×

อินเดียครองอันดับ 1 ของโลก ชัตดาวน์อินเทอร์เน็ตควบคุมการประท้วง

โดย THE STANDARD TEAM
19.12.2019
  • LOADING...
การประท้วงในฮ่องกง

อินเดียขึ้นแท่นเป็นประเทศอันดับ 1 ของโลกที่มีการชัตดาวน์หรือปิดกั้นระบบอินเทอร์เน็ตทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับรัฐ หรือรัฐบาลกลางอินเดียมากที่สุดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 

 

ข้อมูลจาก Internet Shutdown Tracker เว็บไซต์ติดตามการชัตดาวน์ระบบอินเทอร์เน็ตในอินเดีย บ่งชี้ว่ามีการสั่งชัตดาวน์อินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นในอินเดียช่วงปี 2018 ถึง 134 ครั้ง และในปีนี้ถึง 93 ครั้ง มากกว่าอันดับ 2 อย่างปากีสถานที่มีการชัตดาวน์อินเทอร์เน็ตไป 12 ครั้ง โดยแทบทั้งหมดถูกใช้เป็นยุทธวิธีเพื่อรับมือเหตุการณ์ความขัดแย้ง เช่น การประท้วง

 

“ไม่ว่าครั้งไหนที่มีสัญญาณเหตุวุ่นวายเกิดขึ้น การชัตดาวน์อินเทอร์เน็ตคือเครื่องมือแรกในกล่องเครื่องมือที่ถูกเลือกใช้ เมื่อการรักษากฎหมายคือสิ่งสำคัญสูงสุด คุณจะไม่คิดถึงเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็น” ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Internet Shutdown Tracker กล่าว

 

การประท้วงต่อต้านกฎหมายพลเรือนของอินเดียที่ทวีความรุนแรงและปะทุขึ้นในหลายเมืองทั่วประเทศในช่วงเดือนที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้ทางการอินเดียหันมาใช้วิธีชัตดาวน์อินเทอร์เน็ตมากขึ้นเพื่อปิดกั้นการแสดงความเห็นปลุกปั่นและขัดขวางการชุมนุมไม่ให้ลุกลาม

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการชัตดาวน์อินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นทั้งที่รัฐอัสสัม ซึ่งเป็นจุดที่การประท้วงรุนแรง รวมถึงหลายเขตในรัฐเบงกอลตะวันตก ไปจนถึงเมืองอลิการ์ ในรัฐอุตตรประเทศทางตอนเหนือ

 

ยุทธวิธีชัตดาวน์อินเทอร์เน็ตเป็นหนึ่งในหนทางรับมือสถานการณ์ความขัดแย้งและเหตุประท้วงที่ทางการอินเดียเลือกใช้บ่อยครั้งช่วงหลายปีมานี้ แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นวิธีที่มักจะใช้ในประเทศที่ปกครองภายใต้ระบอบสังคมนิยมหรือเผด็จการทหาร ไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่สุดของโลกอย่างอินเดีย

 

ขณะที่การชัตดาวน์อินเทอร์เน็ตในระยะเวลาที่ยาวนานที่สุดเกิดขึ้นที่แคว้นชัมมูและแคชเมียร์ หลังอินเดียประกาศยกเลิกสถานภาพพิเศษและสิทธิในการปกครองตนเองเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมส่งกำลังทหารหลายพันนายเข้าไปในพื้นที่และปิดกั้นทุกช่องทางการสื่อสาร ทำให้มีการชัตดาวน์อินเทอร์เน็ตตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม จนถึงตอนนี้กินเวลานานกว่า 136 วัน หรือกว่า 4 เดือน และยังไม่แน่ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X