จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,913 คน แต่จำนวนการตรวจหาเชื้อ (เฉลี่ยย้อนหลัง 7 วัน) 3,661 คน หรือคิดเป็น 106.9% ถ้าเข้าไปติดตามสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดรายพื้นที่ของ ‘กรุงเทพมหานคร’ วันนี้ (5 กันยายน) ในเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค ทุกคนน่าจะแปลกใจกับข้อมูลที่แสดงบนแดชบอร์ด เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่าจำนวนการตรวจหาเชื้อ 252 คน
ในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมามีผู้จับตายอดการตรวจหาเชื้อมาตลอด เพราะถ้าการตรวจหาเชื้อน้อย ก็จะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงตามไปด้วย ก่อนหน้านี้เคยมีคนพูดทีเล่นทีจริงว่าผู้ติดเชื้อไม่มีทางเกินวันละ 10,000 คนหรอก ไม่ใช่เพราะควบคุมการระบาดได้ดี แต่เป็นเพราะการตรวจหาเชื้อไม่เกินวันละ 10,000 คนต่างหาก แต่วันนี้กลับตลกร้ายกว่านั้น เมื่อผู้ติดเชื้อเกินการตรวจหาเชื้อ เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
- ความจริงในแดชบอร์ดระบุเพิ่มเติมด้านล่างว่า “จำนวนการตรวจหาเชื้อ: แสดงผลเฉพาะข้อมูลที่มีการคีย์เข้าระบบของทางกระทรวงฯ เท่านั้น” เท่ากับว่าน่าจะมีข้อมูลการตรวจหาเชื้ออีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้คีย์เข้าระบบ เช่น ความล่าช้าในการคีย์ข้อมูล การคีย์เฉพาะผลบวกเพื่อประสานงานเรื่องเตียงหรือเพราะกฎหมายกำหนดให้ต้องรายงาน หรืออาจมีหลายฐานข้อมูลที่ไม่เชื่อมโยงกัน
- โดยเมื่อวันที่ 2 กันยายน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้แจงกรณีที่ชมรมแพทย์ชนบทตั้งข้อสังเกตถึงจำนวนผู้ติดเชื้อและการตรวจหาเชื้อลดลงว่า “ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ แล็บที่ตรวจหาเชื้อไม่ว่าจะให้ผลบวกหรือลบ ก็ต้องรายงานเข้าระบบภายใน 3 ชั่วโมง แต่ด้วยบางครั้งอาจจะคีย์ข้อมูลไม่ทัน บางแล็บก็คีย์เฉพาะผลบวก ทำให้ข้อมูลการตรวจหาเชื้อหายไป”
- การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้น่าจะมี 2 วิธีคือ
-
- เลิกสนใจยอดการตรวจหาเชื้อที่แสดงบนแดชบอร์ด เพราะไม่ได้สะท้อนจำนวนการตรวจหาเชื้อที่แท้จริง ซึ่งคงไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก และ
-
- พัฒนาระบบข้อมูลให้ดีขึ้น ทำอย่างไรให้ห้องปฏิบัติการคีย์ทั้งผลบวกและผลลบ ทำอย่างไรให้คีย์ข้อมูลทัน ทำอย่างไรให้รายงานข้อมูลทันเวลา หรือทำอย่างไรให้ฐานข้อมูลเชื่อมโยงกัน ทางออกหลังน่าจะดีกว่าหรือไม่
- ปัญหานี้ยังสะท้อนถึงผู้กำหนดนโยบายที่ติดตามแต่ ‘จำนวนผู้ติดเชื้อ’ โดยไม่สนใจ ‘ร้อยละผลบวก’ (%Positive) ทั้งที่ควรใช้ในการประเมินสถานการณ์ร่วมกัน เพราะร้อยละผลบวกคือจำนวนตัวอย่างที่ตรวจพบเชื้อ หารด้วยจำนวนตัวอย่างที่ตรวจทั้งหมด หากตัวเลขนี้สูงก็แสดงว่ายังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากอยู่ (ตัวตั้งมาก) หรือยังตรวจหาเชื้อได้น้อยหรือไม่ครอบคลุม (ตัวหารน้อย)
- เมื่อผู้กำหนดนโยบายไม่สนใจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบข้อมูลนี้ ทำให้ %Positive ที่คำนวณจากแดชบอร์ดในวันนี้จึงได้เท่ากับ 106.9% ทว่ากลับเป็นภาคประชาชนที่สนใจตัวเลขนี้มากกว่า เพราะเป็นการประเมินความเสี่ยงในพื้นที่ของตัวเอง หากความเสี่ยงต่ำก็จะมีความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน หรือ Living with COVID-19 มากขึ้น
- และอีกอย่าง เป็นการประเมินการทำงานของ ศบค. เนื่องจากประชาชนบางส่วนที่ไม่ไว้วางใจจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงว่าอาจเป็นผลมาจากความพยายามในการลดการตรวจหาเชื้อ ซึ่งถ้าสถานการณ์การระบาดดีขึ้นจริง ถึงแม้จะตรวจหาเชื้อลดลง ร้อยละผลบวกก็ควรจะมีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย แต่ข้อมูลที่แสดงบนแดชบอร์ดกลับไม่สามารถประเมินทั้ง 2 ข้อที่กล่าวไปได้เลย
- นอกจากนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และจำนวนการตรวจหาเชื้อยังไม่รวมการตรวจหาเชื้อด้วย ATK (Antigen Test Kit) หรือชุดตรวจรวดเร็วที่ประชาชนตรวจเอง ซึ่งน่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามการประชาสัมพันธ์ให้มีการตรวจเป็นประจำ หรือในการตรวจเชิงรุกของภาครัฐ ซึ่งยังดำเนินการอยู่ในหลายจุด หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบพัฒนาระบบข้อมูลนี้ ก็จะทำให้เห็นสถานการณ์จริงชัดเจนมากขึ้น
- ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) กำหนดเกณฑ์ความเสี่ยงของการระบาดในพื้นที่เป็น 4 ระดับ โดยใช้ร้อยละผลบวกของการตรวจด้วย RT-PCR ได้แก่ ต่ำ (<5%) ปานกลาง (5-7.99%) นัยสำคัญ (8-9.99%) และสูง (≥10.0%) ร่วมกับจำนวนผู้ติดเชื้อต่อ 1 แสนประชากรในรอบ 7 วัน ได้แก่ ต่ำ (<10) ปานกลาง (10-49.99) นัยสำคัญ (50-99.99) และสูง (≥100)
อ้างอิง:
- สถานการณ์ผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายพื้นที่ https://ddc.moph.go.th/covid19-dashboard/?dashboard=province
- กรมวิทย์ แจงยอดโควิดลด แล็บคีย์เฉพาะผลบวก เผยใช้เอทีเคกว่า 3 แสน แต่ยังไม่มีระบบรายงาน https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2918505
- Calculating SARS-CoV-2 Laboratory Test Percent Positivity: CDC Methods and Considerations for Comparisons and Interpretation https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/lab/resources/calculating-percent-positivity.html
- COVID-19 Integrated County View https://covid.cdc.gov/covid-data-tracker/#county-view