×

ยุโรปกับการค้าเสรี และ FTA

29.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 mins read
  • ฝั่งยุโรปยังคงยึดมั่นใน ‘ระบอบการค้าเสรี’ และการเดินหน้า การเจรจาเขตการค้าเสรีหรือ FTA กับประเทศคู่ค้าต่างๆ ทั่วโลก เพราะเชื่อมั่นว่า นี่จะเป็นหนทางเดียวที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจยุโรปได้
  • จุดขายของยุโรป ก็คือยุโรปเป็นภูมิภาคที่เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นตลาดใหญ่แบบตลาดเดียว ที่มีกำลังซื้อสูงของประชากรกว่า 500 ล้านคน และเป็นผู้นำเข้าและส่งออกสินค้าและบริการที่ใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16% ของการค้าโลก
  • การรื้อฟื้นและหันมาเดินหน้าการเจรจา FTA ไทยและอียูอย่างเร่งด่วน จะเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมโอกาสการค้าและการลงทุนของไทยในตลาดยุโรป ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราได้ก้าวแซงหน้าเราไปหมดแล้ว

     สหภาพยุโรป หรืออียู เป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเชื่อมั่นในระบบการค้าเสรี พร้อมกับการเดินหน้าการเจรจาเขตการค้าเสรีหรือ FTA กับประเทศคู่ค้าต่างๆ ทั่วโลก

     ว่าแต่ FTA ที่เกิดขึ้นมามากมายนั้น เปิดเสรีแล้ว ดีจริงหรือ? ทำไมประเทศเพื่อนบ้านของเราในเอเชีย เขาเดินหน้าการเจรจา FTA กับอียูไปกันเกือบหมด เหลือแต่ประเทศไทย

     ในขณะที่ทิศทางการค้าโลก นำโดยมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์มีแนวโน้มหันมาใช้นโยบายการค้าแบบปิดกั้นหรือ protectionism มากขึ้น ยุโรปจะต้านไหวไหม และอียูมียุทธศาสตร์การค้าต่อเอเชียเป็นอย่างไร แล้วประเทศไทยยืนอยู่ตรงจุดไหนในสายตาอียู?

 

FTA หนทางสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจยุโรป

     ในกระแสการค้าโลกทศวรรษใหม่ที่ดูจะออกไปทาง ‘ปิดกั้น’ มากกว่า ‘เปิดเสรี’ โดยมหาอำนาจทางการค้าอย่างสหรัฐฯ ออกมาแสดงนโยบาย protectionism อย่างหน้าตาเฉย ตั้งแต่เรื่องการขู่ขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ดึงดูด (กึ่งบังคับ) บริษัทอเมริกากลับมาลงทุนในประเทศ ฯลฯ

     แต่ฝั่งยุโรปยังคงยึดมั่นใน ‘ระบอบการค้าเสรี’ และการเดินหน้าการเจรจาเขตการค้าเสรีหรือ FTA กับประเทศคู่ค้าต่างๆ ทั่วโลก เพราะเชื่อมั่นว่า นี่จะเป็นหนทางเดียวที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจยุโรปได้ ทั้งนี้ ก็เพราะเชื่อว่าการมี FTA และเปิดเสรีกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะเป็นการผลักดันให้ธุรกิจยุโรปสามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะเป็นปัจจัยเร่งยอดการส่งออกของยุโรปให้เพิ่มมากขึ้น และยังเชื่อว่าการมี FTA จะทำให้ยุโรปสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรและวัตถุดิบจากประเทศทั่วโลก (และตามแผนก็คือ…ในขณะที่ตน เน้นการเป็นผู้สร้าง และควบคุมเทคโนโลยีทันสมัย)

     ว่าแต่ยุโรปเอาอะไรมาแลกเปลี่ยนกับคู่ค้าต่างๆ ทั่วโลก ทำไมประเทศต่างๆ จึงอยากเจรจา FTA กับยุโรป ในขณะที่ Model New Generation FTA ของยุโรปที่ใช้เจรจากับประเทศคู่ค้าก็ ‘หิน’ ใช่ย่อย เพราะมีข้อกำหนดเยอะไปหมด ไม่ใช่รวมแต่เรื่องการค้าและการลดภาษีระหว่างสินค้าและบริการอย่างเดียว แต่รวมไปถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน ความยั่งยืน และข้อกำหนดด้านสังคมอื่นๆ

     จุดขายของยุโรป ก็คือยุโรปเป็นภูมิภาคที่เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นตลาดใหญ่แบบตลาดเดียว ที่มีกำลังซื้อสูงของประชากรกว่า 500 ล้านคน และเป็นผู้นำเข้าและส่งออกสินค้าและบริการที่ใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16% ของการค้าโลก

     ที่สำคัญ อียูยังอ้างว่านโยบายการค้าของอียูนั้นเปิดกว้างแก่ประเทศกำลังพัฒนา โดยอียูนำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนามากกว่าที่อียูนำเข้าจากสหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น และจีน รวมกันเสียอีก และสินค้ากว่า 70% เข้าไปขายในอียูได้ด้วยภาษีศูนย์

     ในยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนฉบับใหม่ของอียูที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ Trade for All ยังคงเน้นการดำเนินการค้าเสรี แต่ยิ่งเน้นความโปร่งใส การเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้มีส่วนร่วมในการเจรจาเขตการค้าเสรีมากขึ้น และเน้นโอกาสและประโยชน์แก่กลุ่ม SMEs ในการเจรจาเขตการค้าเสรีต่างๆ

     ความคืบหน้าในการเดินหน้าการเจรจา FTA ของอียูกับประเทศต่างๆ สรุปได้ ดังนี้

 

FTA อียู-สหรัฐฯ

     Transatlantic Trade and Investment Partnership (TTIP) ซึ่งเป็นการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี ระหว่างอียูและสหรัฐฯ ซึ่งเจรจามาแล้วกว่า 3 ปี หากเจรจาสำเร็จ จะถือเป็นความตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

     แต่เอาเข้าจริงๆ TTIP ดูจะไปไม่รอด เพราะไม่มีวี่แววความก้าวหน้า ตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แม้ฝ่ายคณะเจรจาของอียูและสหรัฐฯ เอง ยังไม่มีใครอยากออกมายอมรับอย่างเป็นทางการ เพราะดูเหมือนว่าสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการค้าเสรีของยุโรปและสนับสนุนการเจรจา TTIP มาตั้งแต่เริ่มแรก กลับมาเลือกออกจากอียูไปเสียอย่างนั้น ส่วนฝรั่งเศสก็ยังมีทีท่าคัดค้านเรื่องการเปิดเสรีภาคเกษตรของยุโรป เพราะเกรงจะรับมือการแข่งขันจากบริษัทสหรัฐฯ ไม่ไหว ฝ่ายเยอรมันยังยืนยันการเดินหน้าการเจรจา แต่ก็มีกระแสการประท้วงและคัดค้าน โดยเฉพาะประเด็นด้านมาตรฐานแรงงานและด้านสิ่งแวดล้อมในเยอรมนีอยู่เนืองๆ

 

FTA อียู-แคนาดา

     แม้ TTIP ไปไม่ได้ไกล แต่อียูยังมีข่าวดีเรื่องการเจรจา FTA กับแคนาดาที่สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยสองฝ่ายได้ปิดการเจรจา The Comprehensive Economic and Trade Agreement (CETA) ไปเมื่อกันยายน 2560 นี้ แคนาดานับเป็นพันธมิตรในค่ายการค้าเสรีกับอียูอย่างเหนียวแน่น

 

FTA กับเอเชีย

     ในขณะที่คู่ค้าใหญ่อย่างสหรัฐฯ ดูจะคิดต่างเรื่องการเปิดการค้าเสรี และ TTIP เหมือนจะไปไม่รอด จึงทำให้ยุโรปคงต้องหันมาให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น

     ล่าสุด เมื่อกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา อียูและญี่ปุ่นได้ตกลงกันในหลักการเกี่ยวกับ EU-JAPAN Free Trade Agreement และคาดว่าจะปิดการเจรจาได้ในเร็วๆ นี้ สำหรับอียูกับจีน ก็มีการเจรจาด้านการลงทุนผ่าน Comprehensive EU-China Investment Agreement ซึ่งเริ่มเจรจาไปตั้งแต่ปี 2556

     ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียที่เจรจา FTA กับอียูสำเร็จไปแล้ว กล่าวคือปิดการเจรจาไปแล้วตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2560 ได้แก่เพื่อนบ้านใกล้ๆ ของเรา อย่าง เวียดนาม ส่วนสิงคโปร์ก็เริ่มการเจรจาไปตั้งแต่ปี 2557 มีความก้าวหน้าไปมาก อีกไม่นานคงสำเร็จ

     สำหรับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ที่ได้เริ่มต้นการเจรจากับอียูแล้ว ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า และมาเลเซีย (สำหรับมาเลเซีย เมื่อมีนาคม 2556 รัฐมนตรีฯ ได้ประกาศว่าจะมีการเปิดการเจรจาอีกครั้งในไม่ช้า) ก็มีแนวโน้มคืบหน้าไปเรื่อยๆ แต่ที่น่าสนใจคือ อียูยังสนใจการเจรจาเขตการค้าเสรีกับอาเซียนในระดับภูมิภาค ซึ่งคาดว่าอาจมีความคืบหน้าในปีหน้า 2561

 

ทบทวน FTA อียู-ไทย

     หันมามองไทย เรื่องการเจรจา FTA กับอียู ที่เคยเปิดการเจรจากันไปแล้วหลายรอบ แต่ต้องหยุดชะงักไป เพราะเหตุผลทางการเมืองของฝ่ายไทย ตั้งแต่ปี 2557 (เพราะไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง) นับว่าเป็นการเสียโอกาสทางการค้าไปมาก

     ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราบอกว่าเราอยู่ในช่วงเวลาแห่งการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่วันนี้ น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะที่ไทยจะต้องพิสูจน์ว่า เราได้เดินหน้าการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การแก้ไขกรอบกฎหมายและกฎระเบียบให้เปิดกว้างมากขึ้น และที่สำคัญ การสร้างความโปร่งใส เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการลดและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ไปแล้วไม่มากก็น้อย (???)

     การรื้อฟื้นและหันมาเดินหน้าการเจรจา FTA ไทยและอียูอย่างเร่งด่วน จะเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมโอกาสการค้าและการลงทุนของไทยในตลาดยุโรป ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราได้ก้าวแซงหน้าเราไปหมดแล้ว

     ไทยเราได้เสียโอกาสแรกในการเข้าตลาดยุโรปไปในหลายภาคธุรกิจอุตสาหกรรมแล้ว หากเรายังไม่ขยับรื้นฟื้นการเจรจา FTA กับอียู ภาคธุรกิจของเราจะเสียโอกาสและขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดสำคัญอย่างยุโรปไปอย่างฟื้นกลับไม่ทัน ผลกระทบของการไม่มี FTA กับอียู ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมี FTA กันไปหมด คงส่อแววให้เห็นในเวลาอีกไม่กี่ปี จึงถึงเวลาต้องเดินหน้าเขตการค้าเสรีกับยุโรป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising