×

ครบรอบ 10 ปี Inglourious Basterds มหกรรมยำใหญ่ประวัติศาสตร์ และพลังของ ‘ภาพยนตร์’ ในมือ ‘ไอ้ตัวแสบ’ เควนติน ทารันติโน

21.08.2019
  • LOADING...
Inglourious Basterds

**บทความมีการเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

 

การสร้างโลกที่อยู่เหนือการคาดเดาให้กับตัวละครคาแรกเตอร์จัดใน Reservoir Dogs (1992), Pulp Fiction (1994), Kill Bill: Vol. 1-2 (2003-2004), Death Proof (2007) คือลายเซ็นสำคัญที่ทำให้เควนติน ทารันติโน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับที่มีแฟนคลับรอคอยผลงานมากที่สุดคนหนึ่งในวงการภาพยนตร์ 

 

ในปี 2009 เควนตินได้ทะลุขีดจำกัดของตัวเอง ด้วยการหยิบ ‘ประวัติศาสตร์’ การไล่ล่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทุกคนรู้ดีว่าตอนจบเป็นอย่างไร มาสร้างโลกที่อยู่เหนือการคาดเดาขึ้นมา ในผลงานลำดับ 6 ที่ชื่อ Inglourious Basterds 

 

การนำประวัติศาสตร์ช่วงที่อารมณ์อ่อนไหวและรุนแรงที่สุดมาตีความใหม่ เป็นโจทย์ใหญ่ในการทำหนังที่แทบมองไม่เห็นความเป็นไปไม่ได้ แต่ความกล้าในระดับบ้าระห่ำ ประกอบกับทักษะการเล่าเรื่องชั้นยอด การสะสม ‘น้ำเสียง’ ในการจิกกัด กวนบาทา ท้าทายทุกขนบจนกลายเป็นลายเซ็นส่วนตัว ทำให้เควนตินสามารถทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นมาได้ 

 

เพราะลองคิดภาพถ้าเป็นผู้กำกับคนอื่นหยิบไอเดียนี้ขึ้นมาทำ จะต้องถูกคำถามเรื่องความตั้งใจบิดเบือนประวัติศาสตร์พุ่งเข้าใส่ แต่พอเห็นตัวอักษร ‘A Film By Quentin Tarantino’ ที่คุ้นเคยลอยขึ้นมา ก็พอจะทำให้เชื่อได้ว่า Inglourious Basterds ถูกสร้างขึ้นเพื่อบูชาศาสตร์ภาพยนตร์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ แล้วรอคอยพร้อมกันว่าเมื่อไรเราจะถูก ‘ไอ้ตัวแสบ’ แห่งวงการฮอลลีวูดอัดเข้าให้สักที 

 

เริ่มต้นตั้งแต่ชื่อเรื่อง ที่จงใจสะกดผิดไปจาก The Inglorious Bastards (1978) หนังที่เล่าเรื่องในช่วงเวลาเดียวกันของเอ็นโซ จี. คาสเตลลารี (Enzo G. Castellari) ที่เหมือนเป็นคำใบ้บอกคนดูเอาไว้ก่อนว่า สิ่งที่จะได้เห็นต่อไปนี้ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ แต่เป็น A ‘Film’ By Quentin Taratino 

 

Inglourious Basterds

 

หนังถูกแบ่งออกเป็น 5 แชปเตอร์ที่จบในตัว แต่ไปเชื่อมโยงกันตอนท้าย (คล้ายกับที่เคยทำใน Pulp Fiction) เล่าเรื่องสองตัวละครที่มีเป้าหมายจัดการ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์เหมือนกัน คือลูกสาวชาวยิวที่รอดชีวิตจากการตามล่า และไปเปิดโรงหนังอยู่ที่ปารีส กับ The Basterds แก๊งทหารลูกครึ่งอเมริกัน-ยิว ที่มีงานอดิเรกคือการถลกหนังหัวทหารนาซี 

 

Inglourious Basterds

 

ตลอดเวลา 2 ชั่วโมง 30 นาที เควนตินได้สร้างบทสนทนา และฉากจำที่มองจากดาวอังคารก็รู้ว่าเป็นหนังของเขาที่ทั้งขำ โหด สะใจ (มีแอบโรแมนติกด้วยนิดๆ) ตั้งแต่การถลกหนังหัว บทสนทนาเฉือนคม การปลอมตัว ไปจนถึงฉาก ‘3 นิ้ว’ สั่งเหล้า นำไปสู่ฉากยิงปืนสุดเดือดที่กลายเป็นไฮไลต์สำคัญในหนัง และฉากจำอีกมากมายจนอธิบายไม่หมด 

 

แต่ฉากที่เรา (และอีกหลายคน) ชอบมากที่สุด คือแชปเตอร์ 1 ที่เปิดตัวคริสตอฟ วอลต์ซ (Christoph Waltz) กับการแสดงระดับ ‘สมบัติแห่งชาติ’ ของฮอลลีวูด ในบทฮานส์ ลันดา ‘นักล่ายิว’ ที่ส่งให้เขาได้รางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมไปแบบไม่มีข้อสงสัย 

 

บทสนทนาของเควนติน และการแสดงของคริสตอฟ วอลต์ซ สร้างให้ฮานส์ ลันดา กลายเป็นตัวละครที่โดดเด่นที่สุดในเรื่อง ด้วยบุคลิกนิ่งเงียบ มีไหวพริบ สีหน้าและแววตาไม่บ่งบอกความรู้สึก เขาปรากฏตัวด้วยท่าทีสุภาพ อ่อนน้อม ยิ้มแย้ม พูดเสียงเบา แต่สร้างบรรยากาศกดดันที่ทำให้คู่สนทนา (รวมทั้งคนดู) รู้สึกด้อยกว่าได้อย่างมหัศจรรย์ (ฉากสอนออกเสียงภาษาอิตาลีในแชปเตอร์ที่ 3 ก็ทำได้ดีมาก) 

 

การกล่าวชื่มชมความงามของหญิงสาวชาวยิว ท่าทางดื่มนม ชูแก้ว การหว่านล้อมเรื่องความ ‘เกลียดชัง’ ด้วยการเปรียบเทียบระหว่างหนูและกระรอก ไปจนถึงฉาก ‘สูบไปป์’ ในตำนานที่สะกดทุกคนได้อย่างอยู่หมัด ทุกการแสดงออกของฮานส์ ลันดา นั้นเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยความหมายที่ซ่อนอยู่ 

 

Inglourious Basterds

 

ซึ่งเมื่อดูฉากนี้ซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง เราแอบเห็นภาพของเควนตินซ้อนทับอยู่ในตัวฮานส์ ลันดา ไม่ใช่ในเรื่องความโหดร้าย แต่เป็นลักษณะการแสดงออก ที่ภายนอกเควนตินดูโผงผาง กวนโลก แต่ลึกๆ เขามีความอ่อนน้อมต่อ ‘ภาพยนตร์’ เป็นอย่างมาก สังเกตจากการอ้างอิงหนังเก่าๆ สอดแทรกอยู่ในผลงานแทบทุกเรื่อง 

 

และการสร้าง Inglourious Basterds ขึ้นมาก็เป็นตัวอย่างนั้น เพียงแต่ใต้ท่าทีที่อ่อนน้อม เขาก็แฝงท่าทีกราดเกรี้ยวที่บ่งบอกถึงความเคารพ แต่จะไม่โอนอ่อนผ่อนตามเอาไว้ ด้วยการใช้ศาสตร์ภาพยนตร์ที่เขาเคารพสร้างโลกของเขาขึ้นมา โดยไม่สนใจประวัติศาสตร์ ไม่สนใจคนดู ไม่สนใจสิ่งใดไร้สาระ และเควนติน ทารันติโน คือพระเจ้าของโลกใบนี้อย่างแท้จริง 

 

อีกสิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่าฮานส์ ลันดา คล้ายกับเควนตินมากๆ คือเขาตามล่าชาวยิวโดยไร้ความรู้สึกเกลียดชัง เขาทำเพราะความสนุก เขาหลงใหลไปกับรสชาติหอมหวานเมื่อได้ออกตามล่าและแสดงภาวะ ‘เป็นใหญ่’ เหนือคนอื่น ส่วนเควนตินก็ไม่ได้ทำหนังเพราะรู้สึกว่านี่คือหน้าที่ที่จะต้องมอบอะไรบางอย่างให้กับคนดูหรือวงการภาพยนตร์ 

 

เขาทำเพียงเพราะการทำหนังมันสนุก เขาสนุกกับการตบหน้าคนดู สนุกกับการจิกกัด ตั้งคำถามกับสังคม สนุก (ฉากเล่นเกมใบ้คำในบาร์เปรียบเทียบระหว่างคนดำกับคิงคองได้อย่างคมคาย) สนุกกับการได้เป็นพระเจ้าในโลกที่เขาสร้าง และสนุกกับการได้เป็น ‘ไอ้ตัวแสบ’ ที่หลายคนหลงรัก

 

โดยเฉพาะใน Inglourious Basterds ที่ถ้ามองผ่านกระสุนปืนและหยดเลือด เราจะเห็นว่าเควนตินได้สอดแทรกให้ ‘หนัง’ กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขับเคลื่อนตัวละครทั้งหมด ตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดสุดท้ายของหนัง 

 

ตั้งแต่เด็กสาวชาวยิวที่กลายมาเป็นเจ้าของโรงหนัง วีรบุรุษนักแม่นปืนของนาซีที่ถูกเอาไปสร้างเป็นหนัง สมาชิกแก๊ง The Basterds ที่เคยเป็นนักวิจารณ์ และต้องใช้ความรู้พาเพื่อนๆ ปลอมตัวเข้าไปในงานฉายหนังเพื่อทำภารกิจสังหารฮิตเลอร์ ไปจนถึงฉากสังหารหมู่ทหารนาซีก็เกิดขึ้นในโรงหนัง แถมยังใช้ม้วนฟิล์มเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการอีกด้วย 

 

Inglourious Basterds

 

ในแง่นี้แสดงให้เห็นว่า ‘หนัง’ สามารถเป็นได้ทุกอย่างสำหรับผู้กำกับอย่างเควนติน หนังเป็นได้ทั้งจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง เป็นเครื่องมือสร้าง Propaganda โฆษณาชวนเชื่อให้เกิดอคติทั้งรักและเกลียด เป็นเครื่องมือตอบโต้นักวิจารณ์ผ่านตัวละครที่เหมือนจะรู้เรื่องหนังดี แต่พอลงสนามจริงแล้วทำอะไรไม่ได้ เป็นเครื่องมือสร้างความบันเทิงจนทำให้คนลืมหน้าที่ เป็นสถานที่แห่งความโรแมนติก 

 

และสำคัญที่สุด คือเป็นเครื่องมือของคนตัวเล็กๆ ไม่มีปากเสียงที่ถูกกดขี่ ให้ต่อสู้กับอำนาจที่เหนือกว่าได้อย่างน้ำสมน้ำเนื้อ ถ้าดูจากสัญลักษณ์ในหนัง ตอนแรกเด็กสาวชาวยิวต้องหลบการตามล่าในห้องใต้ดิน แต่พอเป็นเจ้าของโรงหนัง เธอยืนอยู่เหนือทหารนาซีทุกคน  

 

ทำให้เสียงโหยหวนของทหารนาซีที่ถูกขังด้วยเปลวไฟในโรงหนัง พร้อมกับภาพรอยยิ้มของหญิงสาวชาวยิวที่ฉายขึ้นบนจอแทนหนังที่ควรจะถูกสร้างขึ้นเพื่อเชิดชูวีรบุรุษกองทัพนาซี ไม่ใช่แค่การเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการบอกให้โลกรู้ว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ ภายใต้ศาสตร์ของภาพยนตร์ 

 

โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยน้ำมือของ ‘ไอ้ตัวแสบ’ ที่ชื่อเควนติน ทารันติโน!

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X