×

‘อาทิตยา’ ภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์ครั้งแรกของอินเดีย

02.09.2023
  • LOADING...
ภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์

เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังการลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย หรือ ISRO ได้ส่งอีกหนึ่งภารกิจขึ้นสู่อวกาศอีกครั้ง โดยรอบนี้มีเป้าหมายสำคัญคือ การศึกษาดวงอาทิตย์ ดาวฤกษ์หนึ่งเดียวในระบบสุริยะ

 

ยานลำนี้มีชื่อว่า ‘อาทิตยา-แอล 1’ ซึ่งคำว่า อาทิตยา มาจากภาษาสันสกฤตที่แปลว่าดวงอาทิตย์ และ L1 หมายถึงจุดลากรานจ์ที่ 1 ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นจุดที่มีสมดุลระหว่างแรงโน้มถ่วงกับแรงหนีศูนย์กลาง ทำให้ยานสามารถเฝ้าสังเกตดวงอาทิตย์ได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีโลกมาบดบังทัศนวิสัย หรือต้องใช้เชื้อเพลิงเพื่อคอยปรับวงโคจรอยู่บ่อยครั้ง

 

นั่นแปลว่า แม้อาทิตยาจะเป็นยานสำรวจดวงอาทิตย์ลำแรกของอินเดีย แต่พวกเขาไม่ได้ส่งยานเข้าไปท้าทายอุณหภูมิอันร้อนแรงเหมือนกับภารกิจปาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ ของ NASA ที่ต้องออกแบบแผ่นกันความร้อนหนาหลายชั้น เพื่อให้ยานสามารถเดินทางเข้าไป ‘แตะ’ ดวงอาทิตย์ได้ใกล้กว่าภารกิจอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ แต่ยานของอินเดียจะอยู่ห่างจากโลกไปราว 1.5 ล้านกิโลเมตร หรือนับเป็น 1% ของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์

 

แต่ถึงยานจะไม่ได้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ แต่ภารกิจการสำรวจหลักๆ ที่ประกอบด้วยการศึกษาลมสุริยะ การปลดปล่อยมวลโคโรนาจากดวงอาทิตย์ และสภาพภูมิอากาศของอวกาศในบริเวณใกล้เคียงกับโลก นั้นสามารถทำได้จากตำแหน่ง L1 โดยยานอาทิตยาจะมีอุปกรณ์สำรวจทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด 7 อย่าง ยกตัวอย่างเช่น กล้องถ่ายภาพในรังสีอัลตราไวโอเลต, สเปกโตรมีเตอร์, โคโรนากราฟ และอุปกรณ์เพื่อทดลองอนุภาคจากลมสุริยะ และพลาสมา เป็นต้น

 

ดวงอาทิตย์คือดาวฤกษ์ดวงเดียวที่เราสามารถส่งยานไปสำรวจอย่างใกล้ชิดได้ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน และเป็นดาวที่มีการแผ่รังสีออกมาแทบทุกช่วงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งโลกของเรามีทั้งชั้นบรรยากาศและสนามแม่เหล็กคอยปกป้องรังสีที่เป็นอันตรายกับอนุภาคที่มีประจุไม่ให้มาถึงพื้นโลก ดังนั้นอุปกรณ์การวัดค่าต่างๆ สำหรับศึกษาพฤติกรรมและคุณลักษณะของดวงอาทิตย์จะไม่สามารถทำได้จากบนพื้นโลก ทำให้ภารกิจอาทิตยาได้ริเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2008

 

และหลังจากความสำเร็จในการปล่อยยานไปกับจรวด PSLV-XL ในวันที่ 2 กันยายน เวลา 13.20 น. ตามเวลาประเทศไทย ตัวยานจะยังอยู่ในวงโคจรรอบโลกไปอีกประมาณ 16 วัน เพื่อจุดเครื่องยนต์เร่งความเร็วเพิ่มทั้งสิ้น 5 ครั้ง ให้พร้อมกับการเดินทางนาน 110 วัน ไปสู่ตำแหน่ง L1 ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ที่ยานจะโคจรเป็นวงรีอยู่รอบตำแหน่ง L1 ตลอดช่วงการปฏิบัติงานหลังจากนี้ ซึ่งยังต้องคอยติดตามอย่างต่อเนื่องว่าภารกิจของอาทิตยาจะประสบความสำเร็จหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม ISRO ได้เปิดเผยในเอกสารประกอบภารกิจว่า ยานของพวกเขาไม่ใช่ภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์แบบครบวงจร โดยระบุว่า ข้อจำกัดของมวล พลังงาน และขนาดของยาน ทำให้สามารถเลือกใช้อุปกรณ์สำรวจทางวิทยาศาสตร์ได้จำกัดเท่านั้น

 

นอกจากภารกิจอาทิตยาของอินเดียแล้ว ในปัจจุบันยังมียาน SOHO, ACE, WIND และ DSCOVR ที่ใช้เพื่อศึกษาทั้งดวงอาทิตย์และโลกของเรา ประจำการอยู่ในตำแหน่ง L1 ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ โดยที่ภารกิจอย่างปาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ และโซลาร์ ออร์บิเตอร์ จะเป็นสองยานสำรวจที่เดินทางเข้าไปเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์และศึกษาในระยะใกล้เคียง

 

ปี 2023 ถือเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นและน่ายินดีกับการสำรวจอวกาศของอินเดีย ที่มีทั้งภารกิจจันทรายาน-3 เดินทางไปลงจอดและทำงานอยู่บริเวณใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์, ยานอาทิตยา-แอล 1 ที่กำลังจะออกไปศึกษาดวงอาทิตย์ และยังมีโอกาสที่ช่วงปลายปีเราจะได้เห็นภารกิจกากันยาน-1 หรือการส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศด้วยยานของอินเดียเป็นครั้งแรก ก่อนตามด้วยศุกรยาน-1 ภารกิจแบบไม่มีมนุษย์ควบคุม ที่จะเดินทางไปโคจรรอบดาวศุกร์ในปี 2024

 

ดร.ชรีธารา โสมานาถ ผู้อำนวยการ ISRO ได้ขึ้นกล่าวหลังจากความสำเร็จในการปล่อยยานว่า “ในตอนนี้ยานยังคงเดินทางต่อไปบนการเดินทางนานกว่า 135 วัน มาร่วมอวยพรให้ยานอาทิตยาโชคดีกัน”

 

หลังจากการส่งยานมังคลายาน-1 ไปสู่ดาวอังคารเมื่อปี 2015 ซึ่งถือเป็นชาติแรกที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่การส่งยานไปดาวอังคารครั้งแรก มาร่วมลุ้นกันว่า อีกหนึ่งภารกิจสำรวจระบบสุริยะของอินเดียจะประสบความสำเร็จตั้งแต่ความพยายามหนแรกได้หรือไม่

 

ภาพ: Indranil Mukherjee / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising