×

เมื่อเงินเฟ้อพุ่งทะยาน…ลงทุนกันอย่างไร

08.06.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

‘เงินเฟ้อ’ มักจะถูกยกเป็นความเสี่ยงต่อสินทรัพย์ลงทุนชนิดต่างๆ ความน่ากลัวของเงินเฟ้อคือการที่ค่าของเงินที่มีอยู่ลดลง ส่งผลให้อำนาจการจับจ่ายใช้สอยต่างๆ ลดลงไปด้วย 

 

ทั้งนี้ การเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างอ่อนจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยภาพรวม เพราะช่วยกระตุ้นการลงทุน การจ้างงาน และทำให้รายได้ของประชาชนปรับเพิ่มขึ้น แต่เมื่อไรที่เงินเฟ้อปรับขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ค่าของเงินลดลง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ก็จำเป็นต้องระมัดระวัง เพราะไม่ใช่ผลดีนัก 

 

เงินเฟ้อเกิดจากการที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 2 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่

 

  1. ปัจจัยด้านอุปสงค์ (Demand Pull) เกิดจากความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากคนมีเงินในมือมากขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น
  2. ปัจจัยด้านอุปทาน (Cost Push) เกิดจากต้นทุนต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตรวมสูงขึ้น ผู้ผลิตจึงต้องปรับราคาขายสินค้าและบริการให้สูงขึ้น

 

สำหรับเงินเฟ้อของไทยในเดือนพฤษภาคม 2565 สูงถึง 7.10% สูงสุดในรอบ 13 ปี ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือนอยู่ที่ 5.19% ซึ่งยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ร้อยละ 1-3 ต่อปีอยู่พอสมควร ทั้งนี้เป็นผลจากราคาพลังงาน ราคาอาหาร ซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิต ต่างปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นตามตลาดโลก หลังประเทศเศรษฐกิจหลักๆ มีการเปิดเมือง ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าและบริการที่สูงขึ้น อีกทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยิ่งเป็นแรงกดดันราคาพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตสินค้าและการขนส่งให้ปรับตัวสูงขึ้น จึงกดดันอัตราเงินเฟ้อให้ยิ่งสูงขึ้นไปอีก 

 

ทั้งนี้ ธปท. ได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 จะอยู่ที่ร้อยละ 4.9 และจะเริ่มลดลงในปี 2566 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.7 โดยปัจจัยกดดันเงินเฟ้อในไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2565 มาจากราคาพลังงานและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นหลัก ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับตัวลดลงและเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในปี 2566 

 

ด้านการลงทุน นักลงทุนควรที่จะมีการปรับพอร์ตเพื่อรองรับผลกระทบจากเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน เพราะตามหลักการแล้วในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อกำลังเร่งตัวขึ้น การลงทุนในทองคำจะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด ขณะที่การลงทุนในหุ้นช่วงที่เงินเฟ้อกำลังปรับตัวขึ้นนั้นอาจมีความผันผวนสูง แต่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่มีความน่าสนใจไม่น้อย อาจต้องพิจารณาลงทุนอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อและการปรับตัวขึ้นของดอกเบี้ย เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มอุปโภคบริโภค และกลุ่มพลังงาน 

 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งสินทรัพย์ที่สามารถต่อสู้กับเงินเฟ้อได้ดี คือ อสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากสามารถปรับราคาได้ตามเงินเฟ้อ สามารถลงทุนได้ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) แต่จากสถานการณ์วิกฤตโควิดที่ผ่านมา ภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จึงอาจต้องพิจารณาคัดเลือกลงทุนในกลุ่มที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากโควิด เช่น กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้อาจจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ราคาของตราสารหนี้มีการปรับตัวลง ซึ่งจะกระทบมากกับตราสารหนี้ระยะยาว นักลงทุนควรเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาสั้นลง หรือเลือกลงทุนในตราสารหนี้ประเภท Inflation Linked Bond หรือ Floating Rate Bond ที่มีการปรับดอกเบี้ยจ่ายตามอัตราดอกเบี้ย ณ ขณะนั้น ก็จะช่วยลดผลกระทบลงได้

 

สุดท้ายนี้ ยังคงต้องเฝ้าจับตาสภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นว่าจะคงอยู่นานเพียงใด และจะปรับตัวลดลงตามที่ ธปท. คาดการณ์ไว้หรือไม่ ในฐานะนักลงทุนควรสังเกตการณ์เพื่อนำมาวางแผนรับมือและปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X