ธนาคารกลางอินโดนีเซียชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสอดคล้องกับธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง 0.25% สู่ระดับ 5.5%
ธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 7-Day Reverse Repurchase Rate ซึ่งเป็นดอกเบี้ยอ้างอิง 0.25% สู่ระดับ 5.5% นับเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2019 ตามการคาดการณ์ของตลาด หลังอัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียผ่อนคลายลงเล็กน้อยในเดือนพฤศจิกายน เหลือ 5.42 จาก 5.71% ในเดือนตุลาคม แต่ก็ยังสูงกว่าช่วงเป้าหมายของธนาคารกลางที่ 2-4% ในปีนี้
การตัดสินใจครั้งล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ธนาคารอินโดนีเซียตอบรับแนวทางของธนาคารกลางอื่นๆ รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่เริ่มชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังแรงกดดันด้านราคาผ่อนคลายลงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถหันความสนใจไปยังเศรษฐกิจที่กำลังก้าวเข้าสู่ปีใหม่ได้
โดยผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย เพอร์รี วาร์จิโย เพิ่งประกาศเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (21 ธันวาคม) ว่า อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียอาจถึงจุดสูงสุดแล้ว พร้อมย้ำอีกครั้งในวันพฤหัสบดีว่า นโยบายการเงินในปี 2023 จะมุ่งเน้นไปที่เสถียรภาพ
ในเดือนนี้เงินรูเปียห์กลับมาแข็งค่ามากกว่า 0.8% แต่ยังคงเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่าที่สุดในบรรดาสกุลเงินเอเชียในไตรมาสนี้ โดยธนาคารกลางอินโดนีเซียคาดว่า สกุลเงินท้องถิ่นจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในปีหน้า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่ใกล้จะถึงจุดสูงสุด และทำให้กระแสเงินไหลเข้าของต่างประเทศกลับเข้าสู่อินโดนีเซีย
วินสัน พูน หัวหน้าฝ่ายวิจัยตราสารหนี้ของ Maybank Securities ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มากเกินไปได้ผ่อนคลายลงแล้ว และวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยกำลังเข้าสู่ช่วงสุดท้าย พร้อมคาดว่าธนาคารกลางอินโดนีเซียจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ไปสู่ระดับสูงสุดที่ 6% ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี หลัง Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยถึงปีหน้า
- ส่องนโยบาย ‘แบงก์ชาติทั่วโลก’ เมื่อ ‘วิกฤตเงินเฟ้อ’ กลายเป็นวิกฤตระดับโลกที่ทุกประเทศไม่อาจหลีกเลี่ยง
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี 2565
อ้างอิง: