ทางการอินโดนีเซียตัดสินใจปรับขึ้น ‘ราคาขายปลีกน้ำมัน’ รวดเดียว 30% เพื่อควบคุมเงินอุดหนุนที่กำลังเพิ่มขึ้นมาก แม้มีความเสี่ยงจากการประท้วงของประชาชนก็ตาม
Arifin Tasrif รัฐมนตรีพลังงานของอินโดนีเซีย ระบุว่า ราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 รูเปียห์ หรือราว 24.50 บาท (คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน 1,000 รูเปียห์ เท่ากับ 2.45 บาท) ต่อลิตร จาก 7,650 รูเปียห์ ขณะที่น้ำมันดีเซลจะเพิ่มเป็น 6,800 รูเปียห์ หรือ 16.66 บาทต่อลิตร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ประธานาธิบดีอินโดนีเซียประกาศความสำเร็จควบคุมโควิด พร้อมพาเศรษฐกิจเติบโต เงินเฟ้อต่ำไม่ถึง 5%
- แบงก์ชาติ อินโดนีเซีย เทขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรอง เพื่อประคองค่าเงินรูเปีย
“ตอนนี้รัฐบาลต้องตัดสินใจในสถานการณ์ที่ยากลำบาก นี่เป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาล” ประธานาธิบดี Joko Widodo กล่าวพร้อมกับย้ำว่า ต้องการให้ราคาน้ำมันในประเทศยังคงไม่แพงผ่านเงินอุดหนุน แต่ตอนนี้งบในส่วนนี้กำลังเพิ่มขึ้น 3 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อไปอีก
เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เพิ่มเงินอุดหนุนด้านพลังงานในปี 2022 เป็น 502 ล้านล้านรูเปียห์ เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าของงบประมาณเดิม โดยได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้นและค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลง ซึ่งหากไม่ขึ้นราคา งบประมาณจะเพิ่มขึ้นเป็น 698 ล้านล้านรูเปียห์
Sri Mulyani Indrawati รัฐมนตรีกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย คาดว่าเงินอุดหนุนพลังงานทั้งหมดจะอยู่ระหว่าง 591-649 ล้านล้านรูเปียห์สำหรับปีนี้หลังจากการขึ้นราคา โดยสมมติว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 85-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงที่เหลือของปี
Hariyadi Sukamdani หัวหน้าสมาคมนายจ้างชาวอินโดนีเซีย กล่าวว่า แรงกดดันด้านราคาจากการขึ้นราคาน้ำมันจะไม่มากเกินไป โดยคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 6% ในสิ้นปีนี้
“ถ้าราคาสินค้าแพงเกินไป คนก็ไม่ซื้อ เราไม่สามารถขึ้นราคาได้มากเกินไป” เขากล่าว โดยธุรกิจต่างๆ กำลังใช้เชื้อเพลิงที่ไม่ได้รับการอุดหนุน แต่การขึ้นราคาจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนด้านโลจิสติกส์
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอาจกดดันให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียเร่งรัดนโยบายการเงินให้เร็วขึ้น ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ของ Bank Mandiri ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้ออาจเร่งขึ้นเป็น 6-7% และธนาคารกลางสามารถเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 4.25% จาก 3.75% ในขณะนี้
ราคาน้ำมันมีความอ่อนไหวทางการเมืองในอินโดนีเซีย และการเปลี่ยนแปลงจะมีนัยสำคัญต่อครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็ก การขึ้นราคาน้ำมันครั้งล่าสุดคือในปี 2014 หลายเดือนหลังจากที่ Widodo เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งได้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงทั่วทั้งหมู่เกาะ
Said Iqbal ซึ่งเป็นหัวหน้าสหภาพแรงงานกล่าวกับ Reuters ว่า เขาต้องการให้รัฐบาลยกเลิกการขึ้นราคา เพราะ “สิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ ในขณะที่ค่าจ้างไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นเวลา 3 ปี และอัตราเงินเฟ้อก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP