×

บทสรุปเลือกตั้งอินเดีย ชัยชนะของโมดี และความท้าทายที่ต้องจับตา

29.05.2019
  • LOADING...
india election 2019 Narendra Modi

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • พรรคบีเจพีได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไปของอินเดีย และเมื่อรวมกับคะแนนเสียงของพรรคพันธมิตรจะทำให้มีเก้าอี้รวมถึง 352 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคบีเจพี อาจเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพสูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ของพรรค
  • นักวิเคราะห์มองว่า การที่นเรนทรา โมดี แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อเหตุการณ์ระเบิดในแคชเมียร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และชิงโจมตีข้ามไปยังฝั่งปากีสถาน พร้อมกับแสดงจุดยืนไม่ประนีประนอม เป็นการปลุกกระแสชาตินิยม และปลุกปั่นความขัดแย้งกับปากีสถานเพื่อเอาใจกลุ่มชาตินิยมฮินดูสุดโต่ง ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคบีเจพี
  • ที่ผ่านมาการเมืองอินเดียไม่สามารถแยกออกจากการเมืองของวรรณะ แม้อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคบีเจพีจะยืนอยู่บนแนวคิดอนุรักษนิยมทางศาสนาฮินดู แต่ในหมู่ผู้นับถือศาสนาฮินดูนั้นมักมีแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันระหว่างวรรณะบนและวรรณะล่าง ดังนั้นโจทย์ใหญ่ก็คือทำอย่างไรที่จะรักษาเสียงของวรรณะบน และดึงคะแนนจากวรรณะล่างมาให้ได้
  • อนาคตอินเดียภายใต้การนำของโมดีอีก 5 ปีต่อจากนี้ก็คงไม่ง่าย และมีหลายเรื่องที่ท้าทายและน่าจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาความเหลี่ยมล้ำภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ที่แม้จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีลักษณะที่กระจุกตัว

การเลือกตั้งในประเทศอินเดียซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้เสร็จสิ้น โดยใช้เวลามากกว่า 1 เดือน หรือตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน ถึง 19 พฤษภาคม และมานับคะแนนกันในวันที่ 23 พฤษภาคม ผลการนับคะแนนปรากฏว่า พรรคภารติยะ ชนะตะ หรือ บีเจพี (Bharatiya Janata Party: BJP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย โดยเอาชนะพรรคเก่าแก่อย่างพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย (Indian National Congress Party: INC) อย่างท้วมท้น ทำให้นเรนทรา โมดี ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สอง

 

การเลือกตั้งในอินเดียใช้ระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ไม่ใช้ระบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ หมายความว่าการชิงชัยวัดกันหมัดต่อหมัด เขตต่อเขต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนต้องลงแข่งขันในเขตด้วยตนเอง ในการเลือกตั้งปี 2019 เพื่อชิงชัย 543 เก้าอี้ ปรากฏว่าพรรคบีเจพีคว้าชัยชนะ 303 เขต เกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาหรือ 272 ที่นั่ง เป็นชัยชนะเบ็ดเสร็จที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ เมื่อรวมพรรคพันธมิตรของบีเจพีอีก 10 พรรคการเมืองในชื่อ ‘เอ็นดีเอ’ (National Democratic Alliance: NDA) พรรคบีเจพี และพรรคพันธมิตรจะมีเก้าอี้รวมถึง 352 ที่นั่งเลยทีเดียว ทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคบีเจพีอาจเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพสูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ของพรรค

 

ส่วนพรรคการเมืองคู่แข่งของบีเจพี คือพรรคคองเกรสภายใต้การนำของราหุล คานธี แพ้การเลือกตั้งแบบขาดลอย โดยชนะเพียง 52 เขต แม้จะได้เก้าอี้เพิ่มในครั้งนี้อีก 8 ที่นั่งก็ตาม เมื่อรวมเก้าอี้ของพรรคคองเกรสและพรรคพันธมิตรอีก 9 พรรคภายใต้ชื่อกลุ่มพันธมิตร ‘ยูพีเอ’ (United Progressive Alliance: UPA) ก็จะมีเก้าอี้รวมกันเพียง 91 ที่นั่ง

 

ก่อนการเลือกตั้งแม้จะมีการคาดการณ์กันว่าพรรคบีเจพีจะยังสามารถกำชัยชนะได้อีกสมัย แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าชัยชนะสมัยที่สองจะถล่มทลายเพียงนี้ แม้จะถูกฝ่ายค้านนำโดยพรรคคองเกรสโจมตีเรื่องนโยบายเศรษฐกิจและการคอร์รัปชัน อีกทั้งผลการเลือกตั้งระดับรัฐก่อนหน้าการเลือกตั้งระดับชาติ ปรากฏว่าพรรคบีเจพีพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้แก่พรรคคองเกรสในหลายรัฐ แต่ท้ายที่สุดพรรคบีเจพีก็สามารถพลิกกลับมาชนะในการเลือกตั้งระดับชาติได้อย่างถล่มทลาย

 

หลายคนอาจสงสัยว่าเหตุใดพรรคบีเจพีถึงชนะได้อย่างถล่มทลาย ทั้งที่ก่อนหน้านี้กระแสความนิยมก็ตกลงไปมาก นโยบายหลายอย่างก็ทำไม่ได้ตามที่สัญญาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง นโยบาย ‘Make in India’ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจอินเดียเติบโตมากนัก อีกทั้งยังไม่สามารถให้ความช่วยเหลือเกษตรกรได้ตามที่หาเสียงไว้ แต่กระนั้นก็ตามจะพบว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้มีหลายปัจจัยที่เอื้อให้โมดี และพรรคบีเจพีกุมชัยชนะไว้ได้อีกครั้งอย่างท้วมท้น โดยอาจสรุปได้ ดังนี้

 

Narendra-Modi

 

1) ความชัดเจนของพรรคแนวร่วมของบีเจพี และความคลุมเครือของพรรคแนวร่วมฝ่ายตรงข้าม

ชัยชนะที่เด็ดขาดของพรรคแนวร่วมบีเจพี ที่เรียกว่า ‘เอ็นดีเอ’ นั้นเกิดจากความเป็นเอกภาพของพรรคแนวร่วมที่สนับสนุน นเรนทรา โมดี เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในฟากฝ่ายค้านนั้นกลับไม่มีความชัดเจนว่าใครจะเป็นแกนนำในการต่อสู้กับโมดี ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ขาดเอกภาพและเสียงแตกในที่สุด แม้ ราหุล คานธี จะเป็นตัวแทนของพรรคคองเกรสในการชิงชัย แต่ราหุลประสบปัญหาขาดการยอมรับจากพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ซึ่งกลับกลายเป็นการแย่งกันเสนอตัวตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นพรรคจานาตาดาล ที่เสนออดีตนายกรัฐมนตรี มามาตา บาเนอร์ญี พรรคบีเอสพีเสนอ มายาวาตี พรรคชาตินิยมคองเกรสเสนอชารัด พาวาร์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เห็นถึงความไร้เอกภาพ ประชาชนก็สับสนว่าจะเลือกใคร แล้วเลือกไปใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

 

2) ฝ่ายตรงข้ามเสียงแตก แย่งกันตัดแต้ม (เสี่ยงสูญพันธุ์)

แม้พรรคฝ่ายค้านจะพยายามสร้างภาพความเป็นปึกแผ่นก่อนการเลือกตั้ง แต่เมื่อเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งจริงเสียงกลับแตก พรรคฝ่ายค้านกลับแข่งขันกันเอง แย่งกันลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตที่ซ้ำซ้อน พรรคการเมืองขนาดกลางอย่างพรรคบีเอสพีและพรรคเอสพีร่วมมือกันในชื่อกลุ่มพันธมิตร เอาชนะการเลือกตั้งในรัฐอุตตรประเทศไปได้กว่า 15 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคคองเกรสได้เพียง 1 ที่นั่งเท่านั้น การแข่งขันกันเองระหว่างพรรคคองเกรสและพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ นี้ยังเกิดขึ้นในรัฐเกรละ และรัฐเวสต์เบงกอล ซึ่งพรรคคองเกรสแข่งกับพรรคฝ่ายซ้าย รัฐมัธยประเทศ และรัฐราชสถานที่พรรคคองเกรสแข่งกับพรรคบีเอสพี ขณะที่พรรคคองเกรสและพรรคเครือข่ายของตนคือพรรคชาตินิยมคองเกรสกลับแข่งกันเองในรัฐคุชราต การเดินเกมอย่างไร้ยุทธศาสตร์มีแต่นำไปสู่ความแตกแยกของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งถูกนำไปเปรียบเปรยจากนายกฯ โมดีว่า เสมือนน้ำกับน้ำมันที่แม้รวมกันแต่ไม่มีทางผสานกันได้

 

Narendra-Modi

 

3) การหาเสียงที่เน้นวิจารณ์ของพรรคคองเกรส กับนโยบายหาเสียงที่ตรงจุดและจับต้องได้ของบีเจพี

แทนที่พรรคคองเกรสและฝ่ายค้านจะมุ่งหาเสียงโดยนำเสนอนโยบายให้แก่ประชาชน แต่กลับไปเน้นการโจมตีกล่าวหาว่าโมดีทุจริตการจัดซื้อเครื่องบินรบ ส่วนนโยบายหลักของคองเกรสเรื่องสวัสดิการสังคม และประชานิยมที่ชูการจ่ายเงินรายเดือนให้แก่คนยากจนครัวเรือนละ 6,000 รูปี กลับนำเสนอช้าเพียงสองสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง ในขณะที่คู่แข่งคือพรรคบีเจพีที่ได้เปรียบจากการเป็นรัฐบาลมาก่อน เน้นต่อยอดผลงานเดิม และนำเสนอนโยบายใหม่ๆ

 

อีกทั้งรัฐบาลของโมดียังได้สร้างผลงานไว้พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการผลักเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ การผ่านกฎหมายหลายฉบับที่เอื้อต่อนักลงทุนภายนอก กฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีต่างๆ และจากมาตรการอื่นๆ ที่ทำให้อินเดียถูกจัดให้เป็น 1 ในประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เติบโตรวดเร็วที่สุด นอกจากนั้น ยังมีผลงานการพัฒนาถนนหนทาง โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค หรือการพัฒนาสุขอนามัยอื่นๆ อีกพอสมควร ดังนั้นการที่พรรคคองเกรสมุ่งแต่วิจารณ์โครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จของโมดี ในขณะที่มีหลายโครงการซึ่งประสบความสำเร็จและเข้าถึงประชาชน ประกอบกับการที่ไม่ค่อยนำเสนอนโยบายใหม่ๆ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่คนอินเดียเลือกสนับสนุนโมดีต่อ เพราะอย่างน้อยก็เห็นผลงาน และมีความคาดหวังว่าจะมีความต่อเนื่องในอีกสมัยหนึ่ง

 

การสื่อสารไปยังประชาชนได้อย่างชัดเจนและตรงจุด คือจุดเด่นของนายกฯ โมดี ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้เขานำพรรคบีเจพีชนะการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2014 ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้นายกฯ โมดีออกนโยบาย เช่น สร้างห้องน้ำ มอบถังแก๊สหุงต้ม สร้างบ้าน มอบเงินสำหรับเริ่มธุรกิจ เสนอหลักประกันสุขภาพแก่คนยากจน สร้างถนน ซึ่งแม้ดูเป็นนโยบายพื้นๆ ธรรมดา แต่กลับมีประสิทธิภาพเนื่องจากรู้จักขายให้ตรงใจผู้บริโภคนั่นเอง

 

4) นโยบายความมั่นคงกับการปลุกกระแสชาตินิยมอิงศาสนา ต่อต้านปากีสถาน ต่อต้านมุสลิม ก่อนเลือกตั้ง

เป็นที่ชัดเจนว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคบีเจพีได้หยิบยกเรื่องความมั่นคงแห่งชาติขึ้นมาเป็นแคมเปญใหญ่ เหตุระเบิดที่แคชเมียร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ซึ่งตามมาด้วยปฏิบัติการตอบโต้อย่างรุนแรงและรวดเร็ว โดยอินเดียได้ส่งเครื่องบินรบรุกล้ำน่านฟ้าปากีสถานเข้าไปถล่มฐานที่มั่นกลุ่มก่อการร้ายเจอีเอ็ม ซึ่งโมดีอ้างว่าอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายในแคชเมียร์ พรรคบีเจพีนำผลงานในการตอบโต้กลุ่มก่อการร้ายมาใช้ประโยชน์ในการหาเสียงอย่างชัดเจน คำพูดเผ็ดร้อนของโมดีอย่างเช่น “เข้าไปในบ้านพวกมันและทำลายให้สิ้นซาก” หรือ “เราจะตอบโต้ปืนเล็กด้วยปืนใหญ่” ทำให้คนอินเดียจำนวนมากถูกอกถูกใจ ท่าทีที่แข็งกร้าวเพื่อปกป้องผู้คนที่หวาดกลัวคือภาพลักษณ์ที่โมดีสื่อออกไป และประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น

 

การแสดงท่าทีแข็งกร้าว และชิงโจมตีข้ามไปยังฝั่งปากีสถาน พร้อมกับจุดยืนที่ไม่ประนีประนอม ถูกนักวิเคราะห์มองว่าโมดีกำลังปลุกกระแสชาตินิยม และปลุกปั่นความขัดแย้งกับปากีสถานเพื่อเอาใจกลุ่มชาตินิยมฮินดูสุดโต่ง ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคบีเจพี

 

จากเหตุการณ์นี้ยิ่งไปกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านมุสลิมในประเทศมากขึ้น จนนำไปสู่การทำร้ายคนมุสลิมในบางพื้นที่ แกนนำพรรคบีเจพีบางคนถึงขั้นปราศรัยหาเสียงว่า “ให้เลือกโมดี ถ้าคุณต้องการทำลายมุสลิม” นอกจากนี้ยังพยายามชี้ให้ผู้ฟังตื่นกลัวเกี่ยวกับประชากรมุสลิมที่กำลังเพิ่มมากขึ้น และอาจจะมีอำนาจขึ้นมาได้จากการเลือกตั้ง พร้อมกับข่มขู่ว่าจะบังคับให้มุสลิมนับถือศาสนาฮินดูด้วย แกนนำคนดังกล่าวยังปฏิเสธที่จะขอโทษสำหรับคำพูดข้างต้นด้วย

 

Narendra-Modi

 

5) ซื้อใจคนวรรณะล่าง สมานวรรณะต่าง ประสานคนทุกหมู่เหล่า

ประเทศอินเดียมีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 80 นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งยังคงมีประเพณีที่ถือชนชั้นวรรณะอย่างแพร่หลาย การเมืองอินเดียที่ผ่านมานั้นแยกไม่ออกจากการเมืองของวรรณะ แม้อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคบีเจพีจะยืนอยู่บนแนวคิดอนุรักษนิยมทางศาสนาฮินดู แต่ในหมู่ผู้นับถือศาสนาฮินดูนั้นมักมีแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันระหว่างวรรณะบนและวรรณะล่าง ดังนั้นโจทย์ใหญ่ก็คือทำอย่างไรที่จะรักษาเสียงของวรรณะบน และดึงคะแนนจากวรรณะล่างมาให้ได้

 

สำหรับวรรณะบนนั้นความสัมพันธ์ระหว่างโมดีและกลุ่มชาตินิยมฮินดูขวาจัดหรืออาร์เอสเอส มีลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน โมดีต้องการได้คะแนนนิยมในหมู่ชาวฮินดูจึงต้องสนับสนุนกลุ่มนี้ ในขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้ก็ต้องการการปกป้องจากนายกฯ โมดี ดังนั้นเมื่อมีเหตุการณ์กระทบกระทั่งทางศาสนา รัฐบาลโมดีมักนิ่งเฉย แต่บางครั้งก็เลือกจะเมินเฉยต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มอาร์เอสเอส เช่นในเรื่องความขัดแย้งเหนือมัสยิดบาบรีในเมืองอโยธยา ซึ่งโมดีเคยสัญญาในการเลือกตั้งปี 2014 ว่าจะสร้างวัดวาอารามแทนที่มัสยิดบาบรีที่เป็นข้อพิพาท

 

แต่เมื่อได้ชัยชนะเป็นรัฐบาลกลับไม่ดำเนินการใดๆ จนสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มอาร์เอสเอส โดยให้เหตุผลว่าต้องรอคำตัดสินของศาลสูงก่อน ในการเลือกตั้งครั้งนี้โมดียังคงยกนโยบายนี้มาหาเสียงเหมือนเดิม จึงมองได้ว่าโมดีไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งระหว่างศาสนาอย่างเปิดเผย เพราะจะทำให้เสียคะแนนเสียงจากกลุ่มอื่นๆ

 

นอกจากนั้นรัฐบาลบีเจพียังเอาใจชนวรรณะล่างหรือดาลิต โดยการออกเหรียญที่ระลึก 10 และ 125 รูปีในโอกาสครบรอบ 125 ปีการเสียชีวิตของอัมเบดการ์ผู้นำชาววรรณะล่าง เป็นต้น

 

ในถ้อยแถลงประกาศชัยชนะของโมดี เขาพยายามสื่อให้เห็นว่าเขาคือนายกรัฐมนตรีของคนทุกหมู่เหล่า ดังที่เขากล่าวว่า “หากมีใครชนะ ผู้นั้นคืออินเดีย ผู้นั้นคือระบบประชาธิปไตย ผู้นั้นคือระบบการเลือกตั้ง! นี่ไม่ใช่ชัยชนะของโมดี แต่คือชัยชนะของประชาชน ของความคาดหวัง ของมารดาที่ต้องการมีห้องน้ำ ของชาวนาผู้หิวโหย ของแรงงานผู้ไร้สิทธิ!”

 

6) คองเกรสกับวิกฤตผู้นำ และความเสื่อมคลายของพรรคเก่าแก่

นับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 1947 จุดแข็งของพรรคคองเกรสคือตัวผู้นำ และความเข้มแข็งของพรรค โดยเฉพาะตัวผู้นำที่มาจากตระกูลคานธี-เนห์รู ในฐานะกลุ่มชนชั้นนำที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย แต่จุดแข็งของคองเกรสในอดีตกลับกลายเป็นจุดอ่อนของคองเกรสในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อไม่สามารถหาผู้นำที่มีความสามารถ และมีภาวะผู้นำดังเช่นในอดีต และแกนนำคองเกรสเองก็ไม่สามารถทิ้งภาพของพรรคที่ถูกนำโดยคนในตระกูลเก่าแก่ลงไปได้

 

นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2014 วิกฤตที่คองเกรสเผชิญ คือวิกฤตในตัวผู้นำ วิกฤตที่คนในตระกูลคานธี-เนห์รูยังคงต้องการรักษาอำนาจ ในขณะที่คนนอกตระกูลดังกล่าวไม่สามารถขึ้นมามีอำนาจนำในพรรคได้จริง แกนนำที่คองเกรสพยายามชูตลอดการเลือกตั้งสองครั้งล่าสุดคือราหุล คานธี บุตรชายของราจีฟ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรี และโซเนีย คานธี อดีตประธานพรรคคองเกรส

 

ทั้งนี้แม้โดยชาติกำเนิดวงศ์ตระกูลของราหุลแทบจะปูทางให้เกิดมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งการเกิดมาในครอบครัวชนชั้นนำมีฐานะ เรียนจบจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เป็นนักการเมืองหนุ่ม บุคลิกดี หน้าตาดี แต่คุณสมบัติเหล่านี้อาจไม่ได้สร้างความได้เปรียบในปัจจุบัน เพราะปัญหาของเขาคือไม่สามารถเข้าถึงหัวใจของชาวบ้านได้อย่างแท้จริง ต่างจากมหาตมะ คานธี หรือเนห์รู ที่ต่อสู้เคลื่อนไหวร่วมกับคนทุกชนชั้นวรรณะ

 

ดังนั้นภาพจึงต่างจากโมดีราวฟ้ากับเหว ซึ่งเข้าถึงชาวบ้านรากหญ้าได้มากกว่าด้วยเส้นทางชีวิตที่ติดดินมาก่อน เขาเป็นอดีตเด็กขายชาริมถนน ที่เวลาขึ้นปราศรัยก็สื่อสารภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจจับต้องได้ (ลูกทุ่งๆ) และเต็มไปด้วยเทคนิคลีลาแพรวพราว กลายเป็นที่ถูกอกถูกใจของคนทั่วๆ ไป โมดีกลายเป็นนักปราศรัยที่คนชอบฟัง เป็นคนที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน เข้าใจปัญหาของชาวบ้าน และสามารถสร้างความหวังให้ชาวบ้านได้ ในขณะเดียวกันภาพของราหุลที่เดินผูกผ้าขาวม้าไปหาเสียงในชนบท กลับเป็นภาพที่คนมองว่าไม่ใช่ตัวตนของเขา แต่เพราะต้องการหาเสียงมากกว่า  

 

นอกจากนั้นความเป็นลูกหลานในตระกูลคานธี-เนห์รู ในยุคสมัยนี้ไม่ได้ทำให้คนรุ่นใหม่ และคนยากจนชนบทปลาบปลื้มอีกต่อไป คนกลุ่มนี้สนใจว่านโยบายของพรรคใดต่างหากที่จะทำให้เขามีกินมีใช้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

 

Narendra-Modi

 

บทสรุป แนวโน้ม และความท้าทายที่ต้องจับตา

อาจกล่าวได้ว่าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ของโมดีและพรรคบีเจพีมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ซึ่งหากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็คงไม่ชนะอย่างถล่มทลายแบบนี้ ปัจจัยดังกล่าวได้แก่ 1) นโยบายและผลงานของรัฐบาลโมดี 2) การปลุกกระแสชาตินิยมอิงศาสนา และ 3) ปัญหาของพรรคคองเกรส และความเป็นเอกภาพของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

 

อย่างไรก็ตาม อนาคตอินเดียอีก 5 ปีต่อจากนี้ภายใต้การนำของโมดีก็คงไม่ง่าย และมีหลายเรื่องที่ท้าทาย และน่าจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาความเหลี่ยมล้ำภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ที่แม้จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีลักษณะที่กระจุกตัว

 

รัฐบาลของโมดียังต้องสานต่องานที่เคยทำมาให้สำเร็จ และทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้เกษตรกรขึ้นสองเท่าภายในปี 2022 โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 175 กิโลวัตต์ภายในปี 2022 นโยบายสร้างบ้าน และห้องน้ำให้คนยากจน

 

ในทางเศรษฐกิจ พรรคบีเจพีมีเป้าหมายที่จะเพิ่มขนาดเศรษฐกิจของประเทศให้เป็น 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025 และจะทำให้อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับสามของโลกในปี 2030 โดยจะเพิ่มการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายปฏิรูปภาษีสินค้าและบริการภายใต้ชื่อแนวคิด GST 2.0 โดยปรับภาษีสินค้าและบริการให้มีอัตราเดียวกัน สานต่อนโยบาย Make in India ซึ่งต้องการสร้างอินเดียให้เป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ง่ายเลยที่จะทำให้ทันตามกรอบเวลาที่วางไว้

 

ในด้านสาธารณสุขพรรคบีเจพีจะสานต่อนโยบาย Ayushman Bharat Scheme โดยเพิ่มศูนย์สุขภาพ 150,000 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2022 และต้องการให้อินเดียเป็นประเทศปลอดวัณโรคภายในปี 2022 นโยบายดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างมากต่อคนอินเดียทั่วไป หากทำได้ก็จะเป็นผลงานชิ้นสำคัญของพรรคบีเจพี

 

ในทางความมั่นคง พรรคบีเจพีประกาศนโยบายเชิงรุกเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย อินเดียอาจต้องยกระดับการป้องกันภัยคุกคามมากขึ้น ซึ่งในสายตาของอินเดียมองว่ากลุ่มติดอาวุธในแคชเมียร์ที่มีฐานอยู่ในปากีสถานคือภัยคุกคามสำคัญของประเทศ หลายครั้งปฏิบัติการของกลุ่มเหล่านี้นำไปสู่ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศ แต่ก็ไม่เสมอไปเพราะในบางยุคสมัยทั้งสองประเทศก็ใช้การเจรจาร่วมมือกันเพื่อคลี่คลายปัญหา เช่น กระบวนการเจรจาสันติภาพที่ริเริ่มในสมัย อตัล พิหารี วัชปายี และพรรคบีเจพี เมื่อปี 2003 หรือหลังเหตุการณ์โจมตีอาคารรัฐสภาอินเดียเมื่อปี 2001 ตลอดจนเหตุการณ์ก่อการร้ายที่มุมไบ แม้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถานตึงเครียด แต่ทั้งสองประเทศก็มีการพูดคุยกัน และปากีสถานก็ให้ความร่วมมือกับอินเดียในการจัดการกับกลุ่มติดอาวุธภายในปากีสถาน รวมทั้งการส่งเจ้าหน้าที่มาให้ข้อมูลกับทางการอินเดีย ดังนั้น จึงขึ้นอยู่ที่ว่าโมดีจะใช้วิธีการไหนในการกำหนดความสัมพันธ์กับปากีสถาน

 

เงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้โมดีต้องรักษาระยะห่าง และความแข็งกร้าวกับปากีสถานมาโดยตลอด แม้นายกรัฐมนตรีอิมรอน ข่าน ของปากีสถานจะแสดงความต้องการที่จะพูดคุยปรับความสัมพันธ์กับอินเดีย หรือต้องการพบปะเจรจากับโมดี แต่ก็ถูกโมดีปฏิเสธมาตั้งแต่ต้น เพราะไม่ต้องการให้กลุ่มชาตินิยมฮินดูซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคบีเจพีไม่พอใจ ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถานในยุคของโมดีจึงยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่าจับตามองอย่างยิ่ง

 

ประเด็นสำคัญที่นักวิเคราะห์จำนวนมากพูดถึงชัยชนะครั้งนี้ของพรรคบีเจพี ว่าเป็นชัยชนะของฝ่ายฮินดูชาตินิยมขวาจัด ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยแนวฆราวาสนิยม และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอินเดียที่กำลังเดินหน้าสู่ความเป็นรัฐฮินดูนิยมมากขึ้น สวนทางกับจิตวิญญาณและรัฐธรรมนูญอินเดียที่แยกศาสนาออกจากการเมือง เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์บนความแตกต่างหลากหลายทางศาสนา

 

การเปลี่ยนแปลงในทิศทางเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อสถานการณ์ของชนกลุ่มน้อยในประเทศ สถานการณ์ความสัมพันธ์กับปากีสถาน และการเมืองโลกในกระแสขวาหันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X