บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ คาดหุ้นไทยอยู่ช่วงท้ายของขาลง ประเมินที่ระดับดัชนี 1,300 จุด เริ่มมี Downside จำกัด มองเป็นโอกาสทยอยซื้อสะสม แนะนำให้ซื้อถือ 1 ปี พร้อมแนะนำกลยุทธ์ 3 ธีมลงทุน
เอกภาวิน สุนทราภิชาติ นักกลยุทธ์อาวุโสตลาดหุ้นและตลาดอนุพันธ์ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ (InnovestX) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่าเริ่มมีปัจจัยลบภายในประเทศเข้ามากดดันตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น หลังจากกระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการส่งออกของไทยประจำเดือนมีนาคม 2567 ออกมาหดตัวค่อนข้างหนัก 10.9% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่สูงของปี 2566 แต่หากดูรายละเอียดการหดตัวของกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าของไทยมีการส่งออกที่ลดลงในทุกประเทศ เช่น จีน รวมทั้งในตลาดภูมิภาคอาเซียน ส่งผลกดดันให้ภาพรวมการส่งออกไตรมาส 1/67 ของไทยออกมาติดลบด้วย
อย่างไรก็ดี ประมาณการการส่งออกของไทยทั้งปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับ 1-2% อีกทั้งยังมีความเสี่ยงในการปรับลดเป้าหมาย GDP ในปี 2567 ลง จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวในระดับใกล้เคียง 3% ปรับลดลงมาเหลือ 2.5% ถือเป็นอีกปัจจัยที่กดดันการลงทุนในตลาดหุ้นไทย
จับตา Fed คงดอกเบี้ยยาวกว่าคาด
ด้านปัจจัยต่างประเทศคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในช่วงที่เหลือของปี 2567 จะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพียงจำนวน 1 ครั้งในช่วงปลายปีนี้ จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะมีการปรับลดจำนวน 2 ครั้ง หรือมีโอกาสที่จะไม่เห็นการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed ภายในปีนี้ อีกทั้งยังต้องติดตามปัจจัยทางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีการสู้รบเกิดขึ้นเป็นระยะ ถือเป็นปัจจัยที่กดดันภาวะตลาดได้หากสถานการณ์กลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง
เอกภาวินประเมินต่อว่า ประชุมของ Fed ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 1 พฤษภาคม อาจจะยังไม่มีการส่งสัญญาณในการปรับลดดอกเบี้ยลงเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังบ่งชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังอยู่ในทิศทางที่ดีอยู่ ซึ่งอาจส่งสัญญาณการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไป ขณะที่ Bond Yield ของสหรัฐฯ อายุ 2 ปี และ 10 ปี ที่ปรับขึ้นมาใกล้เคียงระดับ 5% มีโอกาสปรับขึ้นทะลุ 5%
ขณะที่ปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทยจะมี Sentiment ปัจจัยในประเทศจากประเด็น Digital Wallet ที่เริ่มมีรายละเอียดออกมาแล้วว่าจะมีเงินออกมาใช้จ่ายช่วงไตรมาส 4/67 รวมถึง Sentiment ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เคลื่อนไหวด้านบวกหลังจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) รายงานกำไรไตรมาส 1/67 มีแนวโน้มออกมาดี
หุ้นไทยส่อร่วงหลุด 1,355 จุด
ด้วยปัจจัยลบข้างต้นที่กล่าวมา ประเมินว่าภาพการปรับตัวของตลาดหุ้นไทยยังสามารถปรับขึ้นผ่านระดับ 1,400 จุดได้ค่อนข้างยาก โดยประเมินแนวต้านของ SET Index ระยะสั้นไว้ที่ระดับ 1,370-1,380 จุด อีกทั้งคาดว่ากดดันตลาดหุ้นไทยให้ยังมี Downside โดยประเมินแนวรับระยะสั้นไว้ที่ 1,355 จุด และมีความเสี่ยงที่ดัชนีอาจปรับตัวลดลงต่อไปจนหลุดระดับแนวรับดังกล่าวลงที่ระดับต่ำกว่าเดิมได้ด้วย
ประกอบกับ GDP ของไทยยังเติบโตในระดับต่ำ ทำให้ภาพรวมการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในช่วงไตรมาส 1/67 ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำตามไปด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี หากแยกการเติบโตเป็นรายกลุ่ม หุ้นที่ยังมีการเติบโตดี เช่น กลุ่มค้าปลีกในด้านของยอดขายไตรมาส 1/67 ที่ยังมีการเติบโตที่ดีอยู่ เช่น บมจ.ซีพี ออลล์ หรือ CPALL และ บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า หรือ CPAXT ที่อยู่ในช่วงของไฮซีซันและการเติบโตที่โดดเด่นสุด
รวมทั้งหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวที่ยังมีการเติบโตที่โดดเด่นเช่นกัน ได้แก่ บมจ. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป หรือ ERW และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT ซึ่งมีปัจจัยหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่องตามเป้า โดยในไตรมาส 1/67 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาไทยแล้วประมาณ 3 ล้านคน และทั้งปี 2567 ประเมินว่ามีโอกาสที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยจะมีถึงระดับ 34-35 ล้านคน
นอกจากนี้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยผ่านท่าอากาศยานของ AOT เปรียบเทียบปัจจุบันที่มีข้อมูลตัวเลขกลับมาใกล้เคียงระดับ 100% แล้ว เมื่อเทียบกับระดับช่วงก่อนเกิดโควิดระบาด อีกทั้งยังมีหุ้น บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT ซึ่งไตรมาส 1/67 ได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่ฤดูร้อนของยุโรป ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจ
อย่างไรก็ดี ยังมีหุ้นกลุ่มต้องเตือนให้ระมัดระวังการลงทุนคือหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีความเสี่ยงในการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX Loss) จากผลกระทบของค่าเงินบาทที่อ่อนค่า กดดันผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1/67 ที่ผ่านมา
แนะกลยุทธ์ 3 ธีมลงทุนรับมือความผันผวน
เนื่องจากปัจจุบันเป็นช่วงท้ายของขาลงของตลาดหุ้นไทย และขณะนี้อยู่ระหว่างการหาจุดเปลี่ยน จึงประเมินว่าที่ระดับดัชนี 1,300 จุด เริ่มมี Downside ที่จำกัดลง ซึ่งเป็นโอกาสเข้าทยอยซื้อสะสม โดยแนะนำให้ซื้อถือ 1 ปี ส่วนการซื้อขายเก็งกำไรยังทำได้ค่อนข้างลำบาก จึงแนะนำให้มีการ Trading ระยะสั้นโดยมีธีมการลงทุนแนะนำใน 3 ธีมหลัก
ธีมแรกคือเก็งกำไรหุ้นผลประกอบการไตรมาส 1/67 ที่จะออกมาเติบโตดี ได้แก่ บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ หรือ HMPRO, บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE, บมจ.จีเอฟพีที หรือ GFPT และ บมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP
ธีมที่สองคือหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ควรมีไว้ในพอร์ตเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาด คือหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล ได้แก่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS, บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล หรือ BCH หุ้นกลุ่มค้าปลีก ได้แก่ CPALL, CPAXT หุ้นกลุ่มปันผลดีคือ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) หรือ AP
ธีมที่สามคือหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์หากสถานการณ์ในตะวันออกกลางกลับมาปะทุหรือมีความตึงเครียดอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP และ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP