สิตี นูร์บายา บาการ์ (Siti Nurbaya Bakar) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซีย ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำข้อตกลงยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030 ที่ประธานาธิบดีโจโก วีโดโด และผู้นำอีก 104 ประเทศทั่วโลก ร่วมลงนามในระหว่างการประชุม COP26 ท่ามกลางความพยายามยับยั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยระบุว่า “การบังคับให้อินโดนีเซียยุติการตัดไม้ทำลายป่าทั้งหมดภายในปี 2030 นั้น ชัดเจนว่าไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม” พร้อมทั้งส่งสัญญาณว่าอินโดนีเซียอาจไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงได้
บาการ์ให้เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยต่อการเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าว โดยระบุว่ามีหลายหนทางในการจำกัดการตัดไม้ทำลายป่า และยืนยันว่าข้อตกลงใดๆ ก็ตาม ไม่อาจหยุดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้
“การพัฒนาครั้งใหญ่ในยุคของประธานาธิบดีวีโดโดต้องไม่หยุดในนามของการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือในนามของการตัดไม้ทำลายป่า” บาการ์กล่าว และชี้ว่า “ทางการอินโดนีเซียไม่สามารถสัญญาในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้”
บาการ์ยังชี้ว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกของรัฐบาลอินโดนีเซียคือการพัฒนาประเทศ ซึ่งการตัดไม้ทำลายป่ามีความจำเป็น เช่นในกรณีการตัดไม้เพื่อสร้างถนนใหม่ หรือการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร
“ความมั่งคั่งทางธรรมชาติของอินโดนีเซีย รวมถึงป่าไม้ ต้องได้รับการจัดการให้ใช้งานได้ตามหลักการที่ยั่งยืน นอกเหนือจากความเป็นธรรม” เธอกล่าว
ทั้งนี้ อินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่มีป่าดิบชื้นขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งนับตั้งแต่ยุค 1960 ป่าไม้ทั่วอินโดนีเซียกว่าครึ่งถูกลักลอบตัดและเผาทำลายเพื่อการเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ เช่น การปลูกต้นปาล์ม
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาผืนป่าของอินโดนีเซียยังมีขนาดลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราการตัดไม้ทำลายป่าจะน้อยลง ข้อมูลจากเว็บไซต์ตรวจสอบป่าไม้ทั่วโลก Global Forest Watch พบว่าในปี 2001 อินโดนีเซียมีผืนป่าดั้งเดิม (Primary Forest) ขนาดใหญ่กว่า 587 ล้านไร่ แต่ในปี 2020 พบว่าผืนป่ามีขนาดลดลงไปอีกอย่างน้อย 10%
ทางด้าน มาเฮนดรา ซิเรการ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า การอธิบายถึงข้อตกลงยุติตัดไม้ทำลายป่าดังกล่าวว่าเป็นการให้คำมั่นสัญญาที่จะยกเลิกการตัดไม้ทำลายป่าทั้งหมดนั้น เป็นสิ่งที่ผิดและก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวได้รับการสนับสนุนและชื่นชมจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก แต่หลายคนเตือนความล้มเหลว เช่นเดียวกับข้อตกลงลดการตัดไม้ทำลายป่าที่เคยมีในปี 2014 ซึ่งหลายประเทศที่เข้าร่วมไม่สามารถชะลอการตัดไม้ทำลายป่าลงได้แม้แต่น้อย โดยสิ่งสำคัญสำหรับข้อตกลงฉบับนี้คือ ต้องมีพันธกรณีเพื่อกำหนดให้มีการปฏิบัติตามข้อตกลง
ทางด้านโฆษกของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งสหราชอาณาจักร ในฐานะเจ้าภาพจัดประชุม COP26 และเป็นผู้สนับสนุนข้อตกลงดังกล่าว มองว่าความเห็นของรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอินโดนีเซียหมายถึงความจำเป็นในการที่ยังสามารถตัดไม้และทำเกษตรกรรมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับคำมั่นของข้อตกลงดังกล่าวที่ระบุว่า “ป่าไม้ที่สูญเสียไปจะถูกแทนที่อย่างยั่งยืน”
ภาพ: Photo by Ulet Ifansasti/Getty Images
อ้างอิง: