กระทรวงพาณิชย์เผยเงินเฟ้อไทยเดือนธันวาคมลดลง 0.83% ลบหนักสุดรอบ 34 เดือน แต่ยืนยันไทยยังไม่เข้าภาวะเงินฝืด แม้เตือนเงินเฟ้อปี 2567 มีแนวโน้มต่ำต่อเนื่อง คาดค่ากลางเงินเฟ้อไทยปีนี้อยู่ที่ 0.7%
วันนี้ (5 มกราคม) พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของไทยเดือนธันวาคม 2566 ลดลง 0.83%YoY ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ติดลบหนักกว่าคาดการณ์ของตลาด และลบหนักสุดในรอบ 34 เดือน หรือตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2566 สูงขึ้นเล็กน้อยเพียง 1.23%AoA
โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยในเดือนที่ผ่านมาติดลบมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ตามนโยบายลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของรัฐบาล รวมทั้งเนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหารที่ราคาลดลงต่อเนื่อง สำหรับสินค้าและบริการอื่นๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ
ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.58% เท่ากับเดือนพฤศจิกายน
เปิดคาดการณ์เงินเฟ้อไทยระยะข้างหน้า
กระทรวงพาณิชย์ประเมินอีกว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ โดยช่วงคาดการณ์อยู่ระหว่าง -0.3-1.7% (ค่ากลาง 0.7%)
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคมก็มีโอกาสติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่
- มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และตรึงค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย
- ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศปรับลดลงตาม
- ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มลดลง
- มาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามมาตรการ Easy e-Receipt
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ได้แก่
- การท่องเที่ยวที่ส่งผลให้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น
- สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ ของโลก อาทิ การโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง ที่ทำให้การขนส่งทางทะเลปรับขึ้นค่าธรรมเนียมและค่าระวางเรือ
กระนั้น กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะเป็นผลกระทบชั่วคราว และเหตุการณ์ไม่น่าจะยืดเยื้อ
ยืนยันไทยยังไม่เข้าข่าย ‘เงินฝืด’
พูนพงษ์ยังยืนยันว่า แม้เงินเฟ้อไทยติดลบ 3 เดือนติดต่อกัน แต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากสาเหตุสำคัญที่เงินเฟ้อไทยลดลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเป็นผลมาจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการลดค่าน้ำมันและกระแสไฟฟ้า
นอกจากนี้ ราคาสินค้าและบริการจำกัดอยู่ที่สินค้าบางกลุ่มเท่านั้น โดยในเดือนธันวาคม 2566 มีสินค้าและบริการ 274 รายการที่ ‘เพิ่มขึ้น’, 49 รายการที่ ‘คงที่’ และ 107 รายการที่ ‘ลดลง’