×

นักวิชาการแนะรัฐคุมเกม-เอกชนลงมือ เร่งตรวจสอบ ‘เขื่อน-ประปา’ โครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
30.03.2025
  • LOADING...

วันนี้ (30 มีนาคม) รศ. ดร.สายันต์ ศิริมนตรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้ความเห็นว่า หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้อาฟเตอร์ช็อกได้เกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง จึงสามารถวางใจได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการในลำดับถัดไปคือ การระดมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานที่ประชาชนใช้ในชีวิตประจำวันทั้งหมด เช่น ถนน ทางด่วน ระบบราง รถไฟฟ้า ระบบโทรคมนาคม โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต รวมถึงท่อน้ำและสนามบิน โดยเฉพาะโครงสร้างเขื่อนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อประเมินว่ามีความเสียหายหรือไม่ และสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้กับประชาชน

 

รศ. ดร.สายันต์ ระบุว่า ในสถานการณ์ภัยพิบัติ บุคลากรภาครัฐที่รับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐานอาจมีจำนวนจำกัด จึงเสนอให้ภาครัฐเชิญภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาร่วมดำเนินการตรวจสอบ โดยบทบาทของรัฐควรเป็นผู้กำกับดูแล มากกว่าลงมือปฏิบัติเองทั้งหมด เพื่อให้การตรวจสอบครอบคลุมและรอบด้านมากขึ้น และหากพบความเสียหาย ก็ควรดำเนินการซ่อมแซมในทันที

 

สำหรับระดับความเสียหายจากแผ่นดินไหว รศ. ดร.สายันต์ อธิบายว่า มีตั้งแต่ระดับเล็กน้อยที่ไม่ส่งผลกระทบ ระดับปานกลาง ไปจนถึงระดับรุนแรง หากพบว่าโครงสร้างเสียหายเล็กน้อย ควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และทยอยซ่อมแซมภายหลัง แต่หากพบความเสียหายในระดับปานกลางถึงรุนแรง ก็ควรระงับการใช้งานพื้นที่ชั่วคราวจนกว่าการปรับปรุงจะแล้วเสร็จ พร้อมทั้งแนะนำให้ภาครัฐสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องและต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็น

 

นอกจากนี้ รศ. ดร.สายันต์ ยังเสนอให้ภาครัฐวางมาตรการระยะยาวด้านการสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนเข้าใจวิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว เช่น ควรมองหาที่หลบภัยประเภทใด หรือควรหมอบอยู่ใต้โต๊ะหรือไม่ เพื่อป้องกันของแข็งตกใส่ เพราะในกรณีที่โครงสร้างของอาคารไม่แข็งแรงและแผ่นดินไหวมีความรุนแรง การพยายามหลบหนีอาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บมากกว่าการอยู่กับที่

 

ในประเด็นข้อกฎหมาย รศ. ดร.สายันต์ กล่าวถึงพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2550 ที่ได้เพิ่มเติมข้อกำหนดให้การออกแบบและก่อสร้างอาคารต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากแผ่นดินไหว และมีการปรับปรุงต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการแบ่งโซนพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ ส่งผลให้โครงการที่ก่อสร้างหลังปี 2550 ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งหากดำเนินการตามนั้นก็จะช่วยลดความเสียหายได้อย่างมาก และนับว่าเป็นเรื่องโชคดีที่อาคารส่วนใหญ่ยังมีความแข็งแรงพอสมควร แม้อาจได้รับความเสียหายเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่สามารถประเมิน ซ่อมแซมหรือเสริมความแข็งแรงให้กลับมาใช้งานได้ตามเดิม

 

เมื่อถูกถามถึงกรณีอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม รศ. ดร.สายันต์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุได้อย่างชัดเจน อาจเกิดจากข้อผิดพลาดในการออกแบบโครงสร้าง ซึ่งหากเป็นอาคารใหม่ ผู้ออกแบบจำเป็นต้องคำนึงถึงแรงแผ่นดินไหวตามข้อกฎหมาย หรืออาจเป็นปัญหาในกระบวนการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ ควรรอผลตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน จึงไม่ควรด่วนตัดสินหรือชี้ไปในทิศทางใด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising