×

หวั่นตามรอยอินเดีย ยอดติดโควิด-19 พุ่งหนักในหลายประเทศ เอเชียใต้-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

08.05.2021
  • LOADING...
หวั่นตามรอยอินเดีย ยอดติดโควิด-19 พุ่งหนักในหลายประเทศ เอเชียใต้-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในขณะที่อินเดียกำลังตกอยู่ท่ามกลางวิกฤตแพร่ระบาดรุนแรงของโรคโควิด-19 ระลอก 2 ซึ่งส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพุ่งสูงคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งของผู้ติดเชื้อทั่วโลก

 

แต่กรณีการระบาดที่เพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล ยังปรากฏให้เห็นในหลายประเทศรอบอินเดียแถบเอเชียใต้ ลามไปถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีทั้งไทย กัมพูชา และอินโดนีเซีย ที่กำลังเผชิญสถานการณ์ระบาดรุนแรงระลอกใหม่

 

“ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีรายงานกรณีการติดเชื้อรายใหม่สูงกว่า 2.7 ล้านราย และเสียชีวิตเกินกว่า 25,000 ราย เพิ่มขึ้น 19% และ 48% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า” องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ให้ข้อมูลเมื่อวันพุธที่ผ่านมา พร้อมชี้ว่าอินเดียกำลังเป็นหัวแถวขับเคลื่อนแนวโน้มการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นของโควิด-19

 

ซึ่งการระบาดระลอกใหม่ที่เพิ่มสูงอย่างรวดเร็วในหลายประเทศเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ กำลังก่อให้เกิดแรงกดดันมหาศาลต่อระบบสาธารณสุขและมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์และยารักษา ขณะที่ความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้บางประเทศต้องร้องขอให้นานาชาติเร่งส่งความช่วยเหลือฉุกเฉิน 

 

โดยสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies: IFRC) แถลงเตือนเมื่อวันพุธ (5 พฤษภาคม) ว่าต้องมีการเร่งดำเนินการทันที เพื่อยับยั้งโศกนาฏกรรมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในเอเชีย

 

“เราจำเป็นต้องดำเนินการตอนนี้และเราจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร็ว เพื่อให้มีความหวังในการรับมือหายนะของมนุษย์ครั้งนี้ ไวรัสตัวนี้ไม่เคารพเขตพรมแดนและสายพันธุ์ต่างๆ ของไวรัส กำลังอาละวาดไปทั่วเอเชีย” Alexander Matheou ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ IFRC ระบุในแถลงการณ์

 

สำหรับประเทศแถบเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ที่สถานการณ์ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าไว้วางใจ มีรายงานจาก CNN สรุปข้อมูลการระบาดล่าสุดไว้ดังนี้

 

 

เนปาลเป็นประเทศเพื่อนบ้านของอินเดียที่สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 รุนแรงขึ้นอย่างน่ากังวล ทั้งยอดติดเชื้อที่พุ่งสูงต่อเนื่องและโรงพยาบาลหลายแห่งประสบภาวะผู้ป่วยล้นจนทำให้ต้องขอความช่วยเหลือจากต่างชาติ

 

ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเนปาลช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาทะยานขึ้นหลัก 8,000-9,000 คนต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนผู้ติดเชื้อ 20 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับอินเดียในช่วง 2 สัปดาห์ก่อน

 

ขณะที่ในสัปดาห์ที่แล้วพบผู้ติดเชื้อถึง 44% จากข้อมูลอัตราการตรวจเชื้อทั้งหมดของรัฐบาลเนปาล ซึ่งกาชาดเนปาล ชี้ว่าตัวเลขนี้ไม่น่าจะใกล้เคียงกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นจริง 

 

โดยปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ระบาดของเนปาลทวีความรุนแรงขึ้นมาจากการจัดกิจกรรมสาธารณะ ทั้งงานเทศกาล การแต่งงาน ตลอดจนกิจกรรมทางการเมืองที่มีการรวมกลุ่มของผู้คนจำนวนมากและเอื้อต่อการแพร่ระบาด ขณะที่ประชาชนใช้ชีวิตอย่างสบายใจและไม่ระมัดระวังการติดเชื้อ อีกทั้งรัฐบาลยังล่าช้าในการดำเนินการรับมือและป้องกันการระบาด 

 

ซึ่งชาวเนปาลบางส่วนกล่าวโทษต้นตอการระบาดที่ข้ามชายแดนมาจากอินเดีย เนื่องจากช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้พบชาวอินเดียบางส่วนหนีการระบาดในประเทศไปยังเนปาล 

 

“สิ่งที่เกิดขึ้นในอินเดียตอนนี้คือภาพตัวอย่างที่น่าสยดสยองของอนาคตของเนปาล หากเราไม่สามารถควบคุมกระแสการระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุดนี้ ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนเพิ่มขึ้นทุกนาที” ดร.เนทรา ปราสาท ทิมสินา ประธานกาชาดเนปาล กล่าว ขณะที่หวั่นว่าการระบาดอาจเพิ่มสูงจนเกินควบคุม โดยตอนนี้การระบาดไปไกลถึงพื้นที่เบสแคมป์ของเทือกเขาเอเวอเรสต์

 

 

สำหรับไทยนั้น CNN ระบุในรายงานชื่นชมว่าประสบความสำเร็จในการรับมือกับวิกฤตแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่ค่อนข้างต่ำ

 

แต่ในปีนี้ประเทศไทยกลับเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่จากการระบาดระลอกล่าสุด ซึ่งส่งผลให้ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายวันไต่ระดับเพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิด

 

รายงานของ CNN ยังชี้ให้เห็นว่าก่อนการระบาดระลอกนี้ ในวันที่ 31 มีนาคม ไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ประมาณ 28,800 คน แต่หลังจากนั้น 5 สัปดาห์ ตัวเลขเพิ่มขึ้นเกินเท่าตัว เป็นมากกว่า 76,000 คน เฉพาะเมื่อวานนี้มีผู้ติดเชื้อเกือบ 2,000 คนในวันเดียว ซึ่งคลัสเตอร์การระบาดที่พบแรกๆ เกิดขึ้นจากสถานที่ท่องเที่ยวยามราตรีในกรุงเทพฯ ก่อนที่การระบาดจะเลวร้ายหนักขึ้น หลังการเดินทางจำนวนมากของประชาชนในช่วงสงกรานต์

 

นอกจากนี้ CNN ยังเผยแพร่ข้อมูลจาก วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. พรรคก้าวไกล ที่ดูแลด้านนโยบายสาธารณสุขของพรรค ที่ระบุว่าโรงพยาบาลหลายแห่งในกรุงเทพฯ ปฏิเสธการตรวจเชื้อ เนื่องจากไม่มีเตียงรองรับและจำเป็นที่รัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือรับรักษาผู้ที่ตรวจพบโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลไทยมีการตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ 

 

ขณะเดียวกันรัฐบาลได้เร่งฉีดวัคซีนป้องกันการระบาดในพื้นที่ชุมชนที่แออัด แต่กรณีความล่าช้าในการฉีดวัคซีนให้ประชาชนนั้น ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก ซึ่งรายงานระบุว่าปัจจุบันอัตราการฉีดวัคซีนให้ประชาชนไทยมีเพียง 2 โดสต่อจำนวนประชากร 100 คน 

 

 

ศรีลังกาเผชิญการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างชัดเจนอีกครั้งตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน โดยยอดผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงรวดเร็วจนทำลายสถิติในเดือนกุมภาพันธ์ โดยเมื่อวานนี้ (7 พฤษภาคม) มีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1,895 รายในวันเดียว เพิ่มจากช่วงต้นเดือนเมษายนเกือบ 5 เท่า

 

สาเหตุการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลจากการรวมตัวครั้งใหญ่ในวันฉลองปีใหม่ของศรีลังกา เมื่อวันที่ 13 และ 14 เมษายน ซึ่งฝูงชนจำนวนมากออกมาเฉลิมฉลองและจับจ่ายสินค้า

 

โดยก่อนการฉลองปีใหม่ ทางการศรีลังกามั่นใจว่าสามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดได้ โดยสนับสนุนให้มีการเฉลิมฉลองในขณะที่ปฏิบัติตามแนวทางสาธารณสุข ซึ่งในวันที่ 12 เมษายน ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ส่งข้อความปีใหม่แสดงความยินดีแก่ประชาชน หลังการระบาดในปีที่แล้วทำให้งานฉลองปีใหม่ต้องยกเลิก 

 

“ปีนี้พวกเราทุกคนร่วมกันทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการมีความสุขกับเทศกาลปีใหม่ มันเป็นความหวังและความคาดหวังของผมที่ประชาชนทุกคนจะได้ร่วมเฉลิมฉลองปีใหม่ของชาวสิงหลและทมิฬโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ด้วยความหวัง ความมุ่งมั่นและความคิดที่ถูกต้อง” เขากล่าว 

 

แต่หลังจากนั้นยอดติดเชื้อกลับพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องจนทะลุหลักพันรายต่อวันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 เมษายน ทำให้ทางการต้องสั่งปิดโรงเรียนและประกาศล็อกดาวน์มากกว่า 100 พื้นที่ของประเทศ แต่ก็ไม่มีวี่แววจะทำให้สถานการณ์ระบาดบรรเทาลง

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีพรมแดนใกล้ชิดกับอินเดีย แต่ศรีลังกายืนยันว่ายังไม่พบการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย โดยคาดว่าการระบาดที่พุ่งสูงขึ้นล่าสุด เป็นผลจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.7 หรือสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งคำตอบในการยับยั้งการระบาดคือการเร่งฉีดวัคซีน แต่จนถึงวันนี้สามารถฉีดให้ประชาชนได้เพียง 1 ล้านโดสจากจำนวนประชากร 21 ล้านคน

 

 

อีกประเทศเพื่อนบ้านของอินเดียคือมัลดีฟส์ ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงจากหลักร้อยต้นๆ ในเดือนเมษายนมาเป็นกว่า 700 คนต่อวันในสัปดาห์นี้ 

 

ขณะที่มัลดีฟส์ซึ่งเป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย และพึ่งพิงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทำให้มีการเปิดพรมแดนต้อนรับนักเดินทางต่างชาติตั้งแต่กรกฎาคมปีที่แล้ว โดยเป็นประเทศแรกที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรง

 

ซึ่งตอนนี้แม้อินเดียจะปิดพรมแดนและห้ามการเดินทางเข้าประเทศ แต่รีสอร์ตหลายแห่งในมัลดีฟส์กลับยังคงเปิดต้อนรับเหล่าเศรษฐีและดาราบอลลีวูดของอินเดียที่ต้องการสถานที่อาศัยเพื่อหลบหลีกวิกฤตแพร่ระบาดระลอก 2 จากข้อมูลพบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปยังมัลดีฟส์ส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย ซึ่งตั้งแต่มกราคมจนถึงมีนาคมนับจำนวนได้มากเกือบ 70,000 คน 

 

ขณะที่มัลดีฟส์วางแผนเสนอฉีดวัคซีนให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศ แต่แผนดังกล่าวจะดำเนินการได้ต่อเมื่อประชากรทั้งหมดได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งจนถึงตอนนี้ ทางการมัลดีฟส์ฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้วราว 400,000 โดส หรือคิดเป็น 21% ของประชากรทั้งหมดราว 530,000 คน ซึ่งการระบาดที่กำลังเพิ่มขึ้น ทำให้ทางการต้องมุ่งมั่นในการรับมือการติดเชื้อ พร้อมทั้งป้องกันการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่มีรายงานว่าอาจปรากฏในประเทศแล้ว นอกจากนี้ยังต้องรับมือปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล หลังจากที่พบว่ามีผู้เข้ารับการรักษาโควิด-19 เพิ่มขึ้นถึงสามเท่าในช่วงไม่กี่วันมานี้

 

 

กัมพูชาเป็นอีกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นชัดเจน ทั้งที่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ยังเป็น 1 ในประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยที่สุดและไม่มีผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว

 

แต่การระบาดระลอกใหม่ที่เริ่มต้นช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อ เพิ่มจากหลักหน่วยเป็นหลักร้อยต่อวัน ยอดติดเชื้อสะสมเพิ่มจาก 500 คนในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นกว่า 17,000 คนในปัจจุบัน และเสียชีวิตแล้ว 114 คน โดยข้อมูลเมื่อวันพฤหัสบดี (6 พฤษภาคม) พบผู้ติดเชื้อรายวันจำนวน 650 คน และเสียชีวิต 4 คน

 

การแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นยังสร้างความกังวลใหญ่หลวงต่อระบบสาธารณสุขที่เปราะบางของกัมพูชา ในวันที่ 6 เมษายน นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ต้องสั่งการให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการไม่รุนแรงพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน เนื่องจากโรงพยาบาลต่างๆ ใกล้ถึงขีดจำกัดในการรองรับผู้ป่วย

 

ขณะที่ 11 เมษายน WHO ประกาศเตือนว่ากัมพูชากำลังใกล้จะเผชิญกับโศกนาฏกรรมระดับชาติ

 

“แม้เราจะพยายามอย่างเต็มที่ แต่เราก็ยังประสบความลำบากในการควบคุมไวรัส ในกรณีที่เราไม่สามารถยับยั้งการระบาดได้ ระบบสาธารณสุขของกัมพูชามีความเสี่ยงสูงที่จะรับมือไม่ไหว ซึ่งจะตามมาด้วยหายนะที่เลวร้าย” Li Ailan ผู้แทน WHO ประจำกัมพูชากล่าว

 

สำหรับการป้องกันการระบาดนั้น ทางการกัมพูชาประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในกรุงพนมเปญและหลายพื้นที่ในวันที่ 15 เมษายน โดยเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการในพื้นที่โซนสีแดงที่มีประชากรหนาแน่นราว 300,000 คน เช่น ห้ามออกจากบ้านหากไม่มีความจำเป็น แต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ฮุน เซน ประกาศคำสั่งยุติการล็อกดาวน์ในพนมเปญ ทั้งที่การระบาดยังเพิ่มขึ้น 

 

ความหวังของกัมพูชาตอนนี้คือการฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยเร็ว ซึ่งตั้งแต่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา กองทัพกัมพูชาได้เริ่มต้นโครงการฉีดวัคซีนประชาชน 500,000 คนในจุดที่พบการระบาดรุนแรงที่สุดของพนมเปญ โดยวัคซีนที่ใช้มีทั้งจากบริษัท Sinovac และ Sinopharm ของจีน 

 

และจนถึงตอนนี้พบว่ามีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 2.6 ล้านโดส หรือประมาณ 6.33% ของจำนวนประชากรทั้งหมด 16 ล้านคน

 

 

อินโดนีเซียซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 1.7 ล้านคน ต้องเพิ่มการเฝ้าระวังสถานการณ์ระบาดมากขึ้น หลังกระทรวงสาธารณสุขยืนยันในช่วงต้นสัปดาห์นี้ว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.617 หรือสายพันธุ์อินเดีย จำนวน 2 คน

 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละประมาณ 5,000 คน ขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซีย สั่งระงับการเดินทางกลับบ้านของชาวมุสลิมนับล้านในช่วงเทศกาลอีดิลฟิตรี (Eid al-Fitr) หรือเทศกาลมูดิก (Mudik) ซึ่งตรงกับช่วงสิ้นสุดเดือนรอมฎอน โดยห้ามการเดินทางในประเทศตั้งแต่วันที่ 6-17 พฤษภาคม ครอบคลุมทั้งการเดินทางทางบก ทางรถไฟ เรือ และเครื่องบิน

 

อย่างไรก็ตาม สื่อท้องถิ่นของอินโดนีเซียรายงานว่า แม้ทางการจะประกาศมาตรการห้ามเดินทางดังกล่าว แต่คาดว่าจะมีประชากรมุสลิมราว 18 ล้านคน หรือประมาณ 7% ที่ยังวางแผนเดินทางในช่วงเทศกาลดังกล่าวอยู่ดี โดยทางการได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ 155,000 นาย รวมตำรวจและทหารกว่า 100,000 นาย ประจำการในจุดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อบังคับใช้มาตรการดังกล่าว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X