×

ทำไมคำสั่งห้ามส่งออกข้าวของอินเดีย อาจลุกลามเป็นวิกฤตอาหารโลก

03.08.2023
  • LOADING...
ส่งออกข้าว

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางการอินเดียได้ออกคำสั่งห้ามส่งออกข้าวทุกชนิด ยกเว้นให้แค่เพียงข้าวบาสมาติ (Basmati Rice) ที่ยังส่งออกได้ เหตุก็เป็นเพราะว่ารัฐบาลต้องการสกัดราคาอาหารที่กำลังพุ่งสูงขึ้นภายในประเทศ รวมถึงต้องการสร้างหลักประกันด้วยว่าจะมีข้าวที่ราคาเหมาะสมเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนจำนวนมหาศาลในประเทศ 

 

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนในต่างประเทศแห่กันไปกักตุนสินค้า ภาพจากสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งเผยให้ชั้นวางสินค้าที่เคยมีถุงข้าวสารเรียงรายกลับว่างเปล่า และเมื่อดีมานด์สูงกว่าซัพพลายก็ทำให้ราคาข้าวของอินเดียนั้นพุ่งสูงหนักในตลาดต่างประเทศ

 

 

  • ส่องภาพรวมตลาดข้าวทั่วโลก

 

โลกของเรานั้นมีการเพาะปลูกและบริโภคข้าวอยู่หลายสายพันธุ์ด้วยกัน แต่มีข้าวแค่เพียง 4 สายพันธุ์หลักๆ ที่มีการซื้อขายกันในระดับโลก โดยข้าวที่มีการซื้อขายกันในสัดส่วนมากที่สุดคือข้าวอินดิกา (Indica Rice) ที่มีเม็ดเรียวยาว ส่วนที่เหลือจะเป็นข้าวสายพันธุ์ที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เช่น ข้าวบาสมาติ ข้าวจาปอนิกา (Japonica Rice) เม็ดสั้นกลมที่มักพบในอาหารญี่ปุ่นหรืออาหารอิตาเลียนอย่างรีซอตโต และข้าวเหนียว (Glutinous Rice) 

 

หากถอยมาดูในภาพใหญ่จะเห็นว่าอินเดียถือเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุด โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของการค้าข้าวทั่วโลก ตามมาด้วยผู้ส่งออกรายใหญ่ชาติอื่นๆ อย่างไทย เวียดนาม ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ผู้ซื้อรายใหญ่คือจีน ฟิลิปปินส์ และไนจีเรีย แต่ในบางช่วงเวลาก็มีประเทศอย่างอินโดนีเซียและบังกลาเทศที่มีดีมานด์การซื้อพุ่งขึ้นมาเป็นพิเศษ หากเกิดกรณีที่สต๊อกข้าวในประเทศขาดแคลน แต่สำหรับภูมิภาคที่มีการบริโภคข้าวสูงมาก แถมยังมีทีท่าว่าจะสูงขึ้นอีกเรื่อยๆ คือแอฟริกา

 

เมื่อปีที่ผ่านมาอินเดียได้ส่งออกข้าว 22 ล้านตันไปยัง 140 ประเทศทั่วโลก ในจำนวนดังกล่าวเป็นข้าวอินดิกาที่มีราคาค่อนข้างถูกจำนวน 6 ล้านตัน เทียบกับปริมาณการค้าข้าวทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 56 ล้านตัน

 

 

  • ห้ามส่งออกประเทศเดียว แต่กระทบไปทั่วโลก

 

จากที่ลำดับเหตุการณ์มาทั้งหมดนี้ คงจะพอมองภาพกันออกแล้วว่าเมื่ออินเดียระงับการส่งออกข้าว ผลกระทบที่ตามมาจึงมหาศาล ปิแอร์-โอลิเวียร์ กูรินชาส์ (Pierre-Olivier Gourinchas) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เชื่อว่าคำสั่งห้ามส่งออกดังกล่าวจะผลักดันให้ราคาข้าวถีบตัวสูงขึ้น และราคาธัญพืชทั่วโลกอาจพุ่งสูงขึ้น 15% ในปีนี้

 

ธนาคาร Barclays ได้วิเคราะห์ผลกระทบที่จะตามมาจากคำสั่งแบนการส่งออกข้าวของอินเดียด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า ‘มาเลเซียมีแนวโน้มที่จะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด’ เพราะเมื่อพิจารณาจากสถิติแล้วพบว่ามาเลเซียเป็นชาติที่พึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศจำนวนมาก และนำเข้าข้าวจากอินเดียในสัดส่วนที่ค่อนข้างใหญ่เลยทีเดียว

 

นอกจากนี้ สิงคโปร์ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน เนื่องจากสัดส่วนการนำเข้าข้าวจากอินเดียของสิงคโปร์นั้นมากถึง 30% อย่างไรก็ตาม ธนาคาร Barclays ตั้งข้อสังเกตว่าสิงคโปร์พึ่งพาการนำเข้าสินค้าจำพวกอาหารจากชาติอื่นๆ เป็นสัดส่วนที่ใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะแค่ข้าวสารเท่านั้น โดยขณะนี้สิงคโปร์กำลังอยู่ในระหว่างยื่นเรื่องขอให้อินเดียยกเว้นคำสั่งแบนส่งออกดังกล่าวให้กับประเทศของตนเอง

 

 

  • ราคาข้าวทั่วโลกพุ่งแรงสุดในรอบทศวรรษ

 

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ราคาข้าวปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบทศวรรษ และหากดูกันในระยะสั้นๆ จะเห็นว่าราคาข้าวทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2022 โดยเพิ่มขึ้น 14% ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่แล้ว และปัจจุบันนี้ซัพพลายข้าวก็ค่อนข้างตึงตัว เนื่องจากกว่าที่จะมีข้าวป้อนเข้าสู่ตลาดรอบใหม่ก็ต้องอีกอย่างน้อย 3 เดือนข้างหน้า

 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของปัจจัยสภาพอากาศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยปรากฏการณ์เอลนีโญที่ย่างกรายเข้ามาเยือนโลกของเราในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีแนวโน้มที่จะสร้างความเสี่ยงต่อการปลูกพืชผลในประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่อื่นๆ ของเอเชีย เช่น ปากีสถาน เวียดนาม รวมถึงไทย ซึ่งยังไม่นับรวมกับเหตุการณ์สภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดขึ้นในเอเชียใต้ ทั้งฝนมรสุมที่เกิดขึ้นในอินเดีย และเหตุน้ำท่วมในปากีสถาน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการเก็บเกี่ยวพืชผล รวมถึงปัญหาต้นทุนการปลูกข้าวสูงขึ้นเพราะราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น

 

นอกจากนี้ การที่สกุลเงินต่างๆ อ่อนค่าลงก็ยังทำให้ต้นทุนการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นก็ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมทางการค้าสูงขึ้นด้วย

 

 

  • ภูมิภาคใดที่ได้รับผลกระทบบ้าง

 

คำสั่งแบนการส่งออกข้าวของอินเดียนั้นส่งผลกระทบกับหลายภูมิภาคทั่วโลก ทั้งเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง

 

BMI ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของ Fitch Solutions กล่าวว่า ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อข้อจำกัดการส่งออกของอินเดียกระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) และในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) พร้อมระบุด้วยว่า จิบูตี ไลบีเรีย กาตาร์ แกมเบีย และคูเวต เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุด

 

คำสั่งแบนการส่งออกครั้งล่าสุดนี้มีขึ้นหลังจากเมื่อเดือนกันยายน 2022 อินเดียได้สั่งแบนการส่งออกข้าวหัก นั่นจึงหมายความว่าปัจจุบันอินเดียลดการส่งออกข้าวทั้งหมดลงถึง 40%

 

แม้นี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่อินเดียบังคับใช้คำสั่งห้ามส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ แต่ผลกระทบจากคำสั่งในครั้งนี้อาจรุนแรงมากกว่าครั้งอื่นๆ ในอดีต

 

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนตุลาคม 2007 อินเดียเคยออกคำสั่งแบนการส่งออกข้าวทุกชนิดยกเว้นข้าวบาสมาติ หลังจากนั้นก็ยกเลิกคำสั่งแบนชั่วคราวเป็นเวลาสั้นๆ และสั่งแบนใหม่อีกครั้งในเดือนเมษายน 2008 ในเวลานั้นราคาข้าวพุ่งสูงถึงเกือบ 30% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 22.43 ดอลลาร์ต่อ 100 ปอนด์ (cwt)

 

ซามาเรนดู โมหันตี (Samarendu Mohanty) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของ CIP กล่าวว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวอินเดียยังไม่ใช่ผู้เล่นหลักในตลาดส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติทั่วโลกในตอนนั้น ฉะนั้นแล้วคำสั่งห้ามส่งออกในปัจจุบันจึงจ่อสร้างผลกระทบที่กว้างกว่าเมื่อ 16 ปีที่แล้ว

 

ขณะที่ เชอร์ลีย์ มุสตาฟา (Shirley Mustafa) นักวิเคราะห์ตลาดข้าวขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กล่าวว่า “คำสั่งห้ามส่งออกข้าวของอินเดียส่งผลกระทบกับคนกลุ่มเปราะบางมากที่สุด เพราะพวกเขาต้องนำเงินที่หามาได้ส่วนใหญ่ไปใช้จ่ายกับอาหาร และเมื่อราคาอาหารสูงขึ้น มันก็บังคับให้พวกเขาต้องลดปริมาณอาหารที่กินลง หรือหันไปหาอาหารทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดี หรือแม้แต่กระทั่งต้องลดความใช้จ่ายที่จำเป็นอื่นๆ เช่น ค่าที่พักอาศัย เป็นต้น”

 

ส่วน อโศก กุลาติ (Ashok Gulati) และรายา ดาส (Raya Das) จากสภาอินเดียเพื่อการวิจัยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (ICRIER) กล่าวว่า นอกเหนือจากปัญหาเรื่องราคาข้าวสูงขึ้นทั่วโลกนั้น อินเดียควรหลีกเลี่ยงการออกคำสั่งแบนอย่างกะทันหันเช่นนี้ เพื่อที่จะสามารถก้าวขึ้นผู้นำที่มีความรับผิดชอบของประเทศซีกโลกใต้ในกลุ่ม G20 ได้

 

“เพราะความเสียหายที่ใหญ่กว่า คืออินเดียจะถูกมองว่าเป็นผู้ส่งออกข้าวที่ไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไป”

 

แฟ้มภาพ: Saqib Majeed / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X