×

เบื้องหลังซองบุหรี่ไทย ใครเลือกภาพ ใครคิดคำ และพัฒนาการของการรณรงค์บนพื้นที่ 6 คูณ 9 เซนติเมตร

31.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS READ
  • พูดคุยกับ ศาสตราจารย์ ดร.สถิรกร พงศ์พานิช จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมงานที่ทำงานการรณรงค์เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ในประเทศไทยตั้งแต่ยุคบุกเบิก ถึงเรื่องที่เราสงสัยมานานหลายปีว่า รูปบนกล่องบุหรี่ที่เราเห็นใครกันเป็นคนเลือกสรร
  • ครั้งแรกที่ประเทศไทยมีการนำภาพมาใช้บนซองบุหรี่ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นประเทศที่ 4 ในโลกที่ใช้คำเตือนบนซองบุหรี่เป็นภาพ ตามหลังประเทศแคนาดา บราซิล และสิงคโปร์

ถ้าเราถามคุณว่า คุณจำภาพที่อยู่บนซองบุหรี่ได้หรือไม่ แล้วคุณจะนึกถึงภาพไหนเป็นภาพแรก? ถึงแม้คุณจะเคยสูบหรือไม่เคยสูบก็ตาม แต่คุณเองอาจจะเคยเห็นภาพทารกตัวดำพร้อมข้อความ ‘ควันบุหรี่ฆ่าเด็กได้’ ภาพปอดหรือสมอง ภาพฟันเหลืองๆ ที่น่าเกลียด หรือภาพที่เราชอบเป็นพิเศษอย่างภาพสองนิ้วคีบบุหรี่ แต่บุหรี่นั้นเหี่ยวงอเหมือนเครื่องเพศชาย พร้อมโปรยสวยๆ ว่า ‘สูบบุหรี่ทำให้เซ็กซ์เสื่อม’ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภาพที่ผู้สูบบุหรี่ต่างเคยเบือนหน้าหนี หรือสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้พบเห็นมาแล้ว แต่คำถามชวนหัวมันอยู่ตรงที่ แล้วใครกันเป็นผู้อยู่เบื้องหลังภาพเหล่านั้น?

 

ในวันนี้ (31 พ.ค.) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เราเองในฐานะผู้สูบบุหรี่เป็นประจำก็เลือกจะงดการเผาไหม้ปอดหนึ่งวันเพื่อร่วมรณรงค์การลด ละ เลิกบุหรี่ และมุ่งหน้าไปหาคำตอบว่า ใครกันที่เป็นคนเลือกภาพเหล่านี้มาไว้บนซอง เพราะนอกจากมันจะส่งผลกระทบทางจิตใจแก่ผู้สูบพอสมควรแล้ว วิธีคิดและพัฒนาการของสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นและเป็นไปอย่างไรในบริบทของสังคมไทย ครั้งนี้ THE STANDARD ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก ศาสตราจารย์ ดร.สถิรกร พงศ์พานิช จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมงานที่ทำงานการรณรงค์เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ในประเทศไทยตั้งแต่ยุคบุกเบิก อาจารย์สถิรกรมานั่งพูดคุยถึงเรื่องที่เราสงสัยมานานหลายปีว่า รูปบนกล่องบุหรี่ที่เราเห็นแล้วร้องยี้นั้น ใครกันเป็นคนเลือกสรร รวมไปถึงมุมมองและเรื่องราวในหน้าประวัติศาสตร์บุหรี่ในประเทศไทยที่น่าสนใจ

 

 

ถ้าจะถามว่าทำไมประเทศไทยของเราถึงต้องมีการติดแปะภาพอันน่ากลัวไว้บนบรรจุภัณฑ์บุหรี่ที่มีขนาดเพียง 6 คูณ 9 เซนติเมตร เหตุผลที่คุณเองก็น่าจะตอบได้นั่นคือ รัฐบาลต้องการให้คุณรู้ถึงผลกระทบต่อร่างกายที่เกิดจากบุหรี่ยังไงล่ะ! ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลยที่หน่วยงานอย่างกระทรวงสาธารณสุข หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะออกมารณรงค์เรื่องราวเหล่านี้กันอยู่อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้เราจะเห็นว่ามันค่อนข้าง ‘น้อยลง’ มากแล้วในปัจจุบัน หรือการรณรงค์รูปแบบนี้นั้นจะทำให้สิงห์นักสูบทั้งหลายเริ่มคุ้นชินกับมันไปแล้ว

 

จุดเริ่มต้นของการเข้ามาร่วมทำงานรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ของอาจารย์สถิรกรเป็นอย่างไร

ผมต้องบอกว่าประเทศไทยของเราโชคดีนะครับที่มีหน่วยงานจากหลายๆ กลุ่มเข้ามาให้ความสำคัญในเรื่องของบุหรี่ เพราะมันส่งผลร้ายต่อสุขภาพอย่างมาก ในช่วงแรกของการรณรงค์นั้นมีบุคคลสำคัญ 2 ท่าน ท่านแรกก็คือ คุณหมอหทัย ชิตานนท์ และ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ พวกเขารณรงค์การหยุดสูบบุหรี่มานานมากเป็น 40 ปีแล้ว ในขณะเดียวกันตัวผมเองดูในฐานะการเป็นนักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ซึ่งก็จะดูในเรื่องภาษีบุหรี่เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็จะถูกดึงไปเป็นที่ปรึกษาในกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ในแวดวงเรื่องรณรงค์การงดสูบบุหรี่นี่แหละครับ

 

 

จากเพียงคำเตือน ค่อยๆ ขยายกลายมาเป็นภาพ

ในตอนแรกเริ่มจากการเขียนคำเตือนเล็กๆ ก่อน หลังจากนั้นตัวคำเตือนก็จะค่อยๆ ใหญ่ขึ้นเป็นข้อเตือนใจเช่น ‘สูบบุหรี่เป็นมะเร็ง’ อะไรทำนองนั้น ซึ่งในระยะหลังๆ ตัวหนังสืออย่างเดียวมันไม่พอแล้ว เพราะมันไม่ส่งผลกระทบเท่าไรต่อผู้สูบ ซึ่งตอนนั้นผมเองก็เพิ่งจบมาใหม่ๆ ก็เริ่มมีการระดมสมองกัน มาดูสิว่าหลายๆ ประเทศเขาทำกันอย่างไรกับการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ โดยในปัจจุบันมีประเทศกว่า 40 ประเทศที่ติดฉลาก มีภาพหรือข้อความเตือนแบบนี้ แต่ประเทศไทยของเราค่อนข้างจะมีพัฒนาการสูง เพราะเรามีหน่วยงานหลายๆ กลุ่มที่ทุ่มเทกับเรื่องนี้มาก เพราะฉะนั้นจึงมีการลองเสนอให้ติดรูปลงไปบนซองดู

 

จริงๆ แล้วมีหลายประเทศที่ใช้รูปภาพเหมือนกัน แต่ของบ้านเราปัจจุบันพัฒนาไปไกลมาก เพราะบ้านเราค่อนข้างมีความเข้มแข็งในการรณรงค์ จากรูปเล็กๆ ค่อยๆ ขยาย จนปัจจุบันจะเต็มซองอยู่แล้ว ครั้งแรกที่เราเลือกรูปกัน เราวิจัยว่ารูปลักษณะไหนที่คนดูแล้วจะรู้สึกกลัว เราเคยเชิญกลุ่มอุตสาหกรรมบุหรี่มาเข้าร่วมด้วย เพราะพวกเขาจะต้องทำงานร่วมกับเรา เอาภาพไปติดบนผลิตภัณฑ์เขา ซึ่งแน่นอนว่าเขาก็จะเลือกภาพที่มีผลกระทบน้อยๆ

 

มีเกณฑ์ในการเลือกรูปหรือไม่

ถ้าถามว่าตอนเลือกรูปเราใช้อะไรวัด พวกเราในทีมใช้ความรู้สึกของเราเป็นหลัก เพราะบางรูปเราดูแล้วรู้สึกกลัว มันน่าจะใช้กับคนอื่นได้ และในทีมเองก็มีคนสูบบุหรี่นะ พวกเขาเองก็ยังตัดสินใจเลิกทีหลัง การสูบบุหรี่มันเป็นเรื่องของจิตใจจริงๆ รูปมันก็ส่วนหนึ่ง กลยุทธ์ก็ส่วนหนึ่ง ท้ายที่สุดมันขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นที่จะหยุดสูบ

 

 

ผลกระทบหรือความคิดเห็นของสังคมหลังจากการรณรงค์ลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นอย่างไร

ช่วงที่ปล่อยล็อตแรก ผลตอบรับกลับมาผู้สูบก็รู้สึกกันเยอะ แบบเฮ้ย เอารูปแบบนี้เลยเหรอ บางทีก็เป็นรูปคนเสียชีวิตแล้ว เหลือแต่เฉพาะมือดำๆ มีรดน้ำศพ รูปผลกระทบที่จะเกิดกับอวัยวะ ปากเอย ปอดเอย แรกๆ คนก็ตกใจ ค่อนข้างจะฮือฮา และมีครั้งหนึ่งที่ผมเห็นชัดมากคือ ผมไปต่อคิวซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ และเห็นเด็กๆ กลุ่มหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “ไม่อยากซื้อเลย ไม่อยากสูบ รูปมันน่ากลัว” เราก็เลยเล็งเห็นว่าไอ้ภาพเหล่านี้มันจะส่งผลไปสู่รุ่นถัดๆ ไปที่จะเติบโตขึ้นมาในสังคม ซึ่งมันก็เป็นประโยชน์ในส่วนนั้น ส่วนคนที่สูบอยู่แล้วมันก็มีผลทางด้านจิตใจเขา จริงๆ เขาก็ยังสูบกันอยู่แหละ มันติดไปแล้ว เพราะฉะนั้นมันก็ต้องการการรณรงค์กระตุ้นอยู่เรื่อยๆ

 

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่ามีผลกระทบเลยคือกลุ่มผู้หญิง เพราะปกติบุหรี่ก็จะเป็นเรื่องของผู้ชาย เป็นเรื่องของชนชั้นสูง หลังจากนั้นก็มีเรื่องของสิทธิสตรีเข้ามา ผู้หญิงก็สูบบ้าง แต่พอมีรูปพวกนี้ออกไปมันก็กระทบ เขาจะรู้สึกมากกว่าผู้ชาย เพราะฉะนั้นรูปเดิมๆ ที่เราเซตไว้ตอนแรกมันก็จะเริ่มเกิดความเคยชินในหมู่คนสูบ แต่ตอนนี้ผมไม่แน่ใจว่าเขาเปลี่ยนไปเยอะหรือยัง ซึ่งเมื่อก่อนประมาณ 6 เดือน ภาพเหล่านั้นจะถูกเปลี่ยนครั้งหนึ่ง แต่ละรอบก็จะมีรูปใหม่ๆ เข้ามา ทำให้พฤติกรรมความเคยชินเปลี่ยนไป ยิ่งมีผลกระทบ ซึ่งเป็นเทคนิคอันหนึ่งที่เราเอามาใส่

 

ดูเหมือนว่าการรณรงค์ด้วยภาพเช่นนี้จะมุ่งเน้นก่อให้เกิดความกลัวให้กลุ่มคนสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวที่ภาครัฐตั้งใจให้เป็นหรือไม่

ใช่ครับ เราตั้งใจมุ่งเน้นความกลัว ยิ่งใหญ่ ยิ่งชัด ยิ่งดี มันเพิ่มความรู้เห็น (Awareness) ให้มากขึ้น จากกินพื้นที่ 30 เปอร์เซ็นต์ในยุคแรก เลยเถิดมาเป็น 85 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน คือต้องย้อนไปในวันที่คนยังไม่ได้เห็นความน่ากลัวของโรคที่ตามมาจากการสูบบุหรี่ ถึงแม้จะมีความเจ็บป่วยตาย แต่ก็ไม่ได้มีการทำวิจัยใดๆ แสดงออกมาให้เห็นชัดเจน จนตอนหลังมีการรณรงค์ มีการศึกษาวิจัยสนับสนุน เรารู้จักโรคถุงลมโป่งพอง มะเร็ง หัวใจ แต่ที่สำคัญที่สุดคือตัวผู้สูบเองอาจจะไม่เป็นไร แต่คนรอบข้างเองก็เป็นผลกระทบรองที่สำคัญเช่นกัน เพราะฉะนั้นเราจึงสร้างภาพความน่ากลัวให้บุหรี่ไว้เพื่อป้องกันหรือให้ตระหนักถึงผลที่ตามมามากกว่า

 

สิ่งที่อาจารย์สถิรกรอยากฝากถึงคนที่อยากจะเลิกบุหรี่

ที่สำคัญคือคุณต้องคิดถึงตัวเองเลย อย่างเดียวเลยเท่านั้น มองว่าตัวเองยังมีอนาคตที่ยังก้าวไกลไปอีก เพราะฉะนั้นถ้าตัวเองสุขภาพดี ก็จะทำอะไรต่างๆ ได้ดี ผมจะบอกว่าไม่ต้องคิดถึงคนอื่นหรอก การที่จะเลิกบุหรี่ คิดถึงตัวเองก็พอ ประหยัดสตางค์ด้วย แค่นั้นเอง

 

 

พัฒนาการการรณรงค์บนซองบุหรี่ในประเทศไทย

  • พ.ศ. 2517 – มีการพิมพ์คำเตือนบนซองบุหรี่ครั้งแรก โดยใช้ข้อความว่า ‘การสูบบุหรี่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ’ พิมพ์อยู่ที่บริเวณด้านข้างของซอง โดยมิได้กำหนดขนาดหรือสีของตัวอักษร
  • พ.ศ. 2525 – ปรับข้อความเป็น ‘การสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ’
  • พ.ศ. 2532 – กำหนดให้ฉลากคำเตือนอยู่บริเวณหน้าซอง และขนาดตัวอักษรที่พิมพ์ต้องไม่เล็กกว่า 2 คูณ 2 มิลลิเมตร แต่มิได้กำหนดสี ผู้ผลิตบุหรี่จึงใช้สีที่กลมกลืนกับซอง ทำให้คำเตือนไม่สะดุดตาและเห็นไม่ชัด
  • พ.ศ. 2535 – กำหนดให้ฉลากคำเตือนมีขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ซองทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ใช้ตัวอักษรสี่พระยา ขนาด 16 พอยต์ เป็นตัวอักษรสีดำบนพื้นฉลากสีขาวล้อมกรอบสีดำ หรือใช้ตัวอักษสีขาวบนพื้นสีดำ และอยู่ด้านล่างของซอง
  • พ.ศ. 2540-2547 – กำหนดให้ฉลากคำเตือนมีขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 33.3 ของพื้นที่ซองทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ใช้ตัวอักษรสี่พระยาสีขาวขนาด 20 พอยต์ บนพื้นสีดำและมีกรอบล้อมรอบสีขาว และให้อยู่ด้านบนสุดของซองบุหรี่
  • พ.ศ. 2548 – กำหนดให้ฉลากคำเตือนเป็นรูปภาพ 4 สี ประกอบข้อความคำเตือนถึงพิษภัยบุหรี่ 6 แบบคละกันไป ขนาดของฉลากคำเตือนต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ซอง และประเทศไทยเองก็เป็นประเทศที่ 4 ในโลกที่ใช้คำเตือนบนซองบุหรี่เป็นภาพ ตามหลังประเทศแคนาดา บราซิล และสิงคโปร์
  • พ.ศ. 2557 – กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ต้องพิมพ์ภาพคำเตือนพิษภัยบุหรี่เพิ่มเติมเป็นร้อยละ 85 บนพื้นที่ซองบุหรี่

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X