อินเดียประกาศแบนการใช้งานพลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้ง 19 ประเภทด้วยกัน โดยหวังลดปัญหามลพิษในประเทศซึ่งมีประชากรเกือบ 1.4 พันล้านคน
แถลงการณ์จากรัฐบาลที่ออกมาเมื่อวันศุกร์ (1 กรกฎาคม) ระบุว่า คำสั่งแบนจะครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น หลอด, ช้อนส้อม, ฟิล์มหุ้มบรรจุภัณฑ์, แท่งพลาสติกสำหรับเป็นด้ามจับลูกโป่ง, ห่อลูกอมและไอศกรีม และซองบุหรี่ ส่งผลให้การผลิต นำเข้า สต๊อก และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้างต้นจะถือว่าผิดกฎหมายของอินเดีย
ขยะพลาสติกได้กลายเป็นแหล่งมลพิษที่รุนแรงในอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลก โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจได้กระตุ้นความต้องการสินค้าต่างๆ ซึ่งมาพร้อมกับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จนอินเดียมียอดการใช้งานพลาสติกสูงถึง 14 ล้านตันต่อปี แต่ถึงเช่นนั้น อินเดียกลับขาดระบบจัดการขยะพลาสติกที่ดี จนพลาสติกเหล่านั้นถูกทิ้งเกลื่อนกลาดอุดตันอยู่ตามท่อระบายน้ำในเมือง ท้ายที่สุดก็จะไหลลงสู่แม่น้ำและทะเล นำไปสู่ปัญหามลพิษต่อทั้งมนุษย์และสัตว์ตามมา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังไม่ได้แบนการใช้ถุงพลาสติกเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค แต่ขอให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าใช้ถุงพลาสติกแบบหนา เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนนำกลับมาใช้ซ้ำ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังปฏิเสธข้อเรียกร้องของบรรดาบริษัทด้านอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ขอให้ระงับคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลไม่ได้ให้เวลาพวกเขาเตรียมตัวมากพอที่จะรับมือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
แม้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดการณ์ว่า การบังคับใช้กฎหมายแบนพลาสติกในอินเดียอาจทำได้ยาก แต่รัฐบาลก็จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อแก้ปัญหามลพิษ โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการใช้งาน และการจัดจำหน่ายพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งที่ผิดกฎหมาย
แฟ้มภาพ: Naveen Sharma / SOPA Images / LightRocket via Getty Images
อ้างอิง: