×

พายุลูกใหญ่ของชาวเอเชีย? จากราคา ‘ข้าว’ ถึง ‘หัวหอม’ อินเดียเปิดเกมอีกรอบ ประกาศขึ้นภาษีส่งออก 40%

22.08.2023
  • LOADING...
อินเดีย ภาษีส่งออก

เก็บภาษีโหด! จับสังเกต ‘อินเดีย’ กำลังคุมเกมราคาพืชเกษตรในตลาดเอเชีย และอาจสะเทือนไปถึงต้นทุนอาหารทั่วโลกรวมถึงไทย เพราะเจอพิษเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือน ส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องขึ้นภาษีส่งออก ‘หัวหอม’ 40% เพื่อรักษาตลาดภายในประเทศให้เพียงพอ หลังจากที่งดส่งออกข้าวไปแล้วก่อนหน้านี้ ขณะที่นักวิชาการสะท้อนมุมมอง สิ่งที่ควบคุมยากสำหรับราคาอาหาร คือสภาพอากาศที่แปรปรวน โดยเฉพาะภาวะเอลนีโญที่เป็นเสมือนพายุลูกใหญ่ที่กำลังก่อตัวในเอเชีย กังวลอนาคตจะเริ่มขาดแคลน กระทบรายได้ครัวเรือน ซึ่งเห็นชัดเจนแล้วในฟิลิปปินส์

 

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า รัฐบาลอินเดียออกประกาศเรียกเก็บภาษีส่งออกหัวหอม โดยจะมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมนี้ เพื่อรักษาตลาดภายในประเทศให้เพียงพอ และสกัดอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในรอบ 15 เดือน โดยมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนอาหารในประเทศที่พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน และสภาพอากาศที่แปรปรวน ภาวะเอลนีโญ ประกอบกับปริมาณน้ำฝนที่สูงในเดือนกรกฎาคม 2023 ส่งผลให้ในพื้นที่การผลิตหลัก รัฐมหาราษฏระ ที่อยู่ฝั่งตะวันตกของอินเดียเสียหายอย่างหนัก

 

โดยขณะนี้ราคาขายปลีกหัวหอมในอินเดียเพิ่มขึ้นประมาณ 20% เมื่อเทียบรายปี โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30.72 รูปี (37 เซนต์) ต่อกิโลกรัม 

 

ทั้งนี้ อินเดียถือเป็นผู้ส่งออกหัวหอมรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นส่วนผสมในอาหารหลักของชาวอินเดีย รวมถึงใช้ในอาหารของเอเชียใต้แบบดั้งเดิม เช่น ข้าวหมกบริยานี ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ราคามะเขือเทศในอินเดียพุ่งขึ้นมากกว่า 300% และมันฝรั่ง รัฐบาลอินเดียยังได้สั่งห้ามการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ เพื่อรักษาอุปทานในประเทศให้เพียงพอ 

 

มาตรการจำกัดการส่งออกและการขึ้นภาษีของอินเดีย ทำให้บรรดานักวิเคราะห์กำลังพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะผู้นำเข้ารายใหญ่ อย่าง บังกลาเทศ มาเลเซีย ศรีลังกา และบางส่วนของตะวันออกกลาง ต่างพึ่งพาอินเดียสำหรับหัวหอม 

 

แม้ประเมินว่าการปรับขึ้นราคาจะเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ และผลผลิตพืชหัวหอมจะออกสู่ตลาดมากขึ้น แต่ไม่อาจคาดเดาสภาพอากาศที่กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย ระบุว่า หลายพื้นที่ของอินเดียอาจได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักต่อเนื่อง

 

ราคาข้าวและหัวหอม สะเทือนราคาอาหารเอเชียพุ่งสูงขึ้น

 

รายงานข่าวกล่าวอีกว่า จากการที่องค์การสหประชาชาติ ระบุ ราคาข้าวโลกที่พุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 12 ปี หลังจากการห้ามส่งออกข้าวของอินเดีย จากผลกระทบภาวะเอลนีโญ กำลังส่งผลกระทบต่อการผลิตและอุปทานอาหารของชาวเอเชียไปในคราวเดียวกัน

 

จางชิงเฟิง ผู้อำนวยการอาวุโสจากธนาคารพัฒนาเอเชีย กล่าวว่า ขณะนี้ราคาข้าวโลกน่ากังวลอย่างมาก สิ่งที่ชัดเจนคือ อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าความผันผวนของราคาอาหารจะสูงขึ้นไปอีก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงจากภาวะโลกร้อน และเอลนีโญ รวมถึงการที่รัสเซียถอนตัวจากโครงการธัญพืช บวกกับข้อกีดกันทางการค้า

 

ทั้งนี้ หากย้อนไปช่วงที่วิกฤตราคาอาหารปี 2553-2555 ปรากฏการณ์นี้ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ในประเทศนั้นๆ ลดลง 0.6% มากไปกว่านั้น การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียอีก 10% บีบให้ประชากรกว่า 64.4 ล้านคน เข้าสู่ความยากจน นั่นหมายความว่า ยิ่งราคาอาหารแพงยิ่งเพิ่มอัตราความยากจนจาก 27% เป็น 29% ในช่วงเวลานั้น

 

และหากไม่นับรวมออสเตรเลีย อินเดีย และไทย ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย-แปซิฟิกยังเป็นผู้นำเข้าอาหาร รวมถึงสิงคโปร์และฮ่องกง ที่พึ่งพาการนำเข้าข้าว 100% ดังนั้นราคาอาหารขณะนี้ย่อมสะท้อนเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิกที่กำลังมีความเสี่ยงสูง

 

นอกจากนี้ ผลจากมาตรการของรัฐบาล เช่น การควบคุมราคาและการแทรกแซงราคา ที่นำมาใช้เพื่อลดผลกระทบจากราคาอาหารที่สูงขึ้นในตลาดภายในประเทศ กลับมีแนวโน้มที่จะทำให้แรงกดดันด้านราคาอาหารทั่วโลกรุนแรงขึ้นด้วย

 

โดยรายงานอ้างอิงจากโนมูระ ยังระบุอีกว่า ขณะนี้ฟิลิปปินส์ ผู้ผลิตข้าวอันดับต้นของโลกกำลังเป็นประเทศที่อ่อนแอที่สุด เพราะรายได้ครัวเรือนไม่พอใช้เพราะหมดไปกับค่าอาหาร เมื่อราคาสูงขึ้น พวกเขาไม่มีทางเลือกนอกจากลดการใช้จ่ายส่วนอื่นที่พอทำได้

 

อย่างไรก็ตาม สภาพความแห้งแล้งที่เกิดจากภาวะเอลนีโญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เอเชียกำลังลุกลามไม่น้อย โดยเฉพาะปลายปีนี้จะยิ่งส่งผลกระทบต่อข้าวของไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก แม้ขณะนี้ภาครัฐพยายามขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรังเพื่อลดการใช้น้ำ

 

เช่นเดียวกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย ประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มและปาล์มน้ำมัน และออสเตรเลีย ที่ปลูกข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ ต่างได้รับผลกระทบจากภาวะเอลนีโญ จึงต้องคอยจับตาพืชเศรษฐกิจที่จะมีผลต่อราคาในปีนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X