×

Ingvar Kamprad เด็กชายขายไม้ขีดไฟที่กลายเป็นผู้ก่อตั้ง IKEA ตอนอายุ 17

29.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • อิงวาร์ คัมพราด (Ingvar Kamprad) นักธุรกิจชาวสวีเดนวัย 91 ปี ผู้ก่อตั้งแบรนด์ IKEA และธนาคาร Ikano เสียชีวิตลงด้วยสาเหตุของอาการป่วยที่บ้านพักในสมอลันด์ (Småland) เมื่อวันเสาร์ที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา
  • เริ่มต้นเป็นพ่อค้าตอนอายุ 5 ขวบโดยการขายไม้ขีดไฟ และนำเงินทุนที่ได้จากการขายของและเงินสนับสนุนจากคุณพ่อมาเปิดกิจการขายของทางไปรษณีย์ชื่อ ‘IKEA’ เมื่ออายุครบ 17 ปี
  • เป็นผู้เริ่มแนวคิดทำบรรจุภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ให้อยู่ในกล่องกระดานแบนๆ เพื่อความสะดวกต่อการขนย้าย ที่สำคัญเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นจะต้องต่อประกอบได้ง่ายๆ โดยต่อมาดีเอ็นเอ 2 ข้อนี้ของ IKEA ได้สร้างปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมของแต่งบ้านทั่วโลก
  • แม้จะมีทรัพย์สินส่วนตัวมากกว่า 58,700 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็ขึ้นชื่อในเรื่องความประหยัดและการใช้ชีวิตที่แสนเรียบง่าย เพราะนิยมขับรถเก่าๆ ใช้บริการสายการบินชั้นประหยัด พักในโรงแรมราคาถูก

เมื่อวานนี้ (28 ม.ค.) IKEA ปล่อยแถลงการณ์บนหน้าเว็บไซต์เพื่อแจ้งให้สาธารณชนทราบถึงข่าวการจากไปอย่างสงบของอิงวาร์ คัมพราด (Ingvar Kamprad) นักธุรกิจชาวสวีเดนวัย 91 ปี ผู้ก่อตั้งแบรนด์ IKEA และธนาคาร Ikano ที่เสียชีวิตลงด้วยสาเหตุของอาการป่วยที่บ้านพักในสมอลันด์ (Småland) เมื่อวันเสาร์ที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา

 

ว่ากันตามตรง เมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว (2011) คนไทยหลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้จักแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ของแต่งบ้านจากสวีเดนรายนี้เลยด้วยซ้ำ บ้างก็ยังสับสนการออกเสียงเรียกชื่อแบรนด์ที่ไม่คุ้นเคย

 

กระทั่งการเปิดตัวของ IKEA สาขาแรกในไทยที่บางนา (เมกาบางนา) บนพื้นที่ขนาด 43,000 ตร.ม. ในปีดังกล่าว ชื่อเสียงของพวกเขาก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยประสบการณ์การเลือกซื้อของแต่งบ้านที่แปลกใหม่ รูปแบบการจัดวางสินค้าและห้องตัวอย่างที่น่าดึงดูด เฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตขึ้นมาโดยคำนึงถึงการขนย้ายและต้องประกอบง่ายเป็นสำคัญ รวมถึงมีตบอลที่หลายคนตกหลุมรัก IKEA จึงครองใจใครหลายคนได้ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน เรียกได้ว่าถึงวันอาทิตย์เมื่อไร หลายๆ บ้านก็พร้อมจะออกไปเดินเล่น IKEA กันแล้ว!

 

 

แต่ก่อนที่ IKEA จะเป็นที่รู้จักทั่วโลกได้ขนาดนี้ อิงวาร์ คัมพราด ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งยังต้องอุทิศเวลาชีวิตมากกว่า 74 ปีเพื่อปลุกปั้นแบรนด์ของแต่งบ้านแบรนด์หนึ่งให้ถูกใจคนทุกเพศทุกวัย (เกษียณจากการทำงานในปี 1988 หลีกทางให้ลูกชายทั้ง 3 คนขึ้นมาบริหารงานแทน แต่ตนยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอาวุโส และหมั่นเข้ามาแบ่งปันความรู้และแรงบันดาลใจให้พนักงานเสมอ)

 

THE STANDARD ชวนคุณมาศึกษาเรื่องราวของเขาในมุมนักธุรกิจมากความสามารถที่ผันตัวจากเด็กขายไม้ขีดไฟมาสู่เจ้าของกิจการแบรนด์ขายเฟอร์นิเจอร์ทางไปรษณีย์ตอนอายุ 17 ปี และกลยุทธ์เนรมิตมันให้กลายเป็นเชนสโตร์สินค้าแต่งบ้านสุดยิ่งใหญ่ มี 400 กว่าสาขาใน 49 ประเทศทั่วโลก

 

 

เปลี่ยนไม้ขีดไฟเป็นไม้ต่อโต๊ะอาหาร

อิงวาร์ คัมพราด เกิดและลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 1926 เขาอาศัยอยู่ในฟาร์มเล็กๆ ที่เอลทราด (Elmtaryd) ใกล้ๆ กับหมู่บ้านอากันยาร์ด (Agunnaryd) สมอลันด์ เมืองทางตอนใต้ของประเทศสวีเดน ภายใต้การเลี้ยงดูของคุณแม่ชาวสวีเดน และคุณพ่อที่อพยพถิ่นฐานมาจากเยอรมนีพร้อมครอบครัวตั้งแต่เล็กๆ

 

ด้วยฐานะทางบ้านที่ไม่สู้ดีนัก ตอนอายุได้แค่ 5 ขวบ (บางที่รายงานว่า 6  ขวบ) คัมพราดจึงเริ่มหารายได้พิเศษด้วยการขายไม้ขีดไฟให้กับเพื่อนบ้าน เมื่ออายุ 7 ขวบก็เริ่มขยายกิจการอีกครั้งด้วยการขี่จักรยานตระเวนขายของไปเรื่อยๆ พร้อมลงทุนเดินทางไกล 500 กิโลเมตร ไปซื้อไม้ขีดไฟราคาขายส่งที่กรุงสตอกโฮล์ม เมืองหลวงประเทศสวีเดนมาขายต่อเพื่อนๆ เนื่องจากทำกำไรได้มากกว่า

 

กระทั่งอายุครบ 10 ปี เขาเห็นความเป็นไปได้ของการยึดอาชีพพ่อค้าหาเลี้ยงปากท้อง และเริ่มเปลี่ยนจากการขายสินค้าจำพวกไม้ขีดไฟให้หลากหลายมากขึ้น เช่น ของตกแต่งต้นคริสต์มาส ดินสอ ปากกาลูกลื่น เมล็ดพันธุ์พืช ไปจนถึงของสดเช่นปลา!

 

แม้ต้องเผชิญความบกพร่องด้านการอ่านและเขียนด้วยสาเหตุของการเป็นโรคดิสเล็กเซีย (Dyslexia) แต่คัมพราดก็ไม่เคยทำให้ที่บ้านต้องกลุ้มใจกับผลการเรียน เมื่ออายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ คุณพ่อของเขาให้เงินขวัญถุงเป็นจำนวนเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นรางวัลตอบแทนผลของการตั้งใจเรียน

 

เขาใช้เงินจำนวนนี้ผสมกับกำไรที่ได้จากการขายไม้ขีดไฟและของจิปาถะมาเป็นทุนเริ่มต้นเปิดร้านขายสินค้าทางไปรษณีย์จำพวกปากกา กระเป๋าสตางค์ กรอบรูป นาฬิกา เครื่องประดับ และถุงน่องในชื่อ ‘IKEA’ เมื่อปี 1943 (ตั้งตามตัวอักษรนำชื่อ-สกุลของเขา Ingvar Kamprad ฟาร์มบ้านเกิด Elmtaryd และหมู่บ้านละแวกใกล้เคียง Agunnaryd) และใช้รถขนนมเป็นยานพาหนะกระจายสินค้า

 

ปี 1948 คัมพราดเริ่มขยายหมวดหมู่สินค้าที่วางจำหน่ายอีกครั้ง โดยว่าจ้างโรงงานท้องถิ่นให้ผลิตโต๊ะทานอาหารที่ถอดแบบมาจากโต๊ะทานอาหารของคุณลุง และผลตอบรับจากผู้บริโภคก็ดีเกินคาด ทำให้เขาเริ่มเห็นเค้าลางกิจการการขายสินค้าแต่งบ้านอย่างจริงจัง ก่อนเปลี่ยน IKEA เป็นร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์อย่างเต็มรูปแบบในเวลาถัดมา และขยายอาณาจักรอย่างย่ิงใหญ่มาโดยตลอดจวบจนถึงปัจจุบัน

 

 

ปฏิวัติอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ด้วยแพ็กเกจจิ้งแบบ ‘กล่องแบน’ สร้างแบรนด์เลิฟด้วยฟังก์ชัน ‘ต่อประกอบด้วยตัวเอง’

จุดเด่น 2 ประการที่เราเห็นได้จากดีเอ็นเอการออกแบบผลิตภัณฑ์ของ IKEA คือกล่องบรรจุเฟอร์นิเจอร์แบบแบนที่ทำให้สะดวกต่อการขนย้ายมากที่สุด และการที่เฟอร์นิเจอร์เกือบทุกชิ้นถูกผลิตขึ้นมาเพื่อให้ลูกค้าต่อประกอบได้ด้วยตัวเองได้ง่ายที่สุด แม้จะมีคู่มือมาให้อยู่แล้วก็ตาม

 

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? แล้ว Key Success 2 ข้อนี้ส่งผลต่อแบรนด์ IKEA อย่างไร?

 

ที่มาของบรรจุภัณฑ์กล่องแบนของ IKEA เริ่มต้นจากเหตุการณ์ที่คัมพราดเห็นพนักงานของตนต้องช่วยกันถอดขาโต๊ะรุ่น LÖVET ที่ลูกค้าซื้อไปเพื่อให้นำสินค้าบรรทุกในรถได้เมื่อปี 1956 โดยคัมพราดมองว่าการใช้กล่องแบนจะช่วยให้ผู้ซื้อไม่ต้องพบกับปัญหาความวุ่นวายดังกล่าว ที่สำคัญบริษัทก็ยังได้ประโยชน์จากต้นทุนค่าจัดส่งสินค้าที่ลดลงไปด้วย เพราะบรรทุกสินค้าบนรถส่งของในจำนวนที่มากกว่าเดิมแบบสบายๆ

 

นอกจากนี้อีกเหตุผลหนึ่งก็มาจากการที่โรงงานท้องถิ่นหลายแห่งบอยคอตต์ประท้วงไม่ยอมผลิตสินค้าให้ IKEA เนื่องจากถูกกดราคา (ข้อมูลบางแห่งระบุว่าถูกคู่แข่งกลั่นแกล้งผ่านการร่วมมือกับโรงงาน) นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ IKEA หันมาออกแบบสินค้าด้วยตัวเอง และทำให้ปัจจุบันทุกครอบครัวสามารถนำเฟอร์นิเจอร์ที่พวกเขาซื้อบรรทุกลงในรถตระกูล Eco Car และ City Car ได้สบายๆ

 

ส่วนการผลิตสินค้าทุกชนิดก็ให้ความสำคัญกับความเรียบง่ายและมีคุณค่า สินค้าทุกตัวจะต้องต่อประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปได้ด้วยตัวผู้ซื้อโดยวิธีง่ายๆ ผ่านคู่มืออธิบายแบบละเอียดพร้อมอะไหล่และชิ้นส่วนสำรองที่แถมมาให้

 

จากการเปิดเผยผลวิจัยในหัวข้อ The IKEA Effect โดย Harvard Business School พบว่าการที่ IKEA เน้นให้ลูกค้าประกอบเฟอร์นิเจอร์ได้ด้วยตัวเองจะส่งผลทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ และรักสินค้าชิ้นนั้นๆ รวมถึงแบรนด์ IKEA มากกว่าสินค้าสำเร็จรูปที่ถูกต่อประกอบมาจากโรงงาน

 

เจฟฟ์ แบงค์ส นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์เคยให้สัมภาษณ์กับ BBC ไว้ว่า ทุกสิ่งที่คัมพราดทำได้เปลี่ยนแปลงวิธีการออกแบบสินค้าและของตกแต่งบ้านไปโดยสิ้นเชิง “ผู้คนส่วนใหญ่พยายามจะผลิตมันขึ้นมาใหม่ (สินค้าสไตล์ IKEA) และพยายามจะลอกเลียนแบบ แต่สุดท้ายมันก็ไม่สำเร็จ คัมพราดอยู่เหนือคนอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด”

 

 

‘IKEA Restaurant’ ใครว่ามีตบอลวางขายในร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ไม่ได้?

ภายหลังจากเปิด IKEA สาขาแรกในเมืองเอล์มฮุลท์ (Älmhult) ประเทศสวีเดนเมื่อปี 1958 คัมพราดในวัย 32 ปีก็เริ่มจับทางธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของตัวเองอยู่หมัด และเริ่มขยายขนาดองค์กรอีกครั้งผ่านการประกาศรับสมัครพนักงานเพิ่มอีกกว่า 100 คน

 

กระทั่งปีสองปีให้หลัง นักธุรกิจหนุ่มจากสวีเดนก็เกิดปิ๊งไอเดียประกาศเปิดร้านอาหาร IKEA Restaurant โดยตั้งอยู่ในร้านสาขาแรก มีเมนูยอดนิยมอย่าง ‘มีตบอล’ พร้อมเสิร์ฟให้บริการ (เนื้อปั้นก้อนกลม อาหารขึ้นชื่อของสวีเดน)

 

 

แนวคิดการทำร้านอาหารในร้านขายเฟอร์นิเจอร์ของคัมพราดเกิดจากความเชื่อที่มองว่าเมื่อลูกค้าอิ่มท้อง ใช้เวลาภายในสโตร์ได้มากเท่าไร พวกเขาก็จะมีอัตราใช้จ่ายเงินในกระเป๋าสตางค์ได้มากเท่านั้น แล้วร้านขายเฟอร์นิเจอร์ก็ไม่ได้เป็นปลายทางของการจับจ่ายใช้สอยที่ผู้บริโภคจะเดินทางมาได้ทุกวันเหมือนๆ กับร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายของชำ ฉะนั้นการตั้งร้านอาหารขึ้นมาจะเป็นตัวช่วยดึงดูดลูกค้าให้ใช้เวลาอยู่ในสโตร์ได้นานที่สุด

 

ปี 2017 ที่ผ่านมา IKEA ทำรายได้จากการขายอาหารไปมากกว่า 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยประโยชน์อีกทางของการมีร้านอาหารคือสามารถแปลงพื้นที่ว่างเป็นโชว์รูมโปรโมตสินค้าของร้าน IKEA ไปในตัว ชนิดที่ผู้บริโภคได้ทดลองสินค้าด้วยตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่เก้าอี้ โต๊ะทานอาหาร ยันแก้วน้ำ ฯลฯ

 

ถ้าสังเกตให้ดีในช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจตั้งแต่สมัยเด็กๆ ก็จะพบว่าคัมพราดไม่เคยปล่อยโอกาสให้หลุดลอยจากมือแม้สักครั้งเดียว เขาลงทุนเดินทางไกลกว่า 500 กิโลเมตรเพื่อให้ได้กำไรเข้ากระเป๋ามากกว่าเดิม เป็นผู้เชี่ยวชาญในการแปลงไอเดียให้เป็นสินทรัพย์ และก็ยังโปรดปรานการทำรายได้มากกว่าหนึ่งช่องทางมาโดยตลอด

 

ใช้จ่ายเงินที่หามาด้วยความประหยัด

ข้อมูลล่าสุดระบุว่าปัจจุบัน IKEA มีสาขามากกว่า 400 แห่งทั่วโลกในกว่า 49 ประเทศ โดยการเปิดเผยผลประกอบการล่าสุดในปี 2017 พบว่าบริษัทสามารถทำรายได้รวมตลอดทั้งปีได้มากถึง 45,039 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.41 ล้านล้านบาท (ยังไม่หักเงินขาดทุนและค่าดำเนินการอื่นๆ)

 

ขณะที่เว็บไซต์ Forbes ได้ยกให้ IKEA เป็นแบรนด์ที่มีมูลค่ามากที่สุดของโลกในลำดับที่ 41 ที่ 14,500 ล้านเหรียญสหรัฐ โตขึ้นจากปีก่อนกว่า 14% ส่วนข้อมูลจากการเปิดเผยของ Bloomberg พบว่าคัมพราดมีทรัพย์สินส่วนตัวมากกว่า 58,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.84 ล้านล้านบาท มากกว่า แจ็ค หม่า นักธุรกิจจากจีน ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารธุรกิจอีคอมเมิร์ซ Alibaba ที่รั้งอยู่ในอันดับ 13 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 50,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลล่าสุดนับจนถึงวันที่ 29 ม.ค.)

 

แต่เชื่อหรือไม่? แม้จะหาเงินได้เป็นกอบเป็นกำขนาดนี้ แต่ไลฟ์สไตล์ของเจ้าตัวกลับเรียบง่าย ประหยัดติดดินเสียจนน่าตกใจ

 

คัมพราดมีเคล็ดลับใช้จ่ายเงินอย่างประหยัดด้วยการเดินทางในเที่ยวบินไฟลต์ประหยัดของสายการบินราคาถูก พักอาศัยในโรงแรมธรรมดาๆ นิยมขับรถวอลโว่ 240 คันเดิมเป็นเวลานาน (ก่อนตัดสินใจเปลี่ยน เนื่องจากสภาพรถที่ทรุดโทรม) เลือกอาศัยอยู่ย่านสมอลันด์ในช่วงบั้นปลาย และนิยมการทานอาหารราคาพอรับไหวที่ร้านอาหาร IKEA

 

เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ TV4 ช่องโทรทัศน์ในสวีเดนเมื่อปี 2016 ไว้ว่า “ธรรมชาติของความเป็นสมอลันด์คือความเป็นอยู่อย่างประหยัด ถ้าคุณมองที่ผมตอนนี้ ผมคิดว่าไม่มีเครื่องแต่งกายชิ้นใดที่ไม่ได้ซื้อมาจากตลาดนัดเลยนะ (Flea Market)

 

“เรามีความเป็นสมอลันด์ข้นคลั่กอยู่ในสายเลือด และพวกเราก็รู้ค่าของเงินโครนาทุกเออเร (Krona: สกุลเงินสวีเดน) แม้ว่ามันจะไม่ได้มากพอที่จะใช้ซื้อลูกอมหรือเดินทางไปโรงเรียนประถมก็ตาม”


มีเรื่องตลกที่เล่าว่าครั้งหนึ่งคัมพราดยังเคยเกือบถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมงานกาล่ารับรางวัลนักธุรกิจแห่งปีมาแล้ว (ไม่เปิดเผยชื่องาน) เพียงเพราะสตาฟฟ์ผู้ดูแลงานเห็นเจ้าตัวเดินลงมาจากรถโดยสารประจำทางจึงเกิดความเข้าใจผิด อย่างไรก็ดีรายงานข่าวบางแห่งระบุว่าเจ้าตัวอาจจะไม่ได้ใช้ชีวิตติดดินขนาดนั้น และยังเคยถูกวิจารณ์กรณีเดินทางไปหลบอาศัยที่เนเธอร์แลนด์เพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษี

 

 

ทุ่มเทให้กับสิ่งที่รักจวบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

ข้อความในแถลงการณ์ IKEA ระบุว่า “เขา (คัมพราด) ทำงานจนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของชีวิต เพื่อซื่อสัตย์ต่อคติประจำใจที่ว่า ‘ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องทำ’ (most things remain to be done)”

 

ถึงแม้ว่าคัมพราดเลือกที่จะเกษียณตำแหน่งเมื่อตอนอายุ 62 ปี (1988) และสละเก้าอี้บอร์ดบริหารเมื่ออายุครบ 87 ปี (2013) เพื่อหลีกทางให้ลูกชายทั้ง 3 คนขึ้นมาบริหารงานแทน แต่เขาก็ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอาวุโสของ IKEA อยู่ และยังคงเดินทางเข้ามาที่บริษัทและสาขาของ IKEA อย่างสม่ำเสมอ เพื่อแบ่งปันความรู้และแรงบันดาลใจให้กับพนักงานรุ่นหลังๆ อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

 

แถลงการณ์ IKEA บอกว่า อิงวาร์ คัมพราด คือนายจ้างที่ยอดเยี่ยมตามแบบฉบับคนจากทางตอนใต้ประเทศสวีเดน เขาเป็นคนขยันและยืนหยัด แน่วแน่ ด้วยแววตาแสนอบอุ่นและความขี้เล่น

 

 

Torbjörn Lööf ซีอีโอและประธานบริหาร Inter IKEA Group กล่าวว่า “พวกเรารู้สึกเสียใจกับการจากไปของอิงวาร์ และจะจดจำความทุ่มเท-ความตั้งใจที่เขาอยู่เคียงข้างกับผู้คนจำนวนมาก เขาไม่เคยยอมแพ้ และต้องการจะทำให้ทุกๆ อย่างดีขึ้นกว่าเดิม โดยแสดงให้เห็นเป็นแบบอย่าง”

 

มาร์กอต วอลล์สตรอม (Margot Wallström) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวีเดนคนปัจจุบัน ทวีตข้อความเชิงยกย่องคัมพราดว่าเป็นบุคคลที่ทำให้สวีเดนเป็นที่รู้จักบนแผนที่โลก

 

แม้วันนี้เด็กชายขายไม้ขีดไฟผู้บันทึกตำนานที่ยิ่งใหญ่ให้กับประเทศเล็กๆ บนคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย และสร้างปรากฏการณ์สั่นสะเทือนอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ทั่วโลกจะจากไปอย่างสงบแล้ว แต่เรื่องราวของอิงวาร์ คัมพราด จะอยู่ในใจของคนสวีเดนและผู้คนทั่วโลกไปตราบนานเท่านาน

 

เช่นเดียวกับจิตวิญญาณแห่งความตั้งใจและความอุตสาหะของเขาที่จะสถิตอยู่ในเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นของ IKEA อย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย…

 

อิงวาร์ คัมพราด (1926 – 2018)

 

อ้างอิง:

FYI
  • สมัยเด็กๆ ที่ถูกพ่อตำหนิว่านอนตื่นสาย เขาซื้อนาฬิกาปลุกมาใช้เป็นของตัวเอง แล้วจัดการถอดปุ่มกดปิดตัวหยุดปลุก (Snooze) ออกไปเสร็จสรรพ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X