รัฐบาลอินเดียให้คำมั่นว่าจะเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 แก่ประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ แม้ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ยังคงประสบปัญหาผลิตวัคซีนได้ไม่เพียงพอ ขณะที่รัฐบาลเล็งเพิ่มกำลังการผลิตให้ถึง 2 พันล้านโดส ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ธันวาคม
อินเดียมีวัคซีนอะไรบ้าง
ปัจจุบันมีวัคซีน 3 ตัวที่ผลิตและได้รับการอนุมัติใช้ในอินเดีย ได้แก่ Covishield ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและบริษัท AstraZeneca และผลิตโดยบริษัทสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของอินเดียและของโลก และอีกตัวคือ Covaxin ที่บริษัท Bharat Biotech ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่อันดับ 2 ของอินเดีย พัฒนาและผลิตขึ้นเอง
ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลอินเดียเปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมามีการสั่งผลิตวัคซีนทั้ง 2 ตัว จำนวน 356 ล้านโดส เพื่อใช้งานจนถึงช่วงเดือนกรกฎาคม แต่จนถึงตอนนี้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนดังกล่าวยังไม่สามารถจัดส่งวัคซีนได้ตามเป้าหมาย
ขณะที่วัคซีนตัวที่ 3 ที่ได้รับการอนุมัติใช้งานในอินเดีย คือวัคซีน Sputnik V ของรัสเซีย ซึ่งมีการลงนามข้อตกลงผลิตในอินเดียกว่า 750 ล้านโดส โดยทางการอินเดียได้รับมอบจากรัสเซียกว่า 3 ล้านโดส และพร้อมฉีดให้ประชาชน ส่วนวัคซีนที่ผลิตเอง คาดว่าจะพร้อมส่งมอบตั้งแต่เดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม
อินเดียผลิตวัคซีนได้มากแค่ไหน
เป้าหมายของรัฐบาลอินเดียคือการผลิตวัคซีนให้ได้ 2 พันล้านโดส ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อสามารถฉีดวัคซีนให้ประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมดได้
จากข้อมูลสำมะโนประชากรในปี 2011 พบว่าประชากรผู้ใหญ่ในอินเดีย อายุ 18 ปีขึ้นไป มีประมาณ 900-950 ล้านคน ซึ่งหมายความว่าเป้าหมายผลิตวัคซีน 2 พันล้านโดสนั้น สามารถครอบคลุมจำนวนประชากรส่วนใหญ่ทั้งหมดได้
ขณะที่อินเดียมีการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ในประเทศรวมทั้งหมด 8 ตัว ซึ่งตอนนี้มีเพียง 3 ตัวที่ระบุไว้ข้างต้น ซึ่งได้รับการอนุมัติใช้งาน ส่วนอีก 2 ตัวอยู่ระหว่างทดลองทางคลินิกในขั้นต้น และอีก 3 ตัวอยู่ระหว่างการทดลองในระยะท้าย
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า รัฐบาลอินเดียไม่สามารถพึ่งพาความหวังจากวัคซีนที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ และสิ่งที่ควรมุ่งเน้นในตอนนี้คือเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนที่ผ่านการอนุมัติแล้วให้มากขึ้น
สำหรับสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย มีเป้าหมายผลิตวัคซีนตั้งแต่สิงหาคม-ธันวาคม ให้ได้รวม 950 ล้านโดส แบ่งเป็นวัคซีน Covishield 750 ล้านโดส และวัคซีน Covovax ซึ่งเป็นเวอร์ชันท้องถิ่นของวัคซีน Novavax ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติใช้งาน ส่วนบริษัท Bharat Biotech ตั้งเป้าผลิตวัคซีน Covaxin ให้ได้ 550 ล้านโดส และวัคซีนชนิดพ่นจมูกที่ยังอยู่ระหว่างทดลองขั้นต้นอีก 100 ล้านโดส
รัฐบาลอินเดียยังทุ่มงบประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มกำลังผลิตวัคซีนของสถาบันเซรุ่ม และ 210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับบริษัท Bharat Biotech
โดยสถาบันเซรุ่มแจ้งต่อรัฐบาลว่า จะผลิตวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสต่อเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ส่วน Bharat Biotech เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนเป็น 80 ล้านโดสต่อเดือน แต่การเพิ่มกำลังผลิตในจำนวนดังกล่าวยังดูห่างไกลจากเป้าหมาย 2 พันล้านโดส ทำให้รัฐบาลอินเดียยังต้องพยายามเร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมจากบริษัทอื่นๆ เช่น Pfizer, Moderna และ Johnson & Johnson ซึ่งผู้ผลิตวัคซีนหัวแถวเหล่านี้เผยว่า การหารือข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนจะทำได้ภายในเดือนตุลาคม
ภาวะขาดแคลนวัตถุดิบผลิตวัคซีน
บริษัทผู้ผลิตวัคซีนในอินเดียยังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบ หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ บังคับใช้กฎหมายปกป้องการผลิตในประเทศ ทำให้ผู้ผลิตวัคซีนของสหรัฐฯ ได้สิทธิ์เข้าถึงวัตถุดิบในการผลิตวัคซีนก่อน
ซึ่งแม้ล่าสุดรัฐบาลสหรัฐฯ จะตกลงจัดหาวัตถุดิบให้แก่บริษัทผลิตวัคซีนของอินเดีย หลังจากที่อินเดียเผชิญสถานการณ์แพร่ระบาดระลอกใหม่ที่มีความรุนแรง แต่ทางสถาบันเซรุ่มระบุว่า บริษัทยังประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบที่จำเป็นต้องนำเข้าจากสหรัฐฯ
ดร.ซาราห์ ชิฟฟลิง ผู้เชี่ยวชาญด้านห่วงโซ่อุปทานวัคซีน จากมหาวิทยาลัยจอห์น มัวร์ ในเมืองลิเวอร์พูลของอังกฤษ ชี้ว่า ห่วงโซ่อุปทานด้านเภสัชกรรมนั้นมีความซับซ้อนเป็นพิเศษ เนื่องจากแม้ความต้องการวัคซีนทั่วโลกจะสูง แต่ผู้ผลิตและจัดหาวัคซีนหน้าใหม่จะไม่สามารถตอบสนองต่อกำลังซื้อได้รวดเร็วพอเหมือนกับอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกทั้งยังไม่ค่อยได้รับความเชื่อถือ
อัตราฉีดวัคซีนให้ประชาชนอินเดีย และโอกาสบรรลุเป้าหมาย
อินเดียเริ่มต้นโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนตั้งแต่กลางเดือนมกราคม และจนถึงวันนี้สามารถฉีดให้ประชาชนได้มากกว่า 210 ล้านโดสแล้ว ซึ่งในช่วงต้นเดือนเมษายน อัตราการฉีดวัคซีนให้ประชาชนอินเดียสูงถึงวันละ 3.6 ล้านคน ก่อนที่จะค่อยๆ ลดลงและเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า หากอัตราการฉีดวัคซีนเป็นไปในลักษณะนี้อาจต้องใช้เวลาถึง 18 เดือน กว่าจะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชากรผู้ใหญ่ทั้งประเทศตามที่่ตั้งเป้า
ขณะที่ปัญหาขาดแคลนวัคซีน ทำให้ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาทางการต้องระงับการส่งออกวัคซีน ซึ่งสถาบันเซรุ่มยืนยันว่าจะไม่มีการส่งออกวัคซีนอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้ และบางรัฐ เช่น มหาราษฏระ และเดลี เปิดเผยว่า จะระงับการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนในกลุ่มอายุ 18-44 ปี เพื่อฉีดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงก่อน ทำให้มีแนวโน้มที่การฉีดวัคซีนแก่ผู้ใหญ่ทั้งประเทศอาจไม่สำเร็จตามเป้าหมาย
ภาพ: Photo by Sanchit Khanna/Hindustan Times via Getty Images
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: