เข้าสู่วันที่สามแล้ว ที่ THE STANDARD เดินทางร่วมคณะมากับกระทรวงพาณิชย์ จากเมืองมุมไบ มุ่งสู่เมืองเจนไน ประเทศอินเดีย โดยมี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะ
เจนไน เป็นเมืองหลวงของรัฐทมิฬนาฑู ซึ่งมีมูลค่าตลาดการค้าที่ใหญ่แห่งหนึ่งของอินเดีย โดยเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียใต้ที่สร้างมูลค่าถึง 25% ของตัวเลข GDP ทั้งประเทศอินเดีย เป็นผู้นำด้านการศึกษา การลงทุน และการส่งออก ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ มีประชากรกว่า 7 ล้านคน
รองนายกรัฐมนตรีของไทย ได้พบกับนักลงทุนของภาคเอกชนที่นี่ โดยช่วงเช้าได้เป็นประธานในการเปิดสัมมนา โอกาสใหม่ทางธุรกิจของอุตสาหกรรมระหว่างไทย-อินเดีย และกิจกรรมสร้างเครือข่ายธุรกิจโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สมาคม All India Rubber Industries Association (AIRIA) และสมาคม Automobile Tyre Manufactures Association (ATMA) มี นิธิรุจน์ โผนประเสริฐ กงสุลใหญ่ ร่วมกับประธานของสมาคม AIRIA กับ ATMA กล่าวต้อนรับ
รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ตนได้มาเยือนเมืองเจนไน รัฐทมิฬนาฑูเป็นครั้งแรก รู้สึกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้เห็นศักยภาพที่เข้มแข็งทางเศรษฐกิจของรัฐทมิฬนาฑูว่า เป็นรัฐที่สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศอินเดียมากเป็นอันดับ 2 และเป็นแหล่งลงทุนของต่างชาติสูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศ อีกทั้งเป็นฐานการผลิตสำคัญของอินเดียตามนโยบาย Make in India โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ จนได้ชื่อว่าเป็น ‘ดีทรอยต์ ออฟ อินเดีย’
“ตนเชื่อว่าทุกท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่า อินเดียและประเทศไทยมีความสัมพันธ์กันมายาวนาน และรัฐบาลทั้งสองมีนโยบายที่สอดคล้องประสานกัน โดยเฉพาะนโยบาย Act East ของอินเดียกับนโยบาย Look West ของไทย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการได้ส่งเสริมความเป็นพันธมิตรหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้น” จุรินทร์ กล่าว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยกับอินเดียมี FTA ที่เชื่อมโยงการค้าระหว่างกันถึง 2 ฉบับ นั่นคือ
- FTA ไทย-อินเดีย ซึ่งได้กล่าวถึงเรื่องการลดภาษีนำเข้ายางจากประเทศไทย ซึ่งตนจะรับไปหารือ
- FTA อาเซียน-อินเดีย ซึ่งส่งผลให้การค้าระหว่างสองภูมิภาคขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมที่ผ่านมาตนเป็นประธาน เราเห็นว่าเราจะยกระดับการค้าอาเซียน-อินเดีย ซึ่งจะได้ขยายตัวต่อเนื่อง
ในปี 2561 การค้าระหว่างอินเดีย-อาเซียน คิดเป็นมูลค่ากว่า 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 9.8 นอกจากนั้นยังมี RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค) ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งความสัมพันธ์ทางการค้าที่จะช่วยให้การค้าระหว่างอินเดียกับอาเซียนมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ในโอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียนและประธานการประชุมรัฐมนตรี RCEP ในปีนี้ เราตั้งเป้าที่จะเจรจาให้บรรลุข้อตกลง RCEP ในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะทำให้อาเซียนและอินเดียสามารถเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,560 ล้านคนหรือประชากรกว่าครึ่งโลก มีมูลค่าการค้ามากกว่า 10.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 30 ของมูลค่าการค้าของโลกในอนาคต
สำหรับสินค้าสำคัญของไทย คือ สินค้าทางการเกษตร และยางพารา ถือว่าเป็นสินค้าที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ เพราะประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราสำคัญของโลก และยืนยันว่ายางพาราไทยมีคุณภาพ มาตรฐานสากล รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้ายางพาราของไทย เพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องคุณภาพ มาตรฐานให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ ซึ่งผมได้เล็งเห็นว่า อินเดียในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และไทยในฐานะผู้ผลิตยางพาราสำคัญ จะสามารถร่วมมือกันยกระดับธุรกิจการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมยางระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้นได้อีกขั้นหนึ่ง
ในการมาเยือนครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณสมาชิกธุรกิจอินเดียที่จะได้ทำการตกลงการซื้อขาย และในนามรองนายกรัฐมนตรีจากประเทศไทยนั้นถือว่าเป็นการให้เกียรติตนอย่างยิ่ง
โดยหากมีสิ่งใดที่เป็นอุปสรรคต้องการให้ตนรับทราบสามารถประสานงานได้ทั้งกงสุลใหญ่และทูตพาณิชย์ประจำเมืองเจนไน และในการทำข้อตกลงซื้อขายที่จะเกิดขึ้นวันนี้นั้น ตนขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง และไม่ว่าอนาคตตนจะเป็นรัฐบาลหรือไม่ แต่อย่างไรก็เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
อย่างไรก็ตาม การทางมาเยือนเมืองเจนไนในครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้นำคณะผู้แทนไทยทั้งภาครัฐและเอกชนด้านยางพาราและไม้ยางพารา แล้วยังได้นำผู้ดำเนินธุรกิจบริการโลจิสติกส์มาพบและหารือกับภาคธุรกิจของอินเดียในงานสัมมนาและการเจรจาธุรกิจในวันนี้ด้วย
รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ได้ขอบคุณสมาคมอุตสาหกรรมยางแห่งอินเดีย และสมาคมผู้ผลิตยางล้อที่มีบทบาทสำคัญ และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับกระทรวงพาณิชย์ของไทยในการจัดสัมมนาและการเจรจาธุรกิจในครั้งนี้ และขอบคุณนักธุรกิจชาวอินเดียในเมืองเจนไนทุกท่านที่สละเวลาที่มีค่าของท่านมาร่วมงานในวันนี้ เชื่อว่างานสัมมนาในวันนี้จะเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักธุรกิจสองฝ่ายได้ทำความรู้จัก สร้างเครือข่ายธุรกิจ และแสดงศักยภาพของกันและกัน เพื่อนำไปสู่การขยายโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ด้านสินค้ายางพาราระหว่างกันต่อไป และขอให้การสัมมนาและการเจรจาธุรกิจในวันนี้ประสบผลสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเปิดการสัมมนา
สำหรับการสัมมนาที่เมืองเจนไน เรื่องโอกาสใหม่ทางธุรกิจของอุตสาหกรรมยางระหว่างไทยและอินเดียเป็นเป้าหมายการเปิดตลาดยางพาราของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นนโยบายเชิงรุกของรัฐบาลนี้
ในโอกาสนี้ยังมีประธานสมาพันธ์อุตสากรรมแห่งอินเดียใต้นำสมาชิกคณะนักธุรกิจชั้นนำของเมืองเจนไนเข้าเยี่ยมคารวะพร้อมหารือกับจุรินทร์เกี่ยวกับโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและอินเดียใต้ด้วย ซึ่งทางไทยได้มีคณะและผู้แทนการค้า เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจไม้ยางพารา รวมทั้งบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเปิดตลาดร่วมพบปะด้วย โดยเชื่อว่าช่วงค่ำวันนี้จุรินทร์จะได้ประกาศข่าวดีสำหรับประเทศไทย
สำหรับอินเดียผลิตยางในประเทศได้ผลผลิตประมาณ 6.7 แสนตัน มีความต้องการใช้ยางประมาณ 1.27 ล้านตัน โดยร้อยละ 70 ถูกนำไปใช้สำหรับการผลิตยางล้อ ซึ่งมีแหล่งนำเข้าหลักจาก 4 ประเทศคือ อินโดนิเซีย เวียดนาม ไทย และมาเลเซีย ขณะที่การนำเข้ายางธรรมชาติ สามารถนำเข้าได้เฉพาะท่าเรือในเมืองมุมไบและเจนไนเท่านั้น ส่งผลให้เกิดการเพิ่มต้นทุนขนส่งไปยังแหล่งอุตสาหกรรม และการนำเข้าต้องได้รับการอนุญาตให้นำเข้าก่อน หากนำเข้าเพื่อการส่งออกสามารถนำเข้าได้ในภาษีร้อยละ 0 แต่จะต้องนำยางไปแปรรูปเพื่อส่งออกภายใน 6 เดือน
ส่วนภาพรวมตัวเลขหลังปิดดีลการเจรจาการค้า ตลาดอินเดียโดยภาพรวมทั้งหมดนั้น THE STANDARD จะรายงานให้ทราบถึงโอกาสและมูลค่าการลงทุนให้ทราบต่อไป
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์