กระทรวงพาณิชย์ เผยอัตราเงินเฟ้อประจำเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้น 0.38% อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าหมวดอาหารและพลังงาน คาดช่วงที่เหลือของปีตัวเลขจะต่ำกว่า 1% ทุกเดือน
วันนี้ (7 สิงหาคม) พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนกรกฎาคม 2566 เท่ากับ 107.82 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งเท่ากับ 107.41 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นเพียง 0.38% (YoY) ซึ่งอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา
โดยสาเหตุสำคัญมาจากการชะลอตัวของราคาสินค้าในหมวดอาหาร โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเนื้อสุกร และเครื่องประกอบอาหาร ที่ราคาปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และน้ำมันเชื้อเพลิงราคาปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับฐานราคาเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้ออยู่ระดับสูง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ เมื่อเทียบอัตราเงินเฟ้อของไทยกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนมิถุนายน 2566) พบว่า อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และเวียดนาม)
เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ลดลง 0.01% (MoM) ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ลดลง 0.60% (MoM) จากการลดลงของเนื้อสุกร เนื้อโค และสัตว์น้ำ ผักและผลไม้ (มะนาว, ต้นหอม, ถั่วฝักยาว, เงาะ, ทุเรียน และลองกอง) และเครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม กะทิสำเร็จรูป) สำหรับสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ราคาสูงขึ้นเล็กน้อยที่ 0.42% (MoM) เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงเกือบทุกประเภท (ยกเว้นดีเซล) ค่าเช่าบ้าน สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด และค่าของใช้ส่วนบุคคล (น้ำยาล้างจาน, น้ำยารีดผ้า, น้ำยาล้างห้องน้ำ, ยาสีฟัน และผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว)
ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.86% (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องติดต่อกันตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (มิถุนายน 2566 สูงขึ้น 1.32% (YoY)) สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 2.19% (AoA) ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนด (1.0-3.0%)
ช่วงที่เหลือของปีจะ ‘ขยายตัวในกรอบแคบ’
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนสิงหาคม 2566 มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยในกรอบแคบๆ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากสินค้าอาหารบางประเภทที่ยังคงขยายตัว เนื่องจากสภาพอากาศปีนี้ค่อนข้างแล้งกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย รวมทั้งราคาอาหารสำเร็จรูปที่ยังอยู่ในระดับสูง และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มขยายตัว จากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศ OPEC และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่มีความตึงเครียดมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% ทุกเดือนจากฐานราคาที่ใช้คำนวณที่อยู่ในระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำและเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ทั้งนี้ ความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง สถานการณ์ภัยแล้ง เศรษฐกิจโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ระหว่าง 1.0-2.0% (ค่ากลาง 1.5%) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง