บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ประเมินมีหลายปัจจัยกดดันการลงทุนทำตลาดหุ้นผันผวนต่อเนื่อง ปัจจัยการเมืองในประเทศเริ่มเห็นปมขัดแย้งภายในพรรคร่วมว่าที่รัฐบาล ฉุด Fund Flow ไหลออกหุ้นไทย ส่วนดอกเบี้ยสหรัฐฯ ไม่ชัดเจน จับตาปัญหา Debt Ceiling แนะลงทุนหุ้น Defensive สหรัฐฯ
สุทธิชัย คุ้มวรชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ (InnovestX) เปิดเผยผ่านรายการ Morning Wealth ว่าแนวโน้มการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้านี้ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะมีตั้งนายกรัฐมนตรี จะมียังมีความผันผวนต่อเนื่อง โดยมีสมมติฐานว่าพรรคก้าวไกลจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ 7 พรรคร่วม โดยขณะนี้เริ่มเห็นปัญหาความขัดแย้งภายในกันบ้างระหว่างพรรคร่วมที่จะจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามความคืบหน้ากันต่อไป
ส่วนกรณีการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ระหว่างพรรคร่วม รายละเอียดที่ออกมาหลักๆ เป็นไปตามที่คาดไว้ โดยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจมี 4 ประเด็นหลักที่หลายพรรคมีนโยบายคล้ายกันคือ การเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน, การปรับขึ้นค่าแรง, การปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน และสนับสนุนพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยว, ค้าปลีก, ธนาคารพาณิชย์ และพลังงานสะอาด
ขณะที่หุ้นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระมัดระวังที่คาดว่าอาจจะเสียประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวคือ หุ้นกลุ่มพลังงาน, โรงไฟฟ้า อีกทั้งยังมีกลุ่มที่มีการใช้แรงงานในสัดส่วนที่สูง เช่น กลุ่มรับเหมาก่อสร้างกับวัสดุก่อสร้าง รวมถึงกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับกัญชาซึ่งอาจถูกนำกลับเข้าสู่บัญชีรายชื่อยาเสพติดให้โทษ และกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนผสมของกัญชาด้วย ดังนั้นจึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นดังกล่าวทั้งหมดไปก่อนเพราะมีความเสี่ยงถูกผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะออกมาในอนาคต
อีกทั้งยังเห็นภาพกระแสเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ยังคงไหลออกจากตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะให้ระมัดระวังแรงขายในหุ้นขนาดใหญ่ออกมา ซึ่งสะท้อนถึงภาพความไม่มั่นใจและเพื่อชะลอดูความชัดเจนปัจจัยการเมืองของไทย
นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญต่างประเทศที่ยังต้องติดตามคือ ทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารสหรัฐฯ (Fed) ที่ยังมีภาพไม่ชัดเจน ขณะที่เริ่มเห็นการชะลอตัวบางส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อีกทั้งในช่วงระหว่างการเจรจาปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling) ของสหรัฐฯ โดยทั้งสองประเด็นดังกล่าวคาดว่าจะยังเป็นปัจจัยกดดันที่นักลงทุนเฝ้าติดตาม สร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นสหรัฐฯ และจะยังกดดันภาพการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกต่อไป
ดังนั้น การลงทุนแนะนำในช่วง 2 เดือนข้างหน้านี้ ให้ Selective ในหุ้นกลุ่ม Defensive รวมถึงระมัดระวังการลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา โดยให้รอจังหวะราคาย่อตัวเป็นโอกาสในการทยอยเข้าสะสมได้
“การกระจายการลงทุนออกไปในต่างประเทศอาจเป็นช่วงที่เหมาะสมในเวลานี้ แต่อาจยังต้องระมัดระวังการลงทุนด้วยเช่นกัน”
ขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันของโลกยังถูกกดดันจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ราคาน้ำมันเบรนต์ปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่เริ่มเห็นดีมานด์การใช้ที่ฟื้นตัวดีขึ้นจากจีน ขณะที่ยังต้องติดตามความคืบหน้าในการแก้ปัญหา Debt Ceiling ของสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ หากสามารถบรรลุข้อตกลงได้มีโอกาสที่จะเห็นการเคลื่อนไหวราคาน้ำมันมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นในกรอบระหว่าง 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
สำหรับประเทศเวียดนามล่าสุดเพิ่งประกาศปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงส่งผลให้ต้นทุนในการลงทุนลดลงเป็นภาพบวกต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของเวียดนาม อีกทั้งได้ประกาศแผนการผลิตไฟฟ้าของเวียดนาม (PDP8) ออกมาซึ่งมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งตั้งเป้าหมายในปี 2030 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมจะเติบโตขึ้นมากกว่า 2 เท่า เป็นประมาณ 1.5 แสนเมกะวัตต์ จากปี 2020 ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 7 หมื่นเมกะวัตต์ โดยจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1.35 แสนล้านดอลลาร์ สะท้อนภาพการเติบโตของเศรษฐกิจที่รัฐบาลเวียดนามที่คาดว่า GDP จะเติบโตเฉลี่ยไว้จากปัจจุบันถึงปี 2030 จะขยายตัว 7% ต่อปี ส่งผลให้จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดี แผนการใช้พลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของเวียดนามจะมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิมด้วยเพราะจะเริ่มนำ LNG มาใช้จะมีสัดส่วนในปี 2030 อยู่ที่ประมาณ 15% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมดซึ่งแผนผลิตไฟฟ้าเดิมยังไม่เคยมีมาก่อน รวมถึงมีแผนในการเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานลมจากเดิมอยู่ที่ประมาณ 1-2% เป็นประมาณ 20% ของแผนผลิตไฟฟ้าใหม่
ขณะที่จะมีการลดสัดส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินลงจากปี 2020 ที่เคยมีสัดส่วน 31% ลดลงเหลือ 20% สอดคล้องกับแผนของรัฐบาลเวียดนามที่มีนโยบายเน้นการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น และลดสัดส่วนพลังงานโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ลงจากแผนเดิมที่มีสัดส่วน 24% เหลือ 8%