วันนี้ (20 กุมภาพันธ์) กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้สำรวจปริมาณน้ำทิ้งโรงงาน และแหล่งน้ำในขุมเหมืองที่สามารถนำไปใช้ในภาคเกษตรกรรมในช่วงวิกฤติภัยแล้งปี 2563 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร บรรเทาการขาดแคลนน้ำ
จากการสำรวจล่าสุดมีปริมาณน้ำรวม 169 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่พร้อมผันน้ำไปใช้ประโยชน์ โดยในอดีตขุมเหมืองเป็นน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปา เช่น จังหวัดภูเก็ต ระนอง และพังงา รวมถึงอีกหลายจังหวัด
ขณะที่ในปีนี้มีแหล่งน้ำในกลุ่มเหมืองแร่จำนวน 36 แห่ง รวม 105 บ่อเหมือง มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 166,019,100 ลูกบาศก์เมตรที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ คิดเป็นปริมาณน้ำรวมกว่า 65,392,000 ลูกบาศก์เมตร
โดยขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง เนื่องจากโรงงานที่ใช้น้ำในการผลิตในปริมาณมาก ส่วนใหญ่จะมีบ่อกักเก็บน้ำทิ้งไว้ใช้ประโยชน์
ส่วนโรงงานที่อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้เตรียมแหล่งน้ำสำรองเพียงพอที่จะรับมือกับภัยแล้ง มั่นใจว่าโรงงานจะไม่ได้รับผลกระทบและเกิดปัญหาการแย่งน้ำกับภาคส่วนอื่น แต่หากพบผู้ประกอบการรายใดที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบ หรือน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ กระทรวงฯ จะออกมาตรการช่วยเหลือให้ต่อไป
สำหรับข้อมูลแหล่งน้ำขุมเหมืองของกรมอุตสาหรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ มีดังนี้
- ภาคเหนือมี 13 บ่อเหมืองในจังหวัดเชียงใหม่ พะเยา ลำปาง ลำพูน ปริมาณน้ำรวม 129 ล้านลูกบาศก์เมตร
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 17 บ่อเหมืองในจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ เลย ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี ปริมาณน้ำรวม 11 ล้านลูกบาศก์เมตร
- ภาคกลางมี 4 บ่อเหมืองในจังหวัดนครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ปริมาณน้ำรวม 1.7 ล้านลูกบาศก์เมตร
- ภาคตะวันออกมี 4 บ่อเหมืองในจังหวัดจันทบุรี ชลบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ปริมาณน้ำรวม 8 แสนลูกบาศก์เมตร
- ภาคตะวันตกมี 5 บ่อเหมืองในจังหวัดกาญจนบุรี ตาก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี ปริมาณน้ำรวม 8.7 ล้านลูกบาศก์เมตร
- ภาคใต้มี 6 บ่อเหมืองในจังหวัดตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส พังงา และภูเก็ต ปริมาณน้ำรวม 14 ล้านลูกบาศก์เมตร