×

ไม่เท่าเทียม! งานวิจัยเผย ผู้หญิงไทยได้เงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายถึง 5,000 บาท แม้การศึกษาเท่ากัน

08.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • ถ้าพูดเป็นมูลค่าของความแตกต่างในปี 2560 แล้ว ผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี เสียเปรียบผู้ชายในระดับการศึกษาเดียวกันเดือนละ 5,000 บาทหรือคิดเป็นร้อยละ 28 ของค่าจ้างของผู้หญิง

ทีดีอาร์ไอ เผยแพร่บทความ ‘3 ทศวรรษ ของการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานไทย’ โดย วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ

 



ประเด็นของบทความต้องการอธิบายว่า ใน 3 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างในตลาดแรงงานไทย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในด้านการมีงานทำ การว่างงาน และความไม่เท่าเทียมกันระหว่างรายได้ของเพศหญิงและชาย

 

โดยการเปลี่ยนแปลงของแรงงานเกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของประชากรไทย โดยประชากรไทยเพิ่มจาก 53.7 ล้านคนในปี 2530 เป็น 67.7 ล้านคนในปี 2560 และคาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้จำนวนประชากรไทยจะค่อยๆ ลดลง ซึ่งคาดได้เช่นกันว่าจำนวนแรงงานไทยจะลดลงด้วย



ผู้ชายได้รับค่าจ้างสูงกว่าผู้หญิง แม้จบการศึกษาเท่ากัน

ในบทความมีประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่อง ตั้งแต่จำนวนประชากรหญิงมีมากกว่าชายเมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงอายุที่สูงมากขึ้น ผู้หญิงทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้น้อยกว่าผู้ชาย ผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้านมีการศึกษาสูงกว่าผู้ชาย หรือผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์มีอัตราการว่างงานสูงกว่าผู้ชายอย่างชัดเจน

 

แต่ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดคือ แม้ว่าผู้หญิงจะมีการศึกษาระดับเดียวกันกับผู้ชายก็ตาม ผู้หญิงกลับมักได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชาย จึงสรุปได้ว่า ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายในตลาดแรงงานไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างเชื่องช้ามาก

 



จากรูปเป็นค่าเฉลี่ยของส่วนต่างของค่าจ้างผู้ชายที่มากกว่าผู้หญิง และร้อยละของความแตกต่างจะเห็นว่า ยิ่งการศึกษาสูงขึ้น ความแตกต่างของค่าจ้างของหญิงชายยิ่งสูงขึ้น แต่ช่องว่างระหว่างค่าจ้างหญิงชายเทียบเป็นสัดส่วนกับค่าจ้างของผู้หญิงไม่ได้ขึ้นกับระดับการศึกษา

 

กล่าวคือ ไม่ว่าจะระดับการศึกษาใดๆ ลูกจ้างเอกชนผู้ชายมีค่าจ้างสูงกว่าผู้หญิงร้อยละ 22-57 ในปี 2530-2539 ร้อยละ 12-50 ในปี 2540-2549 และร้อยละ 11-32 ในปี 2550-2559 สถานการณ์ดีขึ้นสำหรับแรงงานไร้ฝีมือ แต่กลับแย่ลงสำหรับแรงงานที่จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

 

ถ้าพูดเป็นมูลค่าของความแตกต่างในปี 2560 แล้ว กล่าวได้ว่าผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีเสียเปรียบผู้ชายในระดับการศึกษาเดียวกันเดือนละ 5,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 28 ของค่าจ้างของผู้หญิง

 

ทั้งที่การจ้างงานในระดับการศึกษาที่สูงนั้นไม่ได้ต้องการกำลังแรงกายที่มักเป็นข้ออ้างในความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของแรงงานชาย ในขณะที่งานที่ต้องใช้กำลังแรงกายมากกว่ากลับมีความแตกต่างของค่าจ้างลดลง สัดส่วนความแตกต่างของค่าจ้างของแรงงานหญิงชายที่มีการศึกษาระดับประถมหรือต่ำกว่าลดลงประมาณครึ่งหนึ่งในสามทศวรรษที่ผ่านมา

 

มีงานวิจัยมากมายช่วยยืนยันอีกว่า แม้ว่าผู้หญิงจะมีการลงทุนเพื่อการศึกษาและมีประสบการณ์ในการทำงานที่ดีขึ้นแล้วก็ตาม ผู้หญิงโดยเฉลี่ยก็ยังคงได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชาย

 

บทความนี้ยังตั้งคำถามชวนคิดว่า คำถามที่จะต้องค้นหาต่อคือ ผู้หญิงมีคุณสมบัติในการทำงานด้อยกว่าผู้ชายหรือ? ผู้หญิงทำงานคนละตลาดแรงงานกับผู้ชายหรือ?

หรือมันคือการกดค่าจ้างเพราะว่าเป็นผู้หญิง?

 

อ้างอิง:

FYI

การตั้งครรภ์คือการเพิ่มต้นทุน

ตลาดแรงงานไทยยังมีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับแรงงานผู้หญิง มองว่าการตั้งครรภ์ของแรงงานเพิ่มต้นทุนให้แก่สถานประกอบการ

 

ในปัจจุบันเรายังพบว่า ในใบสมัครงานของบางบริษัทมีคำถามแก่ผู้สมัครงานผู้หญิงว่าตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ ซึ่งตามกฎหมายนั้น ผู้หญิงสามารถลาคลอดได้เป็นเวลา 3 เดือน โดยที่นายจ้างยังต้องจ่ายค่าจ้างให้ด้วย

 

บทความนี้ตั้งข้อเสนอแนะว่า ถ้าสังคมไทยยังเห็นความสำคัญของการเพิ่มประชากร สมควรที่จะมีนโยบายสนับสนุนแรงงานผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้านให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ให้โอกาสในการทำงานครึ่งเวลาระหว่างการเลี้ยงดูบุตรในช่วง 1 ปีแรกหลังคลอด หรือเพิ่มแรงจูงใจทางการเงินแก่ผู้หญิงที่มีรายได้สูง เช่น การหักค่าลดหย่อนภาษีสำหรับผู้หญิงที่มีบุตรให้เท่าๆ กับการหักค่าลดหย่อนในการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising