ในที่สุดอินเดียก็เปิดปฏิบัติการทางทหารชื่อ Operation Sindoor ในดินแดนปากีสถาน เพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายซึ่งสังหารพลเรือนไป 28 คนในแคชเมียร์ส่วนที่อินเดียยึดครอง โดยอินเดียเชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้ายในปากีสถาน และส่งผลให้ทั้งสองประเทศส่งกำลังทหารเข้าเผชิญหน้ากันมาตั้งแต่วันที่ 22 เมษายนเป็นต้นมา
การโจมตีของอินเดียเพื่อตอบโต้นั้นเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะปากีสถานซึ่งเตรียมการอย่างดี ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าทั้งอินเดียกับปากีสถานต่างรู้มือกันอย่างดี เพราะทั้งสองฝ่ายทำสงครามกันมาหลายครั้งแล้ว แม้ว่าจะดูเหมือนหลายครั้งอินเดียจะทำได้ดีกว่าในการรบ แต่สำหรับสงครามทางอากาศนั้น ปากีสถานดูเหมือนจะมีประวัติที่ดีกว่า โดยครั้งล่าสุดที่มีการปะทะกันทางอากาศคือในปี 2019 ที่ปากีสถานประสบความสำเร็จในการโจมตี และยิงเครื่องบินขับไล่ MiG-21 ของอินเดียตก 1 ลำโดยใช้ F-16
สำหรับในครั้งนี้ อินเดียออกแบบปฏิบัติการโดยมุ่งโจมตีค่ายฝึกผู้ก่อการร้ายของกลุ่ม Lashkar-e-Tayyiba และ Jaish-e-Mohammed เท่านั้น และหลีกเลี่ยงการโจมตีเป้าหมายที่เป็นของกองทัพปากีสถานเพื่อป้องกันการยกระดับความรุนแรง การโจมตีใช้เวลาราว 25 นาทีและประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก โดยมีเป้าหมายค่ายฝึกของกลุ่มก่อการร้ายหลายจุดที่ถูกโจมตี แม้ว่าปากีสถานจะกล่าวว่ามีพลเรือนเสียชีวิตจากการโจมตีของอินเดียเป็นจำนวนมากก็ตาม
ยังไม่ชัดเจนว่าอินเดียใช้อากาศยานกี่ลำในการโจมตี แม้คาดว่าจะมีจำนวนมากหลายสิบลำก็ตาม โดยชุดปฏิบัติการหลักได้ใช้เครื่องบินขับไล่แบบ Rafale ที่ผลิตโดย Dassault Aviation ของฝรั่งเศส ซึ่งอินเดียจัดหาเข้าประจำการมาไม่นานมานี้ในการโจมตี โดยอินเดียใช้ Rafale ยิงจรวดร่อน SCALP-EG ที่มีระยะยิงไกลกว่า 550 กิโลเมตรเข้าใส่เป้าหมายที่อยู่ลึกเข้าไปในเขตแดนของปากีสถาน ส่วนเป้าหมายที่อยู่ในแนวชายแดนจะใช้ระเบิดร่อน ASSM Hammer ซึ่งมีพิสัยยิงไกล 70 กิโลเมตรและมีหัวรบขนาด 550 ปอนด์ในการโจมตี
นอกจากนั้นอินเดียยังใช้เครื่องบินขับไล่แบบ Su-30MKI ของ Sukhoi ประเทศรัสเซียและบริษัท Hindustan Aeronautics Limited ของอินเดียซื้อสิทธิบัตรมาทำการผลิต โดยยิงจรวด BrahMos ซึ่งเป็นจรวดความเร็วเหนือเสียง (มัค 3) ที่มีขนาดใหญ่ มีหัวรบน้ำหนักราว 440-660 ปอนด์ ทำการยิงจากอากาศยานได้ไกลราว 500 กิโลเมตร และเป็นจรวดที่ DRDO ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยทางทหารของกระทรวงกลาโหมอินเดียร่วมกับ NPO Mashinostroyeniya ของรัสเซียในการออกแบบ และผลิตโดย BrahMos Aerospace Private Limited ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของทั้งสองฝ่าย โดยการยิงอาวุธปล่อยเกิดขึ้นในเขตแดนของอินเดีย เนื่องจากอาวุธปล่อยเหล่านี้สามารถยิงได้ที่ระยะไกล
และยังมีการโจมตีโดยการใช้โดรนต่อเป้าหมายในเมืองลาฮอร์อีกด้วย ซึ่งการโจมตีจากทั้งสามองค์ประกอบหลักประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดที่อินเดียไม่ต้องการโจมตีเป้าหมายทางทหารของปากีสถานเพราะไม่ต้องการยกระดับความขัดแย้งก็เป็นข้อจำกัดที่ส่งผลเสียต่ออินเดียเองในระดับหนึ่ง เนื่องจากระบบป้องกันภัยทางอากาศของปากีสถานยังทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรดาร์ตรวจการณ์ต่างๆ และจรวดต่อสู้อากาศยานซึ่งตั้งรอต้อนรับกำลังของอินเดียอยู่ การที่เรดาร์ของปากีสถานยังทำงานได้อย่างเต็มที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ฝ่ายตั้งรับอย่างปากีสถานสามารถตรวจจับกลุ่มอากาศยานของอินเดียที่บินเข้าใกล้ชายแดนเพื่อปฏิบัติภารกิจ และทำให้ปากีสถานสามารถส่งเครื่องบินขับไล่ของตนขึ้นสกัดกั้นและปฏิบัติภารกิจตอบโต้ได้อย่างทันท่วงที
แม้ปากีสถานจะมีเครื่องบินขับไล่หลายแบบ แต่คาดว่าเครื่องบินขับไล่ที่มีบทบาทมากในครั้งนี้ก็คือ FC-1 หรือ JF-17 ซึ่งโรงงาน Pakistan Aeronautical Complex ของกระทรวงกลาโหมปากีสถานพัฒนาร่วมกับ Chengdu Aircraft Corporation ของจีนและทำการผลิตในปากีสถาน นอกจากนั้นปากีสถานยังเพิ่งจัดหา J-10CE จาก Chengdu Aircraft Corporation ของจีนเข้ามาประจำการเช่นกัน
และกลายเป็นว่าตามคำกล่าวอ้างของกองทัพปากีสถานนั้น J-10CE เป็นองค์ประกอบสำคัญในการตอบโต้การโจมตีของอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จรวด PL-15E ซึ่งเป็นจรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศพิสัยไกลรุ่นใหม่ของจีน ที่แม้ว่าระยะยิงจะลดลงมาจาก 300 กิโลเมตรเหลือ 150 กิโลเมตรเพราะเป็นรุ่นส่งออก แต่ก็ถือว่ามีระยะยิงไกลเทียบเท่าหรือมากกว่าจรวดอากาศสู่อากาศชั้นนำหลายแบบของโลก และติดตั้งเรดาร์ AESA ที่ส่วนหัวของจรวดเพื่อช่วยในการค้นหาเป้าหมายด้วยตัวเองและยังเพิ่มความสามารถในการต่อต้านการรบกวนด้วยสงครามอิเล็กทรอนิกส์ของเครื่องบินเป้าหมาย
ซึ่งเจ้าหน้าที่ของปากีสถานออกมาประกาศว่า J-10CE ได้ยิงทำลายเครื่องบินขับไล่ Rafale ของอินเดีย 3 ลำ, Su-30MKI 1 ลำ และ MiG-29 อีก 1 ลำ ทั้งหมดเป็นผลงานของ J-10CE และจรวด PL-15E ซึ่งยังแย้งกับคำกล่าวอ้างของอินเดียที่บอกว่าอินเดียไม่ได้สูญเสียเครื่องบินขับไล่แบบใดไป แต่ภาพที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ต และคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของฝรั่งเศสระบุว่าอินเดียสูญเสีย Rafale อย่างน้อย 1 ลำ แม้ว่าจะยังไม่แน่ชัดว่าถูกยิงตกโดยเครื่องบินขับไล่ของปากีสถาน หรือจรวดต่อสู้อากาศยานของปากีสถาน หรือประสบอุบัติเหตุตกเอง แต่ก็มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นการถูกยิงตก
ซึ่งถ้าถูกยิงตกจริง โดยเฉพาะถูกยิงจากเครื่องบิน J-10CE ของจีน ก็จะถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากทั่วโลกให้การยอมรับ Rafale ของฝรั่งเศสในฐานะเครื่องบินขับไล่ยุค 4.5 ที่ดีที่สุด ในประเทศที่ไม่สามารถจัดหาเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 เข้าประจำการได้ ก็มักจะเปลี่ยนมาจัดหา Rafale แทนเพราะประสิทธิภาพไม่ห่างกันมาก โดยเฉพาะจุดขายคือระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ SPECTRA ซึ่งมีขีดความสามารถสูงในการป้องกันตนเองจากการโจมตีทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือรบกวนสัญญาณระบบอาวุธต่างๆ ที่อาจทำอันตรายต่อตัวเครื่องได้ แต่กลายเป็นถูก J-10CE ของจีนที่เข้าสู่สนามรบในครั้งนี้เป็นครั้งแรกทำลายได้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากพอสมควรเลยทีเดียว แม้จะมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ต้องพิจารณา เช่น สภาวะแวดล้อมของการรบ ความชำนาญของนักบิน หรือการวางแผนการปฏิบัติภารกิจ
ทั้งนี้ ตามคำกล่าวอ้างของกองทัพอากาศปากีสถาน การรบทางอากาศใน Operation Sindoor ถือเป็นการรบทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของโลก เพราะมีเครื่องบินรบกว่า 125 ลำของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมในการรบ แม้ว่าเครื่องบินรบแต่ละฝ่ายจะบินอยู่ในเขตแดนของตนเอง แต่ก็ใช้การยิงจรวดโจมตีเครื่องบินรบของอีกฝ่ายอย่างเข้มข้น แม้ว่าข้อมูลที่ปรากฏตอนนี้จะยังเต็มไปด้วยคำกล่าวอ้างและข้อมูลที่ต้องตรวจสอบ แต่ก็ปรากฏข้อเท็จจริงในหลายส่วนเช่นกัน และเมื่อเวลาผ่านไปเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏออกมามากขึ้น สงครามทางอากาศใน Operation Sindoor จะเป็นกรณีศึกษาที่ดีให้กับกองทัพอากาศทั่วโลกอย่างแน่นอน
ภาพ: Reuters, xbrchx via ShutterStock