×

ยาน ‘จันทรายาน-3’ ของอินเดียทะยานสู่ดวงจันทร์ ตั้งเป้าเป็นมหาอำนาจการสำรวจอวกาศ

14.07.2023
  • LOADING...
Chandrayaan-3

‘จันทรายาน-3’ (Chandrayaan-3) ยานอวกาศของฝั่งอินเดียที่ใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงเฉียด 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2.5 พันล้านบาทไทย ได้พุ่งทะยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศจากฐานปล่อยจรวดในรัฐอานธรประเทศ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอินเดียแล้วในวันนี้ (14 กรกฎาคม) เมื่อเวลา 14.35 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 16.05 น. ตามเวลาประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ The Guardian รายงานว่า หน่วยงานอวกาศของอินเดียได้เตรียมการขั้นสุดท้ายในการปล่อยยานอวกาศออกนอกชั้นบรรยากาศเพื่อลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ อันเป็นการประกาศกร้าวถึงการเป็นมหาอำนาจด้านการสำรวจอวกาศของอินเดีย

 

ในอดีตที่ผ่านมามีเพียงสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพโซเวียตเท่านั้นที่สามารถนำยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ได้อย่างปลอดภัย แม้จะเคยมีความพยายามเดียวกันจากบริษัทสตาร์ทอัพของญี่ปุ่นในต้นปีนี้ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อยานอวกาศของบริษัทดังกล่าวได้ชนเข้ากับพื้นผิวของดวงจันทร์ขณะพยายามลงจอด

 

หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน จันทรายาน-3 จะทะยานสู่ห้วงอวกาศ และทำวงโคจรเป็นวงรี โดยคาดว่าจะลงจอดบนดวงจันทร์ได้ในช่วงประมาณวันที่ 23-24 สิงหาคม ซึ่งหากลงจอดสำเร็จ ยานอวกาศดังกล่าวจะเป็นยานอวกาศลำแรกที่ได้ลงจอดบนพื้นที่ขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ อันเป็นพื้นที่ซึ่งดึงดูดความสนใจของหน่วยงานอวกาศและบริษัทอวกาศเอกชนทั่วโลก เนื่องด้วยมีน้ำแข็งอยู่ในบริเวณดังกล่าว จึงเหมาะที่จะเป็นจุดก่อสร้างสถานีอวกาศในอนาคตได้

 

ก่อนหน้านี้สำนักข่าว ANI ของอินเดียได้แสดงภาพของนักวิทยาศาสตร์จาก ISRO หลายคนที่ได้พกโมเดลของจันทรายาน-3 ขนาดย่อมไปยังวัดชื่อดังในอินเดีย เพื่อขอความเป็นสิริมงคลให้ยานอวกาศสามารถลงจอดได้โดยสวัสดิภาพ

 

จันทรายาน เป็นคำภาษาสันสฤกต รวมมาจากคำว่า ‘จันทร์’ และคำว่า ‘ยาน’ เมื่อรวบเข้าด้วยกันจึงแปลได้ว่า ยานพาหนะของดวงจันทร์ ซึ่งประกอบไปด้วยยานลงจอดสูง (Tall Lander) ที่มีความสูง 2 เมตร เพื่อปล่อยรถยนต์ไฟฟ้าไปสำรวจบนดวงจันทร์ (Rover) ซึ่งได้รับการทดสอบว่าสามารถใช้งานได้ยาวถึง 2 สัปดาห์

 

ในภาพรวมของประเทศ การปล่อยยานอวกาศครั้งนี้เป็นภารกิจใหญ่ครั้งแรกหลังจากการขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของ นเรนทรา โมดี นอกจากนี้โมดียังได้ออกนโยบายที่เอื้อต่อการปล่อยยานอวกาศและดาวเทียมในภาคเอกชน ทว่านักวิเคราะห์บางส่วนได้กล่าวว่า การปล่อยยานครั้งนี้มีภารกิจแฝง นั่นก็คือการส่งสัญญาณให้โลกรู้ว่าอินเดียเปิดกว้างสำหรับการแข่งขันด้านอวกาศของภาคเอกชน

 

นับตั้งแต่ปี 2020 ที่อินเดียเปิดให้ธุรกิจภาคเอกชนสามารถปล่อยยานอวกาศได้ จำนวนของธุรกิจสตาร์ทอัพด้านอวกาศก็ได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว และในปีที่ผ่านมาบริษัท Skyroot Aerospace ที่ได้รับการสนับสนุนด้วยเงินทุนจาก GIC ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งของรัฐบาลสิงคโปร์ ได้ทำการปล่อยจรวดลำแรกของอินเดียที่สร้างมาจากภาคส่วนเอกชน

 

แฟ้มภาพ: ISRO Via BBC

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising