อมกับบทพิสูจน์ถัดไปแล้ว เราวางแผนจะหยุดพักชั่วคราวเพื่อออกสำรวจความใคร่รู้อยากเห็นและความคิดสร้างสรรค์ของเราอีกครั้ง การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาจำเป็นจะต้องถอยหลัง 1 ก้าวเพื่อทำความเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้เรา และบิดมุมปรับสิ่งนั้นให้เข้ากับส่ิงที่โลกนี้ต้องการ นั่นคือสิ่งที่เราวางแผนเอาไว้

 

“พวกเรายังคงตื่นเต้นที่จะได้เฝ้าดูอนาคตของอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าที่กำลังจะมาถึง ในวันที่เราลดบทบาทตัวเองจากการเป็นผู้บริหารมาสู่การเป็นแค่ผู้ใช้ 2 คนจากหลายพันล้านคน เรารอคอยที่จะได้พบนวัตกรรมใหม่ๆ และความมหัศจรรย์ที่บริษัทจะสร้างสรรค์ในอนาคตข้างหน้า”

 

ด้านแหล่งข่าววงในของเว็บไซต์ TechCrunch เชื่อว่าการประกาศลาออกจากบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาด้วยตัวเองของเควินและไมค์น่าจะมีเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่าแค่อยากออกไปค้นหาแรงบันดาลใจสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แน่นอน โดยเชื่อว่าแนวทางการบริหารงานของผู้บริหารอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กมีความขัดแย้งบางอย่างระหว่างกัน รวมถึงความกดดันก้อนโตที่บริษัทแม่ได้โยนทิ้งไว้ให้กับอินสตาแกรม

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว (2012) เฟซบุ๊กได้ทุ่มเงินกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 32,500 ล้านบาท เพื่อซื้อกิจการของอินสตาแกรมไว้ในครอบครอง ซึ่งในตอนนั้นแพลตฟอร์มของอินสตาแกรมเพิ่งจะมีอายุได้แค่ 2 ปีเท่านั้น แต่ก็ได้รับการจับตาและเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้ใช้เป็นอย่างมาก

 

แต่หลังจากที่รวมเข้าเป็นบริษัทเดียวกัน แนวทางการบริหารงานและวิสัยทัศน์ของบริษัทแม่และลูกกลับมีความขัดแย้งระหว่างกันเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ตัวอย่างเช่น ข้อเรียกร้องของฝั่งอินสตาแกรมที่อยากเป็นเอกเทศ บริหารงานด้วยตัวเอง ขณะที่เฟซบุ๊กโดย มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก อยากให้ทั้งสองแพลตฟอร์มเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในด้านประสบการณ์การใช้งานของผู้บริโภค รวมไปถึงการถ่ายโอนพนักงานสลับไปมาอยู่บ่อยๆ

 

ภาพ: codypickens.com

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X