สำนักข่าว AP รายงานอ้างอิงแผนไฟฟ้าแห่งชาติฉบับปรับปรุงของอินเดียที่เปิดเผยเมื่อเย็นวันพุธที่ผ่านมา (31 พฤษภาคม) ซึ่งระบุว่า รัฐบาลอินเดียจะไม่พิจารณาข้อเสนอใดๆ สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในอีก 5 ปีข้างหน้า และจะมุ่งเน้นไปที่การเติบโตของภาคพลังงานทดแทนเป็นหลัก ท่ามกลางเสียงตอบรับทางบวกจากผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานที่มองว่า เป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นที่ดีสำหรับประเทศที่พึ่งพาถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 75%
ทั้งนี้ แผนไฟฟ้าแห่งชาติของอินเดียจะมีการปรับปรุงทุกๆ 5 ปี เพื่อเป็นแนวทางสำหรับลำดับความสำคัญของอินเดียในภาคการผลิตไฟฟ้า โดยอินเดียซึ่งถือเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และมีประชากรมากที่สุด มีแผนที่จะปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2070 ซึ่งหมายถึงลดการใช้ถ่านหินลง และเพิ่มพลังงานหมุนเวียน
ก่อนหน้านี้ในร่างแผนพลังงานฯ ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2022 การไฟฟ้าส่วนกลาง ซึ่งรับผิดชอบการวางแผนความต้องการไฟฟ้าของอินเดีย คาดการณ์ว่าจะต้องมีกำลังการผลิตถ่านหินใหม่เกือบ 8,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2027 แต่กลยุทธ์ล่าสุดที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม เสนอให้สร้างระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ขนาด 8,600 เมกะวัตต์แทน
ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานกล่าวว่า แบตเตอรี่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำให้พลังงานหมุนเวียนสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา โดย Raghav Pachouri ผู้เชี่ยวชาญด้านภาคพลังงานของมูลนิธิ Vasudha ชี้ว่า การตัดสินใจดังกล่าวและการวางแผนพลังงานของรัฐบาลอินเดียถือเป็นทิศทางที่ถูกต้อง ก่อนชี้ว่าอินเดียกำลังประสบกับฤดูร้อนที่ยาวนานและอากาศร้อนขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งหมายถึงความต้องการไฟฟ้าที่มากขึ้นในช่วงกลางวันที่แผดเผา ทำให้ง่ายต่อการตอบสนองความต้องการด้านพลังงานด้วยพลังงานทดแทน เพราะความต้องการพลังงานในระหว่างวันนี้ พลังงานแสงอาทิตย์สามารถจัดหาได้
ด้าน Aditya Lolla นักวิเคราะห์พลังงานจากคลังความคิด (Think Tank) Ember กล่าวว่า อินเดียวางแผนที่จะติดตั้งพลังงานสะอาด 500 กิกะวัตต์ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นพลังงานที่เพียงพอสำหรับจ่ายไฟได้ทุกที่ตั้งแต่ 150-500 ล้านหลังคาเรือนขึ้นอยู่กับการใช้พลังงาน แต่อย่างไรก็ตาม อินเดียไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ เพราะปัจจุบันอินเดียมีกำลังติดตั้งสูงสุดเพียง 17 กิกะวัตต์ต่อปี ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มเป็น 40-45 กิกะวัตต์เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
อ้างอิง: