ผลพวงของโควิดทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมถึงธุรกิจอีเวนต์ที่เจอเอฟเฟ็กต์เต็มๆ 2 ปี แต่วันนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับภาครัฐผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ผู้คนออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น ทำให้ตลาดเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
จากแนวโน้มการฟื้นตัวดังกล่าว ‘อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ’ ได้ปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น ซึ่งหากย้อนไปปี 17 ก่อน ‘จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่’ เคยเข้ามาถือหุ้น 50% จนกระทั่งปี 2548 ‘เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์’ กลุ่มมาลีนนท์ เข้ามาถือหุ้นแทน ล่าสุดอินเด็กซ์ได้ซื้อหุ้นของบริษัทคืนด้วยเม็ดเงิน 410 ล้านบาท ทำให้กลุ่มกาญจนะโภคินกลับมาถือหุ้นอินเด็กซ์ฯ ในสัดส่วน 93.62% จากเดิมที่ถือหุ้น 50%
เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) บริษัทอีเวนต์รายใหญ่ ที่มีประสบการณ์ในตลาดอีเวนต์มายาวนานทั้งในประเทศและเวทีโลก ฉายภาพว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมอีเวนต์เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นชัดเจน จะเห็นว่าภาครัฐและธุรกิจเอกชนเริ่มจัดกิจกรรมมากขึ้น ตลอดจนคอนเสิร์ตศิลปินในต่างประเทศทยอยจัดงาน ช่วยให้บรรยากาศคึกคักเป็นพิเศษ โดยเฉพาะไตรมาส 4 ที่เป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจอีเวนต์
แต่อีกด้านหนึ่งฝั่งสปอนเซอร์ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ยังชะลอการใช้งบในการโฆษณา เพื่อรับมือกับสภาพเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ และกำลังซื้อผู้บริโภคที่ยังไม่มีท่าทีจะดีขึ้น ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการผันงบโฆษณาไปทุ่มให้กับการตรึงราคาสินค้าและจัดโปรโมชันมากกว่า และเลือกจัดงานสเกลเล็กๆ เท่านั้น
สำหรับ ‘อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ’ ใน 2 ไตรมาสสุดท้ายของปีมีโปรแกรมจัดงานทั้งในไทย ประมาณ 3 งาน รวมถึงยังมีงานเกี่ยวกับแบรนด์ระดับไฮเอนด์อีก 1 งาน โดยอยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียด อีกทั้งยังเตรียมเปิดให้เข้าชม โปรเจกต์หมูป่า หรือ Museum & Experience ถ้ำหลวงนางนอน จังหวัดเชียงราย ซึ่งในงบลงทุนกว่า 700 ล้านบาท ใช้พื้นที่ 40-50 ไร่
โปรเจกต์นี้มีจุดเด่นที่การบอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ 13 หมูป่าที่รอดชีวิต ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้ชาวไทยและต่างชาติรู้จักและให้ความสนใจอย่างมาก โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าชมราวๆ 2,000 คนต่อวัน และอาจสามารถสร้างรายได้ราว 100 ล้านบาทต่อปี โดยจะมีการเปิดเผยรายละเอียดอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมนี้
ขณะที่โปรแกรมอีเวนต์ในต่างประเทศ ได้แก่ งานแสดงสินค้าด้านสถาปนิก สุขภาพและความงาม รวมถึงงานอาหารที่ประเทศกัมพูชา ในวันที่ 5-7 สิงหาคม 2565 ตามด้วยงานแบบเวอร์ชวลอีเวนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2565 พร้อมกลับมาดำเนินธุรกิจจัดอีเวนต์และแคมเปญการตลาดในเมียนมาอีกครั้งหลังสถานการณ์ต่างๆ เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ โดยมุ่งจับกลุ่มธุรกิจสัญชาติไทยเป็นหลัก
พร้อมเตรียมสยายปีกจัดอีเวนต์รูปแบบดิจิทัล ล่าสุดได้ผนึกกับ ดี.โอเอซิส (D.OASIS) ในการร่วมทุนกับพันธมิตร เพื่อขยายธุรกิจสู่โลกเสมือนจริง หรือ Metaverse โดยประเดิมงานแรก ‘D.OASIS, The Sandbox Metaverse’ พัฒนา Ecosystem Metaverse เพื่อเชื่อมต่อโลกธุรกิจ ความบันเทิง ครีเอทีฟ และไลฟ์สไตล์ต่างๆ รองรับความต้องการของลูกค้าในอนาคต ซึ่งขณะนี้มีราว 45 องค์กรสนใจมาร่วม
จากนี้ยังเปิดกว้างหาพันธมิตรที่มี Know-How เทคโนโลยี และประสบการณ์ด้านบล็อกเชนและ Metaverse เข้ามาร่วมงานทั้งในรูปแบบร่วมทุนหรือแลกหุ้นระหว่าง 2 บริษัท เพื่อขยายตลาด สร้างมิติใหม่ๆ ให้ธุรกิจอีเวนต์ เชื่อว่าการจัดอีเวนต์ดิจิทัลจะเข้ามาช่วยลดข้อจำกัดของอีเวนต์ออนกราวด์ ในเรื่องจำนวนและความหลากหลายของฐานผู้ชมได้อีกด้วย
เกรียงไกรกล่าวต่อว่า กลยุทธ์ทั้งหมดนี้จะทำให้สิ้นปีบริษัทมีรายได้รวม 965 ล้านบาท หรือเติบโต 54% โดยแบ่งสัดส่วนจาก 1. กลุ่มธุรกิจ Creative Business Development 28% 2. กลุ่ม Markeing Service 52% และ 3. กลุ่ม Own-Project 20% และการจัดอีเวนต์ดิจิทัลจะช่วยเสริมแกร่งกลุ่มธุรกิจ Own-Project มากขึ้น คาดว่าจะช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้ในอนาคตกว่า 50% ขณะที่ผลประกอบการครึ่งปีแรก บริษัททำรายได้ 479 ล้านบาท เติบโต 72% หลักๆ มาจากการฟื้นตัวของตลาด
อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 บริษัทจะกลับมาสานต่อการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง เพื่อนำเม็ดเงินมาขยายธุรกิจไปสร้างโปรเจกต์ใหม่ๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยว ต่อยอดจากความสำเร็จจากเมืองโบราณ ไลท์ เฟส ที่ได้รับความสำเร็จอย่างมาก และอนาคตยังมีไอเดียด้านการท่องเที่ยวอีกหลายโปรเจกต์ โดยจะเน้นพื้นที่ที่มีโอกาสสูงอย่างจังหวัดเมืองรอง เนื่องจากจังหวัดท่องเที่ยวหลักมีผู้เล่นรายใหญ่อยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยขยายฐานลูกค้าจากชาวไทยไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วโลก
“ยุทธศาสตร์ทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันให้บริษัทกลับมาเติบโตและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 2568” เกรียงไกรกล่าว