×

ภาวะเงินเฟ้อรุมเร้าญี่ปุ่น ผู้บริโภคซื้อสินค้าถูกลง สวนทาง ผงชูรส-ยาคูลท์-กาแฟ แม้ขึ้นราคาแต่ลูกค้ายอมจ่าย

27.12.2022
  • LOADING...

ผลพวงเงินเฟ้อในญี่ปุ่นทำอาหาร-เครื่องดื่มแห่ขึ้นราคา ส่งผลให้ผู้บริโภคหันซื้อสินค้าถูกลง กระทบสินค้าบางแบรนด์รายได้ลด แต่สินค้าอย่าง อายิโนะโมะโต๊ะ-ยาคูลท์-กาแฟ กลับเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคยอมจ่ายแม้ขึ้นราคา

 

Nikkei Asia รายงานว่า จากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มองหาสินค้าที่มีราคาถูก ส่งผลให้สินค้าบางแบรนด์มียอดขายลดลง แต่ยังมีบริษัทอาหารบางแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในการขึ้นราคาโดยไม่สูญเสียส่วนแบ่งการตลาด

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

UTokyo Economic Consulting และ Nikkei ได้เก็บข้อมูลการขายสินค้าจากเครื่องคิดเงิน (POS) ในซูเปอร์มาร์เก็ต 470 แห่งทั่วญี่ปุ่น จากสินค้าอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม 156 หมวด รวม 1.4 แสนรายการ เพื่อวิเคราะห์หาข้อมูลการจับจ่ายหลังการขึ้นราคาสินค้า 

 

โดยในช่วงเดือนตุลาคม 2022 มีสินค้าอาหารและเครื่องดื่มปรับขึ้นราคาจำนวน 138 หมวด หรือคิดเป็น 90% ของทั้งหมด โดยใน 76 หมวด หรือคิดเป็น 55% สินค้าที่มีราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหมวดทำยอดขายได้สูงกว่าสินค้าในหมวดเดียวกันที่ราคาสูงกว่าค่าเฉลี่ย 

 

สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคมีพฤติกรรมประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์เงินเฟ้อ

 

ขณะที่ในอีก 62 หมวดที่เหลือ สินค้ามีราคาสูงกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งสามารถชิงส่วนแบ่งการตลาดจากสินค้าที่ราคาถูกกว่าได้ และในจำนวนนี้สินค้า 38 หมวด ผู้ผลิตยังมีรายได้เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้บริโภคไม่มีทางเลือก จึงมีความจำเป็นต้องซื้อสินค้าราคาสูง แต่บางคนกลับยอมจ่ายเพื่อให้ได้สินค้าที่ต้องการ 

 

สำหรับกลุ่มสินค้าที่ลูกค้าเต็มใจจ่าย เริ่มตั้งแต่ผงปรุงรสอูมามิ อายิโนะโมะโต๊ะ ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 90% ที่ผ่านมามีการใช้กลยุทธ์สร้างการรับรู้และเพิ่มมูลค่าให้สินค้าด้วยการผนึกกำลังกับยูทูเบอร์ชื่อดังในการทำตลาด รวมถึงแจกสูตรอาหารสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องหันมาทำอาหารเองที่บ้านในช่วงโควิด

 

Taro Fujie ประธานของอายิโนะโมะโต๊ะ ระบุว่า บริษัทพยายามสื่อสารให้ผู้บริโภคเห็นคุณค่าของสินค้าก่อนที่จะประกาศขึ้นราคา ซึ่งจะช่วยให้สามารถขายสินค้ากลุ่มพรีเมียมได้มากขึ้น

 

ตามด้วยกลุ่มสินค้ากาแฟ ผู้ผลิตได้พยายามทำการตลาดสื่อสารกาแฟระดับพรีเมียมเข้าตอบโจทย์พนักงานออฟฟิศ เห็นได้จากสตาร์บัคส์ หลังจากปรับขึ้นราคาไปยังมีออร์เดอร์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

รวมถึงกลุ่มนมเปรี้ยว ยาคูลท์ มีรายได้เติบโตขึ้น หลังจากสินค้ายาคูลท์ Y1000 ราคาขวดละ 150 เยน (38.4 บาท) เน้นจุดขายด้านลดความเครียดและช่วยในการนอนหลับ กลายเป็นสินค้ายอดฮิต และขาดตลาด แม้ว่าราคาจะสูงกว่ายาคูลท์สูตรปกติเกือบ 2 เท่า

 

Mitsuteru Komiyama หัวหน้าฝ่ายการตลาดของยาคูลท์ บอกว่า ปัจจัยที่ทำให้ยาคูลท์ประสบความสำเร็จ ต้องยกให้สาวยาคูลท์ที่เดินสายส่งและขายยาคูลท์ตามบ้าน เพื่อให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น ประกอบกับการสร้างการรับรู้จนแบรนด์ติดตลาด

 

ด้าน Hideo Kumano หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทวิจัย Dai-ichi Life Research Institute วิเคราะห์ว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่สินค้าราคาสูงขึ้น บริษัทต่างๆ ที่มีกลุ่มลูกค้าประจำสามารถต่อสู้กับการแข่งขันได้แม้จะขึ้นราคาแล้วก็ตาม 

 

ขณะเดียวกันปัจจุบันตลาดอาหารและครื่องดื่มของญี่ปุ่นยังต้องเผชิญความท้าทายอย่างมาก แม้ยอดขายสินค้ากลุ่มพรีเมียมจะสูงขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้ภาพรวมของตลาดกลับมาเติบโตได้ เห็นได้จากยอดขายในช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ตที่ยังอยู่ในระดับทรงตัวเทียบกับปีที่แล้ว เพราะผู้บริโภคยังมีความกังวลเรื่องเงินเฟ้อและผู้บริโภคจำนวนมากยังเลือกซื้อสินค้าราคาถูกลง 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising