เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม วุฒิสภาสหรัฐอเมริกาได้ผ่านร่างกฎหมาย Inflation Reduction Act มูลค่า 4.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับวิกฤตโลกรวน ขณะที่หลายฝ่ายจับตาว่าสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จะมีมติให้ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ในการลงคะแนนเสียงที่จะมีขึ้นในวันศุกร์นี้
แต่หากการคาดการณ์ไม่พลิกโผ ร่างกฎหมายนี้จะผ่านความเห็นชอบจากสภา ก่อนที่จะถูกส่งต่อให้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ลงนามรับรองเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายฉบับใหม่ของประเทศต่อไป ซึ่งจะปูทางสู่การลดการปล่อยคาร์บอนของสหรัฐฯ หนึ่งในชาติที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดในโลก อีกทั้งยังจะพลิกโฉมบรรยากาศการเจรจาประเด็นสภาพภูมิอากาศบนเวทีโลกอีกด้วย
Inflation Reduction Act คืออะไร
- ร่างกฎหมาย Inflation Reduction Act ถือเป็นการลงทุนด้านพลังงานสะอาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกรวน โดยเน้นที่การลดการปล่อยคาร์บอน และปูทางให้ผู้บริโภคหันมาใช้พลังงานสะอาด
- ร่างกฎหมายดังกล่าวยังช่วยลดต้นทุนด้านยารักษาโรคให้กับผู้บริโภคในประเทศ และจะมีการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลบางประเภทด้วย
- เป้าหมายของ Inflation Reduction Act นั้นก็ตรงตามชื่อ ซึ่งก็คือการปรับลดเงินเฟ้อในประเทศ โดย Moody’s Investors Service และ Fitch Ratings คาดการณ์ว่า ร่างกฎหมายนี้จะช่วยปรับลดเงินเฟ้อในระยะกลางและระยะยาว แต่อาจยังไม่สามารถช่วยลดเงินเฟ้อในระยะสั้นช่วง 1-2 ปีนี้ได้
ชาวอเมริกันได้อะไรจากการที่ไบเดนทุ่มงบหนุนพลังงานสะอาด-แก้วิกฤตโลกรวน
- อย่างที่เกริ่นไปเบื้องต้นว่า ร่างกฎหมายนี้มีงบประมาณรวมสูงถึง 4.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นงบประมาณต่อสู้วิกฤตโลกรวนถึง 3.7 แสนล้านดอลลาร์เลยทีเดียว ส่งผลให้ Inflation Reduction Act เป็นร่างกฎหมายที่ออกมาเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกรวน ที่ใช้งบประมาณสูงสุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ
- ร่างกฎหมายนี้จะไม่เน้นออกบทลงโทษแก่ผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ในประเทศ แต่จะเน้นไปที่การสร้างแรงจูงใจทางการเงิน เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ลด-ละ-เลิก ใช้พลังงานฟอสซิล อาทิ รัฐจะมอบเครดิตภาษีให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ปรับธุรกิจมาใช้พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น
- นอกจากนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวจะมอบเครดิตภาษีสูงถึง 7,500 ดอลลาร์ให้กับชาวอเมริกันที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
- ผู้ที่ต้องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐถึง 30% ส่วนครัวเรือนที่ติดตั้งฮีตปั๊มรุ่นใหม่ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งความร้อนและความเย็น จะได้รับเงินอุดหนุนสูงสุด 8,000 ดอลลาร์
- สถาบันวิจัย Rewiring America ประมาณการว่า ครัวเรือนที่ติดตั้งฮีตปั๊มและแผงโซลาร์เซลล์ รวมถึงใช้รถยนต์ไฟฟ้า จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ถึง 1,800 ดอลลาร์ต่อปี
- งบประมาณราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์จะถูกจัดสรรให้กับอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานสะอาด ตั้งแต่กลุ่มกังหันลมไปจนถึงการแปรรูปแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการผลิตแบตเตอรี่รถ EV
- ขณะเดียวกันจะมีการจัดสรรงบประมาณอีก 6 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนในชุมชนผู้ด้อยโอกาส เช่น การให้เงินช่วยเหลือเพื่อปรับปรุงบ้านพักให้สามารถประหยัดพลังงานได้มากขึ้น และการเข้าถึงรูปแบบการคมนาคมที่ปล่อยมลพิษน้อยลง
- นอกจากนี้ยังมีการแบ่งงบประมาณสำหรับแนวทางป้องกันไฟป่า ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากคลื่นความร้อนที่แผ่ปกคลุมภูมิภาค รวมถึงงบประมาณสำหรับปกป้องพื้นที่แนวชายฝั่งจากการกัดเซาะของเฮอริเคน แน่นอนว่าปัญหาดังกล่าวเป็นผลพวงจากวิกฤตโลกรวนด้วยเช่นกัน
- นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การเปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาดจะช่วยสร้างงานให้ชาวอเมริกันมากถึง 1.4-1.5 ล้านตำแหน่งภายในปี 2030 เลยทีเดียว
โลกได้อะไรจากร่างกฎหมายนี้
- เป็นที่ทราบกันดีว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่หาก Inflation Reduction Act ถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายของประเทศ ก็คาดว่าจะช่วยหนุนให้สหรัฐฯ เดินทางถึงเป้าหมายการปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% จากระดับของปี 2005 ให้สำเร็จภายในปี 2030 ตามความตั้งใจของไบเดนที่พาสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ความตกลงปารีสอีกครั้ง
- เป้าหมายหลักที่นานาชาติได้ตกลงกันไว้ในความตกลงปารีสเมื่อปี 2015 คือ การคงอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และมุ่งไปสู่เป้าหมายใหญ่คือ จำกัดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันไม่ให้โลกของเราเผชิญกับภัยพิบัติรุนแรง อันเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
- นอกจากนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวยังเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศที่จะแก้วิกฤตสภาพอากาศอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้สหรัฐฯ ในการเจรจาเกี่ยวกับประเด็นโลกรวนบนเวทีโลกในอนาคต
- อีกทั้งยังอาจช่วยโน้มน้าวให้ประเทศอื่นๆ ร่วมดำเนินการไปด้วยกันได้ อาทิ จีน คู่แข่งรายสำคัญของสหรัฐฯ และยังเป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในโลก
แม้ (อาจ) ผ่านความเห็นชอบจากสภา แต่หนทางข้างหน้ายังท้าทาย
- ในอีกมุมหนึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่า หนทางที่สหรัฐฯ จะปรับสู่การใช้พลังงานสะอาดอย่างเต็มรูปแบบนั้นยังคงมีความท้าทายสูงมาก
- ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่า เป็นไปได้ยากที่สหรัฐฯ จะไปถึงเป้าหมายตามที่ให้สัญญาไว้ในความตกลงปารีส หากปราศจากนโยบายของฝ่ายบริหาร นโยบายของรัฐ และนโยบายระดับท้องถิ่นที่ส่งเสริมกัน
- นอกจากนี้การที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 สหรัฐฯ ยังมีงานใหญ่ที่ต้องทำอีกมาก เช่น การสร้างระบบส่งไฟฟ้าที่เชื่อมโยงกับโครงการไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
- ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ยังต้องเร่งสร้างเครือข่ายที่สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ เช่น ไฮโดรเจนสีเขียว พลังงานนิวเคลียร์ รวมถึงการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน ตลอดจนการยกเครื่องระบบคมนาคมและอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมด
- นักวิเคราะห์มองว่า ทางเลือกเทคโนโลยีที่มีในประเทศยังค่อนข้างมีจำกัด ซึ่งสหรัฐฯ ต้องการทรัพยากรบุคคลที่สามารถออกแบบ สนับสนุนเงินทุน และสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดแห่งอนาคตได้มากกว่านี้
- ขณะเดียวกันรัฐบาลยังต้องเอาชนะอุปสรรคในการผลักดันการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ซึ่งมักเผชิญกับกระแสต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ที่หวั่นเจอผลกระทบในเชิงลบต่อชุมชนของตน
ภาพ: Kent Nishimura / Los Angeles Times via Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/markets/us/us-spending-bill-cut-inflation-deficit-over-time-moodys-2022-08-08/
- https://www.theguardian.com/environment/2022/aug/05/us-climate-bill-slash-emissions-analysis-biden
- https://www.axios.com/2022/08/08/climate-bill-senate-passage-why-it-matters
- https://www.yahoo.com/news/whats-bidens-big-climate-health-070256608.html
- https://www.scientificamerican.com/article/senate-passes-historic-climate-bill-heres-what-comes-next/