ถ้าพูดถึง ‘อินเดีย’ คุณนึกถึงอะไร? อาจเป็นทัชมาฮาล สังเวชนียสถาน แกงอินเดีย หรือฝูงวัว? แต่สำหรับเรา ‘อินเดีย’ หมายถึงความหลากหลาย ขนบธรรมเนียม และวิถีชีวิตที่น่าสนใจจากวัฒนธรรมอันเก่าแก่ หลังจากการได้สัมผัสวิถีอินเดียจากการใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นสักพัก เราพบว่า นั่นเป็นช่วงที่สนุกและตื่นเต้นที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต เหตุเพราะอินเดียเป็นประเทศเจ้าของความ ‘พีกสุดๆ’ ในหลายด้าน และแต่ละวันเต็มไปด้วยเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจที่อยากหันไปเมาท์ให้ใครสักคนฟัง แต่ด้วยความที่รอบข้างมีแต่คนอินเดีย เหลียวซ้ายแลขวาจะหาคนที่คิดว่าเรื่องที่เจอมันน่าตื่นเต้นเหมือนกันก็ไม่มี เลยได้แต่เก็บข้อมูลไว้ในหัว และนี่คือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากแดนชมพูทวีปที่เราเก็บมาเล่าสู่กันฟัง แบบที่คุณอาจจะไม่ได้ฟังจากทัวร์ไกด์ก็เป็นได้
กินข้าวด้วยมือเป็นธรรมเนียมปกติ
เวลาคนอินเดียกินอาหาร เราจะเห็นหลายคนใช้มือกินเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะในบ้าน ตามร้านอาหารริมทาง หรือภัตตาคารใหญ่ๆ จากประสบการณ์ที่เคยไปกินข้าวที่บ้านเพื่อนคนอินเดีย รวมถึงกินข้าวกับผู้บริหารระดับสูงบริษัทใหญ่ในร้านอาหาร เขาก็ใช้มือกินไม่ต่างกัน แถมกินไวกว่าเราที่ใช้ช้อนส้อมเสียด้วย! ดังนั้น หากมีโอกาสได้เดินทางไปอินเดีย เราอยากแนะให้ลองดู และขอบอกว่า ทันทีที่คุณหันมาใช้มือกินข้าว คุณจะกลายเป็นชาวต่างชาติที่ ‘น่ารัก’ ขึ้นมาทันทีในสายตาคนอินเดีย เพราะนอกจากจะดูกันเองมากกว่าการใช้ช้อนส้อม ทั้งยังไม่ต้องกลัวมือเลอะ เพราะโดยมากร้านอาหารมีจุดบริการอ่างล้างมือให้อยู่แล้ว ยกเว้นถ้าตระเวนชิมอาหารข้างทางตามรถเข็นข้างทาง ก็ควรจะพกทิชชู่เปียกไปเผื่อด้วย
ร้านอาหารข้างทางอาจไม่มีแก้วน้ำแยกให้ลูกค้า
ใครไปกินร้านอาหารริมทางเล็กๆ ที่อินเดียอาจมีงง เพราะร้านมีเหยือกน้ำตั้งไว้ให้ แต่ไม่มีแก้วน้ำวางไว้ให้ แต่อย่าฉงนไป เพราะคนอินเดียนิยมกระดกน้ำจากเหยือกเข้าปากไปเลย ซึ่งต้องอาศัยการเล็งแม่นๆ ให้เข้าปากพอดีเป๊ะและไม่ให้ปากเหยือกสัมผัสกับปากคนดื่ม เพื่อสุขอนามัยที่ดี (นี่คือทักษะชั้นยอด) จะว่าไปคงไม่ต่างอะไรกับเวลาที่คนไทยดื่มน้ำจากขันเดียวกัน แต่สำหรับใครที่ไม่สะดวกใจจะซดน้ำร่วมเหยือกกับคนอื่น ก็สามารถบอกเจ้าของร้านได้ แต่สำหรับน้ำที่มาเป็นเหยือก เราไม่ค่อยแนะนำให้ดื่มเท่าไร เพราะเราไม่รู้ว่าน้ำมาจากก๊อกหรือเปล่า ซึ่งอาจจะมีปัญหาเรื่องความสะอาด ขนาดเพื่อนชาวอินเดียหลายคนเวลาไปร้านอาหารยังต้องกำชับบริกรว่า ขอน้ำขวด ไม่เอาน้ำจากเหยือก ดังนั้น สั่งน้ำขวดมาดื่ม น่าจะเป็นวิธีที่ปลอดภัยกว่า…
เราอาจได้กินอาหารที่ถูกเสิร์ฟมาบนใบไม้
อย่าทำตาโตไป ที่อาหารของคุณไม่ได้เสิร์ฟใส่จานแบบที่คุ้นเคย ที่เห็นได้บ่อยๆ เช่น ใบตอง พวกเขาใช้ใบตองยักษ์เสิร์ฟมาแทนจาน ซึ่งใบเหล่านี้จะถูกทำความสะอาดมาก่อนแล้ว แต่ก่อนกิน คนอินเดียจะเทน้ำไปบนใบเล็กน้อย แล้วใช้นิ้วถูพอเป็นพิธี จากนั้นก็ตักข้าว ตักแกงลงไป แล้วกินได้เลย และเมื่อกินเสร็จก็รวบไปทิ้งทีเดียว ไม่ต้องล้างจาน ได้อรรถรส แถมยังสะดวก นอกจากใช้ใบตองแทนจานแล้ว อินเดียยังรณรงค์ให้เลิกใช้ถุงและบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายไม่ได้ ซึ่งทำไปถึงร้านริมทางด้วย ดังนั้น เมื่อเราไปตะลุยร้านข้างทางในอินเดีย ก็จะได้อาหารที่เสิร์ฟมาในจานที่ทำจากใบไม้อัดแห้งหรือถุงหนังสือพิมพ์ เก๋ไปอีกแบบ!
น้ำแข็งคือ Rare Item
สาเหตุนั้นมีอยู่ 2-3 ข้อ ข้อแรกคือ ที่หลายพื้นในอินเดียยังประสบปัญหาเรื่องไฟฟ้าดับบ่อย การทำน้ำแข็งจึงเป็นเรื่องยากและสิ้นเปลือง ข้อสองก็คือ ที่อินเดียน้ำแข็งไม่ค่อยสะอาดเท่าไร เน้นเอาไปใช้แช่อาหารมากกว่า ข้อสุดท้ายเลยคือ คนอินเดียเองเหมือนจะนิยมเครื่องดื่มร้อนมากกว่า เช่น ชาร้อน ส่วนถ้าเป็นเครื่องดื่มเย็นก็มักจะใส่น้ำแข็งพอเป็นพิธี ไม่อัดน้ำแข็งเต็มแก้วแบบบ้านเรา ดังนั้น ใครเดินเที่ยวเหนื่อยๆ คิดจะเดินเข้าร้านสั่งเครื่องดื่มเย็นเจี๊ยบมาดับกระหายอาจจะต้องผิดหวัง เพราะขนาดเมนูน้ำปั่นใน Starbucks ยังใส่น้ำแข็งลงไปปั่นแค่นิดเดียวให้ได้สัมผัสถึงวิญญาณน้ำแข็งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เครื่องดื่มที่ควรโดน ไม่ได้มีแค่ชากับ Lassi
Masala Chai (Chai แปลว่า ชา ในภาษาฮินดี) หรือ Lassi (โยเกิร์ตเหลวสไตล์อินเดีย) เป็นเครื่องดื่มยอดฮิตที่ใครที่ไปอินเดียเป็นต้องขอลอง ซึ่งจริงอยู่ที่เด็ดจริง แต่นอกจาก 2 อย่างนี้แล้ว เครื่องดื่มอีกชนิดที่น่า ‘โดน’ คือ น้ำผลไม้ปั่น ดังที่เกริ่นไปก่อนหน้าว่า คนอินเดียไม่นิยมรับประทานน้ำแข็ง ดังนั้น เวลาทำน้ำผลไม้ปั่น พวกเขาจะเอาผลไม้ลงไปปั่นทั้งชิ้นใหญ่ๆ จึงได้ออกมาเป็นน้ำผลไม้ปั่นที่รสชาติเข้มข้นสุดๆ ส่วนเมนูที่เราอยากแนะนำคือ น้ำแคนตาลูปปั่นกับละมุดปั่น ได้รสชาติผลไม้เต็มน้ำเต็มเนื้อมากๆ แบบที่ไม่ควรพลาด
ส่ายหน้าไม่ได้แปลว่า ‘ใช่’ เสมอไป
ว่ากันว่า ถ้าคนอินเดียส่ายหน้าแปลว่า ‘ใช่’ มันก็ใช่จริงๆ นั่นแหละ แต่รู้ไหมว่า ถ้าคนอินเดียส่ายหน้าให้เรา เขาอาจจะไม่ได้หมายความว่าใช่หรือเห็นด้วยทุกครั้ง เพราะการขยับหัวสื่อความหมายของคนอินเดียมีหลายแบบ เราสรุปง่ายๆ ให้ดังนี้
- ถ้าพยักหน้าขึ้นลงคือ ‘เห็นด้วยแน่นอน’
- ถ้า ‘โยกหัว’ (ไม่ใช่ส่าย) ไปทางซ้าย-ขวาแปลว่า ‘ใช่’ หรือ ‘เห็นด้วย’ ยิ่งโยกเร็วเท่าไร ยิ่งแสดงถึงความเห็นด้วย
- ถ้า ‘ส่ายหน้า’ ไปทางซ้ายทางขวาแปลว่า ‘ไม่เห็นด้วย’ หรือ ‘No’ ซึ่งไม่ต่างกับภาษาสากลที่เรารู้กัน
แต่จากประสบการณ์การส่ายหน้าเช่นนี้ ขึ้นอยู่กับสีหน้าและสถานการณ์ประกอบ เพราะชาวแดนภารตะหลายคนก็ส่ายหน้าแบบนี้เวลาต้องการสื่อว่า ‘ใช่เหมือนกัน’ เช่น ตอนบอกเวลานัดหมายกับคนขับรถ ซึ่งเขาตอบรับด้วยการยิ้มแล้วส่ายหน้าดังที่บอกเช่นกัน สรุปคือ เพื่อความชัวร์ ถามความหมายไปเลยจะดีกว่านั่นเอง
ตลาดสดถือเป็นความบันเทิง
ตลาดสดของอินเดียคงไม่อยู่ในโปรแกรมทัวร์ของไกด์คนไหนแน่ๆ และถ้าเราถามเพื่อนคนอินเดียว่า มีตลาดสดที่ไหนน่าไปเดินบ้าง หลายคนก็แนะนำด้วยความเป็นห่วงว่า “อย่าไปเลย” กลัวเราจะไม่ชอบที่คนพลุกพล่านและไม่ค่อยสะอาด แต่ถ้าไปถึงอินเดียแล้วอยากเข้าถึงความเป็นอยู่ของคนอินเดียจริงๆ ตลาดสดที่แหละคือคำตอบ แล้วคุณจะสัมผัสได้ถึงความเป็น ‘อินเดีย’ อย่างถ่องแท้ มีทั้งวัตถุดิบทำอาหาร กองเครื่องเทศเป็นสิบๆ สี ชาเป็นร้อยๆ ชนิด ผักผลไม้แปลกๆ เครื่องครัวแบบท้องถิ่น กองดอกไม้และพวงมาลัยยาวเป็นเมตรๆ เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับอินเดียแปลกๆ ได้เห็นชีวิตของพ่อค้าแม่ค้า คนที่มาจับจ่ายของ และบรรดาวัวเจ้าถิ่น ซึ่งจะได้ฟีลต่างจากแค่แวะไปดูสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ ที่จัดไว้ให้นักท่องเที่ยวอย่างสิ้นเชิง เป็นผจญภัยเล็กๆ ที่เราอยากให้คุณลอง
เอาเป็นว่าทั้งหมดนี้เป็นแค่เรื่องน่ารู้บางส่วนที่เล่าจากประสบการณ์จากการอาศัยอยู่ที่อินเดีย ข้อมูลหลายอย่างข้างต้นได้มาจากการสังเกตและการบอกเล่าของเพื่อนๆ ชาวอินเดียที่น่ารัก ประเทศอินเดียมีวัฒนธรรมและธรรมเนียมมากมายที่น่าสนใจ เป็นประเทศที่เราอยากให้คุณลองไปสัมผัสดูสักครั้ง
ภาพ: Shutterstock
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล