×

อินเดียมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ถอดบทเรียนความเป็นผู้นำที่ล้มเหลวของ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย

โดย THE STANDARD TEAM
06.05.2021
  • LOADING...
อินเดียมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ถอดบทเรียนความเป็นผู้นำที่ล้มเหลวของ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย

วันนี้ (6 พฤษภาคม) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอย่างอินเดียยังคงวิกฤต ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดของ JHU CSSE ระบุว่า มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงถึง 3.82 แสนราย ภายในวันเดียว เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตสูงเป็นสถิติใหม่ที่ 3,780 รายภายในวันเดียว

 

โรงพยาบาลหลายแห่งในอินเดียยังคงประสบปัญหาขาดแคลนเตียง ยารักษา และออกซิเจน เพื่อรองรับกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้หลายประเทศจะเริ่มทยอยส่งความช่วยเหลือแล้วก็ตาม นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของระบบสาธารณสุขในอินเดีย โดยอินเดียมีผู้ติดเชื้อสะสมทะลุ 20 ล้านรายแล้ว เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นับเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2.26 แสนราย มากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกาและบราซิล

 

อินเดียมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร แม้จะมีหลายปัจจัยที่ทำให้วิกฤตการระบาดของโควิด-19 ในอินเดียลุกลามจนถึงปัจจุบัน แต่หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือความเป็นผู้นำของ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย กับบทเรียนความผิดพลาดที่ไม่ควรเดินตาม

 

ภาพที่ 1: ประชาสัมพันธ์ตัวเองในช่วงเวลาวิกฤต

 

 

ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 นเรนทรา โมดี กระตือรือร้นที่จะให้ชื่อและภาพของตนไปเกี่ยวข้องกับแง่มุมเชิงบวกของมาตรการรับมือการแพร่ระบาด ยกตัวอย่างเช่น ชาวอินเดียที่ได้รับการฉีดวัคซีนจะได้รับใบรับรองที่มีใบหน้าของเขาปรากฏอยู่

 

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ กองทุนการกุศลที่รวบรวมเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้นใช้ชื่อว่า PM CARES Fund ซึ่งย่อมาจาก Prime Minister’s Citizen Assistance and Relief in Emergency Situations Fund หรือกองทุนช่วยเหลือพลเมืองและบรรเทาทุกข์ในสถานการณ์ฉุกเฉินของนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังมีภาพของโมดีปรากฏเด่นหราบนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของกองทุน

 

ด้วยการที่ชื่อและภาพของโมดีไปปรากฏเชื่อมโยงกับมาตรการเหล่านี้ ประกอบกับยอดผู้ติดเชื้อในการระบาดรอบแรกไม่เลวร้ายรุนแรงอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนหวาดกลัว และการที่อินเดียสามารถผลิตวัคซีนได้เองในประเทศ จึงดูเหมือนว่าการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของอินเดียจะเป็นชัยชนะของโมดีในแง่ของการประชาสัมพันธ์ตัวเอง 

 

ยิ่งไปกว่านั้นอินเดียยังวางตำแหน่งตัวเองเป็นผู้ช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ด้วยการส่งออกวัคซีนมากกว่า 66 ล้านโดส แทนที่จะเป็นประเทศที่รอคอยความช่วยเหลือ

 

“อินเดียช่วยโลก ช่วยมนุษยชาติจากโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ด้วยการควบคุมโคโรนาไวรัสอย่างมีประสิทธิภาพ” โมดีกล่าวในการประชุม World Economic Forum เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา

 

เนื่องจากประชาชนจำนวนมากในอินเดียรู้สึกว่าการแพร่ระบาดนั้นสิ้นสุดลงแล้ว การเข้ารับการฉีดวัคซีนจึงช้ากว่าที่คาดไว้ และจากข้อเท็จจริงที่ว่าประมาณ 300 ล้านคนของประชากร 1.3 พันล้านคนในอินเดีย เป็นผู้ที่ไม่รู้หนังสือ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาอาจไม่ทราบว่ากำลังมีอะไรเกิดขึ้นกับพวกเขาบ้าง 

 

“คุณไม่สามารถตำหนิคนที่คิดว่า ‘รัฐบาลอาจจะรู้ดีที่สุด บางทีสิ่งต่างๆ อาจกลับมาเป็นปกติ บางทีเราควรออกไปใช้ชีวิตตามปกติของเรา’” ประทีป ทาเนจา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเอเชียจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และเป็นนักวิจัยของสถาบันอินเดีย-ออสเตรเลีย กล่าว

 

ภาพที่ 2: ประกาศชัยชนะเร็วเกินไป

 

 

แท้จริงแล้วการแพร่ระบาดในอินเดียยังห่างไกลจากคำว่าสิ้นสุด เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ตามพรรค BJP ยังคงอ้างว่าอินเดีย ‘เอาชนะโควิด-19 ภายใต้ความเป็นผู้นำที่มีความสามารถ อ่อนไหว มุ่งมั่น และมีวิสัยทัศน์’ ของโมดี

 

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม อินเดียรายงานตัวเลขผู้ป่วยใหม่รายวันประมาณ 18,000 ราย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า อินเดียกำลังอยู่ในช่วงท้ายของการต่อสู้กับโควิด-19 และเมื่อวันที่ 30 มีนาคม หรือหนึ่งวันก่อนที่ทางการจะรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 81,000 รายในวันเดียว หรรษ วรรธน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอินเดียกล่าว “สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุม”

 

ท่ามกลางเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่ตรวจพบในต่างประเทศ นักระบาดวิทยาในอินเดียเชื่อว่าการระบาดระลอกที่ 2 ในประเทศกำลังจะมาถึง อย่างไรก็ดี รามนัน ลักษมีนรายัน นักเศรษฐศาสตร์และนักระบาดวิทยาของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในนิวเดลี กล่าวว่า แม้การระบาดระลอกสองเป็นสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้ทุกคนประหลาดใจ 

 

ประทีป ทาเนจา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเอเชีย กล่าวว่า “โมดีนิ่งนอนใจ ถึงขั้นหยิ่งผยองที่คิดว่าอินเดียประสบความสำเร็จ ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่มีระบบสุขภาพเข้มแข็งกว่ามากกำลังดิ้นรนต่อสู้กับโรคนี้”

 

ภาพที่ 3: ไม่ล็อกดาวน์เพราะกลัวเสียคะแนนเสียง

 

 

ในขณะที่ยอดผู้ป่วยของอินเดียพุ่งขึ้นไม่หยุด โมดีกลับยังคงนิ่งเงียบเสียเป็นส่วนใหญ่ และไม่มีการประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศครั้งที่ 2 อย่างที่หลายคนคาดหวังว่าจะเกิดขึ้น 

 

“ประชาชนคาดหวังว่ารัฐบาลของพวกเขาจะทำให้พวกเขามั่นใจได้ว่ารัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบและดูแลสิ่งต่างๆ …แต่รัฐบาลเกือบจะไม่ลงมือทำอะไรเลย” ประทีป ทาเนจา กล่าว “ตอนนี้ที่อินเดียกำลังเผชิญกับวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดในช่วงชีวิตของผม นายกรัฐมนตรีอยู่ที่ไหน”

แต่ถึงแม้จะมีอำนาจอยู่ในมือ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าโมดียังคงกังวลว่าเขาอาจจะสูญเสียคะแนนสนับสนุน หากมีการประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศอีกครั้ง

 

ก่อนหน้าการระบาดระลอกล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2020 โมดีประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งที่ในเวลานั้นอินเดียรายงานตัวเลขผู้ป่วยเพียง 519 ราย มาตรการล็อกดาวน์ครั้งนั้นส่งผลให้รถประจำทางและรถไฟหยุดให้บริการ ห้ามเดินทางข้ามรัฐ และประชาชนไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้าน เว้นแต่จะออกไปซื้ออาหารหรือของใช้จำเป็น บางคนถึงกับกล่าวว่ามาตรการล็อกดาวน์ของอินเดียเป็นการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดที่สุดในโลก

 

การล็อกดาวน์ดังกล่าวกินเวลาหลายเดือนในบางพื้นที่ของประเทศ แม้ว่าในที่สุดแล้วยอดติดเชื้อจะลดลงหลังจากถึงจุดสูงสุดในเดือนกันยายน แต่การล็อกดาวน์ที่ยาวนานส่งผลกระทบต่อแรงงานหลายล้านคนในอินเดียที่ได้รับค่าแรงเป็นรายวัน เศรษฐกิจของประเทศหดตัวลงเป็นประวัติการณ์ 24% ในไตรมาสที่ 2 และ GDP หดตัวโดยรวม 6.9% ในปีที่แล้ว

 

เมื่อมาถึงคราวระบาดรอบสองที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ โมดีสนับสนุนให้กำหนด ‘เขตควบคุมขนาดเล็ก’ (Micro Containment Zone) แทนการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นการบังคับใช้ข้อจำกัดต่างๆ ในพื้นที่ที่มีความน่ากังวล และขึ้นอยู่กับแต่ละรัฐที่จะตัดสินใจว่าจะบังคับใช้เมื่อใดและอย่างไร ซึ่งจนถึงขณะนี้มีอย่างน้อย 8 รัฐและดินแดนของอินเดียที่ประกาศล็อกดาวน์บางรูปแบบ ตั้งแต่เคอร์ฟิวในรัฐกรณาฏกะและคุชราต ไปจนถึงการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบในนิวเดลี

 

ราจีฟ ซาดานันดัน อดีตข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขของรัฐเกรละ และซีอีโอของ Health Systems Transformation Platform ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร กล่าวว่า สาเหตุที่โมดีไม่ประกาศล็อกดาวน์นั้นเข้าใจง่ายมาก นั่นคือ ‘ครั้งที่แล้วการล็อกดาวน์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นความล้มเหลว’ เพราะมาตรการดังกล่าวสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล และสร้างความเดือดร้อนให้กับคนยากจน

 

ภาพที่ 4: ขาดการเตรียมความพร้อม

 

 

ในขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ของอินเดียค่อนข้างน่าเบาใจเมื่อช่วงต้นปีนี้ โมดีควรเตรียมประเทศให้พร้อมสำหรับการสู้รบกับโควิด-19 ระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ด้วยการอุดช่องว่างด้านบริการสุขภาพ

 

ประทีป ทาเนจา กล่าวว่า รัฐบาลประมาทที่ไม่เตรียมรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ ทั้งที่มีบทเรียนจากประเทศอื่นๆ ที่มีระบบบริการสุขภาพที่ดีกว่า

 

ทั้งสหรัฐฯ และอังกฤษต่างก็ถูกโควิด-19 เล่นงานในระลอกที่ 2 หนักกว่าระลอกแรก ถึงแม้จะมีคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญแล้วก็ตาม ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาการค้าของทำเนียบขาว กล่าวเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า สหรัฐฯ เตรียมรับมือการระบาดระลอกที่ 2 ด้วยการเติมอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือให้พร้อม 

 

แม้สื่อท้องถิ่นในอินเดียรายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้เตือนถึงการขาดแคลนออกซิเจนในเดือนเมษายนปีที่แล้วและอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่ดำเนินการใดๆ อย่างไรก็ตามการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการขาดความพร้อมของรัฐบาลอินเดียนั้นไม่ได้พุ่งเป้าไปที่โมดีเพียงคนเดียว แต่ยังหมายรวมถึงระบบสาธารณสุขของอินเดียที่หยุดนิ่งมานานหลายทศวรรษก่อนที่โมดีจะเข้ามารับตำแหน่ง

 

ซาดานันดัน อดีตเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐเกรละ กล่าวว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของอินเดียไม่มีระบบเฝ้าระวังที่เพียงพอในการติดตามการระบาด แต่สำหรับเขานั่นเป็นความล้มเหลวในระดับรัฐไม่ใช่รัฐบาลกลาง เนื่องจากสุขภาพเป็นปัญหาของรัฐ “ผมไม่แปลกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเราเคยเห็นภาพแบบนี้มาแล้วจากการแพร่ระบาดหลายครั้งก่อนหน้านี้”

 

อย่างไรก็ตามนักวิจารณ์กล่าวว่า แม้ผู้นำของแต่ละรัฐมีส่วนที่จะต้องรับผิด แต่หากโมดีจะรับเอาความดีความชอบสำหรับชัยชนะในการคุมการระบาดรอบแรกในประเทศ เขาก็ต้องรับผิดชอบต่อความล้มเหลวในการแพร่ระบาดระลอกสองด้วยเช่นกัน

 

ภาพที่ 5: เป็นแบบอย่างที่ล้มเหลว

 

 

เมื่อวันที่ 17 เมษายน ก่อนการเลือกตั้งระดับรัฐ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ซึ่งไม่สวมหน้ากากอนามัย กล่าวกับบรรดาผู้สนับสนุนที่มาร่วมชุมนุมฟังการปราศรัยของเขาว่า “ผมไม่เคยเห็นฝูงชนมาฟังการปราศรัยมากเช่นนี้มาก่อน”

 

การชุมนุมปราศรัยทางการเมืองยังคงจัดขึ้น ทั้งๆ ที่อินเดียกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านสาธารณสุขและมนุษยธรรม โดยในวันดังกล่าวอินเดียมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 261,000 ราย ซึ่งมากกว่าทุกประเทศในโลก

 

ความเป็นที่นิยมชมชอบและชื่อเสียงที่ไม่ธรรมดาของโมดีนั้นหมายความว่าการกระทำของเขามีอำนาจและมีอิทธิพลต่อคนจำนวนมาก ดังนั้นการมองข้ามความเสี่ยงของการแพร่ระบาดอาจส่งผลต่อการกระทำของผู้ติดตามหลายล้านคนทั่วประเทศ และนั่นจึงเป็นสาเหตุให้เมื่อช่วงต้นปีนี้ผู้คนจำนวนมากในอินเดียเลิกสวมหน้ากากอนามัย และไม่มีใครสนใจที่จะปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอีกต่อไป

 

ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่ามหันตภัยโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศจะทำให้โมดีเสื่อมเสียชื่อเสียงลงหรือไม่ โดยขณะนี้ยังมีเวลาอีก 3 ปีก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า และโมดียังไม่มีผู้ท้าชิงที่เด่นชัดในตอนนี้

 

แต่ ประทีป ทาเนจา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเอเชีย คาดหวังว่าจะได้เห็นประชาชนชาวอินเดียประเมินรัฐบาลของโมดีเสียใหม่

 

“เราไม่สามารถกล่าวโทษใครเพียงคนเดียวสำหรับหายนะที่เกิดขึ้นกับอินเดีย แต่ถ้าคุณเป็นนายกรัฐมนตรี ความรับผิดชอบหลักก็ต้องตกอยู่กับคุณแน่นอนอยู่แล้ว” เขากล่าว

 

บาร์คา ดัตต์ คอลัมนิสต์ของ The Washington Post ซึ่งพ่อของเธอเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เมื่อไม่กี่วันก่อน เปิดเผยว่า คำพูดสุดท้ายของพ่อของเธอคือ “ผมสำลัก โปรดรักษาผมด้วย” เธอรู้สึกโกรธและถูกทรยศ ในขณะที่ผู้คนทั่วอินเดียกำลังต่อสู้กับไวรัส แต่นักการเมืองกลับยังคงเดินหน้าจัดการชุมนุมปราศรัยหาเสียง ดัตต์อธิบายถึงรัฐบาลของโมดีว่า ‘อำมหิต’ ‘หูหนวก’ และ ‘ไม่ยอมรับรู้อะไรเลย’

 

อ่านต่อ: 

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising