อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคและผู้ผลิตของจีนชะลอตัวลงในเดือนสิงหาคม เนื่องจากการล็อกดาวน์เป็นระยะๆ ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่าย และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง ทำให้ผู้กำหนดนโยบายมีพื้นที่เพียงพอมากขึ้นที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจหากจำเป็น
ในวันนี้ (9 กันยายน) สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้น 2.5% จากปีก่อนหน้า ชะลอตัวจากอัตรา 2.7% เมื่อเดือนกรกฎาคม และต่ำกว่าผลสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg ซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ 2.8%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ฝ่ามรสุมข่าวร้าย! จีนอัดฉีดเงินมหาศาล เศรษฐกิจไปต่อหรือแค่ประคองตัว?
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี 2565
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหน้าประตูโรงงานในเดือนสิงหาคมก็ชะลอตัวลงเหลือ 2.3% จากอัตรา 4.2% ในเดือนกรกฎาคม ต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 3.2% ในการสำรวจ
ภาวะเงินเฟ้อของจีนปีนี้ถือว่าอยู่ในระดับอ่อน (Mild) เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งทำให้ธนาคารกลางในประเทศเหล่านั้นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ดำเนินแนวทางที่แตกต่าง โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายประเภทเมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดและการตกต่ำของตลาดอสังหาริมทรัพย์
Liu Peiqian หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนจาก NatWest Group Plc ระบุว่า ข้อมูลของวันศุกร์สะท้อนถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนตัว และชี้ให้เห็นว่ามีความจำเป็นต้องผ่อนคลายเพิ่มเติม เพื่อรักษาเสถียรภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นช้ากว่าที่คาดไว้ ทำให้ผู้กำหนดนโยบายมีพื้นที่มากขึ้น สำหรับใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
แม้ภาวะเงินเฟ้ออย่างอ่อนช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายจีนมีพื้นที่ว่างในการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินอีกครั้งเพื่อหนุนเศรษฐกิจ แต่เงินหยวนที่อ่อนค่าลงทำให้เกิดความซับซ้อนขึ้น
โดยเงินหยวนยังเคลื่อนไหวใกล้จะทะลุ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว ทำให้ธนาคารกลางจีนส่งสัญญาณเมื่อเร็วๆ นี้ว่าจะป้องกันไม่ให้หยวนอ่อนค่าหนัก
นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า ธนาคารกลางจีนจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำคัญในสัปดาห์หน้า โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ต้องการรอดูผลกระทบของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อเดือนสิงหาคมก่อนที่จะดำเนินการอีกครั้ง ขณะที่ตัวเลือกนโยบายอื่นๆ รวมถึงการลดอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (Reserve Requirement Ratio) สำหรับธนาคารพาณิชย์ และการขยายการใช้เครื่องมือต่างๆ ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา
Bruce Pang หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัยจีนแผ่นดินใหญ่จาก Jones Lang LaSalle Inc. กล่าวว่า จีนควรให้ความสำคัญกับนโยบายกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งต้องใช้นโยบายการคลังและอุตสาหกรรมที่ประสานกัน ขณะที่นโยบายการเงินควรมีบทบาทสนับสนุน
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงกล่าวว่า ตราบใดที่ CPI ในรอบ 1 ปียังเพิ่มขึ้นต่ำกว่า 3.5% จีนก็ยังสามารถอยู่กับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงหรือต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ประมาณ 5.5% ได้
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักคาดการณ์ว่า การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จีนจะแตะระดับเพียง 3.5% ในปีนี้
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP