×

การผุพังที่เพิ่มมากขึ้นของหิน มีส่วนช่วยรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร

22.05.2023
  • LOADING...
Rock Weathering

ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยเห็นพ้องกันว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งภาวะโลกร้อนในระดับที่เป็นอันตรายได้ อาจจะต้องมีการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศโลกอีกทางหนึ่งร่วมด้วย

 

แม้การปลูกต้นไม้จะเป็นวิธีที่เป็นธรรมชาติที่สุดที่จะช่วยกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บางส่วนออกจากชั้นบรรยากาศได้ แต่วิธีการดังกล่าวนี้ก็มีข้อจำกัดเช่นเดียวกัน นั่นคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อาจถูกปล่อยออกมาหลังจากที่ต้นไม้นั้นๆ เน่าเสียหรือถูกเผาไหม้ รวมถึงอาจมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ในการปลูกต้นไม้เป็นวงกว้างอีกด้วย 

 

นอกจากนี้ระบบ Direct Air Capture (DAC) ที่จะดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปกักเก็บไว้ใต้ดินนั้น แม้จะมีกลไกการทำงานที่น่าสนใจ แต่ก็จำเป็นที่จะต้องใช้พลังงานจำนวนมหาศาลในการดักจับก๊าซเรือนกระจกดังกล่าว ทั้งยังจะต้องประเมินและศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย ประสิทธิภาพในการทำงาน และความคุ้มค่าในการลงทุน 

 

โดย UNDO เป็นองค์กรในสหราชอาณาจักรที่ทำงานขับเคลื่อนกระบวนการการผุพังที่เพิ่มมากขึ้นของหินบะซอลต์โดยตรง ซึ่งเริ่มต้นโครงการนำร่องที่เหมืองแร่หินในเมืองเอดินบะระของสกอตแลนด์เป็นแห่งแรก พร้อมตั้งเป้าอยากจะช่วยนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศให้ได้ 1 พันล้านตันภายในปี 2030 

 

การผุพังที่เพิ่มมากขึ้นของหิน (Enhanced Rock Weathering) คืออะไร

 

UNDO อธิบายว่า การผุพังที่เพิ่มมากขึ้นของหินเป็นกระบวนการกำจัดคาร์บอนตามธรรมชาติที่จะล็อกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศได้อย่างถาวร โดยกระบวนการทางธรณีวิทยานี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติเป็นระยะเวลาหลายล้านปีแล้ว เราเพียงแค่เร่งความเร็วให้กระบวนการดังกล่าวนี้เท่านั้น

 

โดยการผุพังนี้มักผูกโยงอยู่กับปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลมฟ้าอากาศ น้ำ อุณหภูมิ ความร้อน ความเย็น หรือแม้แต่ก๊าซในชั้นบรรยากาศอย่างออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น แต่กระบวนการที่จะทำให้หินผุพังลงตามธรรมชาติแบบค่อยเป็นค่อยไปนั้นจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานอย่างมาก กลุ่ม UNDO จึงจำเป็นที่จะต้องผลักดันกระบวนการการผุพังที่เพิ่มมากขึ้นของหิน ด้วยการทำให้หินมีขนาดที่เล็กลง เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวและประสิทธิภาพในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ

 

ทำไมต้องหินบะซอลต์ (Basalt Rock)

 

หินบะซอลต์เป็นหินอัคนีภูเขาไฟ ก่อตัวขึ้นเมื่อลาวาหลอมเหลวเย็นตัวลง มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการเร่งกระบวนการผุพังหรือผุกร่อนให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อเร่งการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศโลก อีกทั้งหินบะซอลต์มีความปลอดภัยในการใช้งานและมีประโยชน์อย่างมากต่อพืชผลทางการเกษตร รวมถึงปรับปรุงคุณภาพทุ่งหญ้าที่ใช้สำหรับการปศุสัตว์ให้ดียิ่งขึ้นได้อีกด้วย

 

UNDO อธิบายเพิ่มเติมว่า หินบะซอลต์ที่กลุ่มของตนเองใช้นั้นเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมมวลรวมและเหมืองแร่ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานเพิ่มเติมในการจัดหาหินที่จะเข้าสู่กระบวนการเร่งการผุพัง นอกจากนี้หินบะซอลต์ยังเป็นหินที่มีอยู่เป็นจำนวนมากบนโลก จึงทำให้กลุ่ม UNDO สามารถปรับขนาดการดำเนินงานนี้ได้อย่างยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น

 

การผุพังที่เพิ่มมากขึ้นของหินบะซอลต์มีส่วนช่วยรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร

 

กระบวนการผุพังของหินเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนาน การเร่งให้หินบะซอลต์ผุพังลงเร็วยิ่งขึ้นด้วยการทำให้หินก้อนใหญ่ๆ มีขนาดที่เล็กลงจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างมาก เพื่อเพิ่มพื้นผิวและประสิทธิภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศไว้อย่างถาวร 

 

UNDO ระบุว่า เป็นระยะเวลานานหลายล้านปีแล้วที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมตัวกับน้ำฝนกลายเป็นกรดคาร์บอนิก เมื่อกรดเหล่านี้เจือจางและตกลงสู่ภูเขา ป่าไม้ และท้องทุ่ง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะทำปฏิกิริยากับหินและดิน เกิดเป็นแร่ธาตุและถูกกักเก็บไว้ในรูปแบบของคาร์บอเนต 

 

เราจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งกระบวนการผุพังดังกล่าวให้เร็วขึ้น ผ่านการทำให้หินบะซอลต์มีขนาดที่เล็กลง รวมถึงจำเป็นที่จะต้องกระจายเศษหินบะซอลต์เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ทำการเกษตรและปศุสัตว์ เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวของหินให้สัมผัสโดยตรงกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผลิตขึ้นจากรากพืชและจุลินทรีย์ในดิน และเพิ่มอัตราการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศหลังจากฝนตกได้อีกทางหนึ่ง

 

โดย UNDO เผยว่า หินบะซอลต์ขนาด 20 ตัน สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ราว 5 ตัน หรือในสัดส่วนหินบะซอลต์ขนาด 4 ตันต่อการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตัน

 

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนแสดงความกังวลว่า เทคนิคการกำจัดคาร์บอนเช่นนี้อาจทำให้ผู้คนส่วนใหญ่หันเหความสนใจไปจากความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีความสำคัญเร่งด่วนกว่า และอาจถูกใช้เป็นข้ออ้างในการใช้ชีวิตแบบที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณที่เข้มข้นต่อไป 

 

ทางด้าน ดร.สตีฟ สมิธ ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดคาร์บอนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า ปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผล และแนวทางนี้อาจกลายเป็นหนึ่งในขั้นตอนพื้นฐานในการทำการเกษตรในอนาคตก็เป็นได้ แต่ถึงกระนั้น การวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกกำจัดออกไป รวมถึงสถานที่จัดเก็บที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการที่ยังไม่มีระบบมาตรวัดที่เป็นมาตรฐานชัดเจนในขณะนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่ท้าทายและมีความสำคัญต่อแนวทางที่จะช่วยรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกด้วยแนวทางนี้อย่างมาก 

 

โดยในปี 2023 UNDO ตั้งเป้าที่จะกระจายหินบะซอลต์จำนวน 185,000 ตันไปยังพื้นที่ต่างๆ และหวังว่าภายในปี 2025 ที่จะถึงนี้ จะสามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ราว 1 ล้านตัน ซึ่งยังถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 3.7 หมื่นล้านตันที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ เมื่อปี 2022 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ต่างชี้ว่า ระดับปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศปัจจุบันสูงสุดในรอบอย่างน้อย 2 ล้านปี การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกชนิดนี้ รวมถึงการกำจัดก๊าซนี้ออกจากชั้นบรรยากาศ จึงมีความสำคัญไม่น้อยต่อการรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกในปัจจุบัน

แฟ้มภาพ: Drotyk Roman / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X