×

เพิ่มภาษีสรรพสามิต ราคาเหล้า-บุหรี่ พุ่ง! ลดการบริโภคได้จริงไหม

15.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า มาตรการราคาและภาษีจะช่วยลดปัญหาบุหรี่ และสุราลงได้ อีกทั้งยังเป็นมาตรการ Best Buy ที่ทำได้ง่ายที่สุด ได้ผลมากที่สุด และใช้ต้นทุนน้อยที่สุด
  • ถ้าราคาบุหรี่แพงขึ้น 10% จะลดการบริโภคลงได้ 4% ในประเทศที่มีรายได้สูงหรือรายได้ปานกลาง แต่ถ้าเป็นประเทศที่มีรายได้น้อยจะลดการบริโภคได้มากกว่านั้น ซึ่งตามหลักการแล้วควรมีการปรับราคาบุหรี่ให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ หรือคิดภาษีมากกว่า 70% ของราคาขาย
  • งานวิจัยทั่วโลกมากมายรองรับว่า การขึ้นราคามีผลทำให้ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ลดลงได้จริง แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่ออุปสงค์ต่ำ หมายความว่าหากขึ้นราคา 10% แต่ในความเป็นจริงผู้บริโภคอาจจะลดการบริโภคลงไม่ถึง 10% คือต่อให้ขึ้นราคามาก แต่คนดื่มจะลดไม่มาก

 

     16 กันยายนนี้เราจะได้รู้กันแล้วว่านักดื่ม นักสูบ ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเท่าไร หลังโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสุราและบุหรี่ จะประกาศอย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษา

     ซึ่งโครงสร้างภาษีดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจาก พ.ร.บ. สรรพสามิตฉบับใหม่ ที่จะประกาศใช้วันที่ 16 กันยายน 2560 โดยเป็นการรวบรวมกฎหมายสรรพสามิตเดิม 7 ฉบับมารวมไว้ในฉบับเดียว เปลี่ยนวิธีคิดคำนวณภาษีสรรพสามิตใหม่แบบยกแผง และเพิ่มเพดานการจัดเก็บให้สูงขึ้นเพื่อให้สามารถมีผลบังคับใช้ได้ในอนาคตอย่างน้อย 20 ปี

     หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า ‘ภาษีบาป’ เวอร์ชันใหม่อาจทำให้ราคาบุหรี่-เหล้า ปรับตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

     หลายเสียงออกมาแสดงออกถึงความไม่พอใจที่รัฐจะขึ้นภาษี หรือแม้แต่โรงงานยาสูบเองยังออกมาแสดงความกังวลว่ารายได้จะหดหายไปกว่า 7,000 ล้านบาทจากโครงสร้างภาษีนี้

     ทำไมต้องขึ้นภาษีเหล้า-บุหรี่? คำถามนี้อาจปรากฏขึ้นในใจของนักดื่ม นักสูบจำนวนมากในเวลานี้ แม้จะรู้คำตอบดีอยู่แล้วว่าที่รัฐบาลขึ้นภาษีเป็นเพราะต้องการจะจำกัดจำนวนนักดื่ม นักสูบให้เหลือน้อยลง

     คำถามสำคัญคือ ขึ้นภาษีแล้วคุ้มไหม จะลดปริมาณการบริโภคสินค้าเหล่านี้ได้จริงๆ หรือ?

 

Photo: Malochka Mikalai/shutterstock

 

ภาษีบาป มาตรการสำคัญที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ

     เพื่อตอบคำถามว่าขึ้นภาษีสรรพสามิตแล้วจะลดการดื่ม-สูบได้จริงแค่ไหน คงต้องไปดูนโยบายที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO แนะนำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกนำไปใช้ โดยอ้างอิงจากงานวิจัยในประเทศต่างๆ ที่เชื่อถือได้

     สำหรับมาตรการลดการดื่มสุราที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าเป็น Best Buy หรือมาตรการที่ทำได้ง่ายที่สุด ใช้ได้ผลมากที่สุด ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด ประกอบไปด้วย 3 มาตรการ

     1. มาตรการเรื่องการเข้าถึง เช่น ลดช่องทางจัดจำหน่าย ลดเวลาจัดจำหน่าย หรือจัดโซนนิ่งสถานที่จัดจำหน่าย

     2. มาตรการด้านภาษีและราคา หรือการใช้กลไกตลาดเพื่อทำให้ราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีราคาแพงขึ้น เพื่อลดความต้องการซื้อลง

     3. มาตรการด้านการตลาด เช่น การห้ามโฆษณา ห้ามจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย หรือแม้แต่ห้ามโพสต์ภาพที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

     ส่วนมาตรการลดการบริโภคบุหรี่ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าเป็น Best Buy มีทั้งหมด 4 มาตรการ ประกอบด้วย

      1. ขึ้นภาษี

      2. ห้ามโฆษณา ส่งเสริมการขาย

      3. ห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ต่างๆ

      4. การเตือนพิษภัยและการรณรงค์

 

     ซึ่งมาตรการด้านภาษีถือเป็น Best Buy อันดับ 1 ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ

     จากมาตรการที่กล่าวไปแล้วจะเห็นได้ว่าประเทศไทยได้นำมาปรับใช้ทุกมาตรการ โดยการออกกฎหมายควบคุมแต่ละประเด็น โดยเฉพาะการขึ้นภาษีที่มีการปรับเปลี่ยนมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อนำมาใช้แล้วเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนแค่ไหนยังคงเป็นคำถาม

 

สรรพสามิตยืนยันขึ้นภาษีเพราะสุขภาพประชาชนและความเป็นธรรม ไม่หวังรายได้เพิ่ม

     ย้อนกลับมาดูมาตรการภาษีสรรพสามิตบุหรี่-เหล้าล่าสุดของไทย ที่แม้จะยังไม่ประกาศโครงสร้างการจัดเก็บอย่างเป็นทางการ แต่ก็พอจะคาดการณ์ได้จากข้อมูลที่มีการเปิดเผยมาก่อนหน้านี้ ที่แน่ๆ คือ สมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิตยืนยันว่า ไม่ได้ขึ้นภาษีจนราคาถีบตัวสูงขึ้น เช่น ราคาขายปลีกบุหรี่เพิ่มขึ้นซองละ 30 บาท ตามที่เป็นข่าวอย่างแน่นอน

    นอกจากนี้ อธิบดีกรมสรรพสามิตยังชี้แจงกับสื่อมวลชนว่าการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้คำนึงถึงสุขภาพประชาชน และความเป็นธรรมเป็นหลัก ไม่ได้เน้นการหารายได้เข้ารัฐ และจะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ และผู้บริโภคให้มีน้อยที่สุด

     โดยหลักการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่ของกรมสรรพสามิตมี 2 รูปแบบ คือเก็บภาษีตามปริมาณ และเก็บภาษีตามมูลค่า ซึ่งที่ผ่านมาหากคำนวณภาษีขาไหนแล้วรัฐได้รายได้สูงสุดจะใช้วิธีนั้น แต่ปรากฏว่ามีการสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อความเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างภาษีใหม่โดยคิดตามปริมาณ และมูลค่ารวมกัน ที่สำคัญคือใช้ราคาขายปลีกตามท้องตลาดเป็นราคาเกณฑ์

     หลักการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่คือ ไม่ว่าจะผลิตบุหรี่มวนเล็กหรือมวนใหญ่ ต้องเสียภาษีมวนละ 1.20 บาท ซึ่งเป็นการเก็บภาษีตามปริมาณ จากนั้นให้ใช้ราคาขายปลีกมาเป็นเกณฑ์อ้างอิง หากตั้งราคาขายปลีกสูงกว่า 60 บาท ต้องเสียภาษี 40% ของมูลค่า แต่ถ้ากำหนดราคาขายปลีกต่ำกว่า 60 บาท ให้เสียภาษีในอัตรา 20% ของมูลค่า เป็นเวลา 2 ปีนับจากวันที่มีผลบังคับใช้ หลังจากนั้นจึงจะปรับเป็นอัตรา 40% ของมูลค่าเท่ากันไม่ว่าจะขายปลีกในราคาใดก็ตาม

     ส่วนโครงสร้างภาษีเหล้า เบียร์ จะจัดเก็บทั้งตามปริมาณและมูลค่าเช่นเดียวกับบุหรี่ แต่เน้นไปที่ปริมาณแอลกอฮอล์ ซึ่งเดิมให้น้ำหนักไปที่การจัดเก็บภาษีตามมูลค่าประมาณ 80% และตามปริมาณแอลกอฮอล์ 20% แต่โครงสร้างใหม่จะให้น้ำหนักที่มูลค่า 60% และตามปริมาณแอลกอฮอล์อีก 40% ดังนั้น เหล้าหรือเบียร์ที่มีดีกรีสูงๆ ก็จะต้องเสียภาษีแพงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะทำให้ราคาเหล้าสีและเหล้าขาวปรับราคาขึ้นขวดละ 3-7 บาทเท่านั้น

 

Photo: Mildenmi/shutterstock

 

บุหรี่อาจไม่ลดถ้าราคาไม่สูงพอ

     สำหรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ที่ออกมา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่า จากที่อธิบดีกรมสรรพสามิตให้สัมภาษณ์ว่าจะหลีกเลี่ยงไม่ได้กระทบกับผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ส่วนตัวมองว่าราคาคงไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก ดังนั้น แม้หลักการคำนวณภาษีสรรพสามิตใหม่จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังไม่ดีจริง

     “จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า ถ้าราคาบุหรี่แพงขึ้น 10% จะลดการบริโภคลงได้ 4% ในประเทศที่มีรายได้สูงหรือรายได้ปานกลาง แต่ถ้าเป็นประเทศที่มีรายได้น้อยจะลดการบริโภคได้มากกว่านั้น ทีนี้เมื่อดูอัตราภาษีใหม่ที่เสนอมามันยังไม่ดีตรงที่มันมี 2 ชั้น คือราคาเกิน 60 บาท ให้คิด 40% ราคาต่ำกว่า 60 บาทให้คิด 20% ซึ่งตรงนี้ยังไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ยิ่งบอกว่าไม่อยากให้กระทบผู้บริโภค และผู้ประกอบการก็ยิ่งไม่สมเหตุสมผล”

 

 

     นอกจากนี้ นพ.ประกิตยังมองว่า ช่วงเวลา 2 ปีที่จะใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่นี้ก่อนจะปรับเปลี่ยนอีกครั้งยังถือว่านานเกินไปเมื่อเทียบกับสภาพตลาด และความเป็นจริงจากการขึ้นราคาบุหรี่ครั้งที่ผ่านมา

     “จริงๆ 6 เดือนผ่านไปน่าจะพอรู้ว่าถ้าใช้อัตรานี้การบริโภคจะเป็นอย่างไร เพิ่มขึ้น หรือลดลงเท่าไร การเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการเป็นอย่างไร บริษัทบุหรี่จะแก้เกมอย่างไร เพราะทุกครั้งที่มีการขึ้นภาษี ภายใน 4 เดือนเราจะเห็นบริษัทบุหรี่ออกมาแก้เกม เช่น ออกบุหรี่ยี่ห้อใหม่ที่มีราคาถูกลง ซึ่งถ้าใช้ไป 6 เดือนแล้วไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คือการบริโภคไม่ได้ลด และรายได้ก็ไม่เพิ่ม ผมว่า 6 เดือนก็น่าจะปรับได้แล้ว”

     นพ.ประกิต ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า โดยหลักการขึ้นภาษีไม่ว่าจะใช้รูปแบบใด สิ่งสำคัญคือต้องขึ้นให้มากกว่าอัตราเงินเฟ้อ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งหากขึ้นราคาแล้วแต่การบริโภคยังไม่ลด แสดงว่ายังขึ้นไม่สูงพอ จำเป็นต้องขึ้นต่อไปจนการบริโภคเริ่มลดลง ซึ่งโดยทั่วไปภาษีที่เสียทั้งหมดต้องไม่น้อยกว่า 70% ของราคาขายปลีก

     “อย่างในออสเตรเลียเขาขึ้นภาษีทุกปี ปีละ 12.5% ดังนั้น ถ้าต้องการให้การบริโภคลดลง รัฐจำเป็นต้องขึ้นภาษีให้มากกว่ากำลังซื้อที่มากขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ แต่ของเราไม่เคยถึงอัตราเงินเฟ้อเลย ถึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจำนวนคนสูบบุหรี่ไม่ได้ลดลงเท่าที่ควร”

     อีกสิ่งที่ต้องคำนึงคือการปิดช่องทางที่จะทำให้เกิด trading down effect หรือการที่ผู้บริโภคจะลดระดับไปสูบบุหรี่ที่ราคาถูกกว่า และทำให้ตลาดบุหรี่ราคาถูกขยายตัวอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ไม่ว่าจะสูบบุหรี่ถูกหรือแพง นพ. ประกิตยืนยันว่ามีความอันตรายไม่ต่างกัน

     ซึ่งหลังจากนี้มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่จะทำการสำรวจในช่วงเวลา 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน เกี่ยวกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ที่จะเปลี่ยนไปหรือไม่หลังมีการปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็เตรียมทำข้อเสนอให้กับรัฐบาลต่อไป

 

 

เหล้า-เบียร์ ลดไม่มาก แต่เพิ่มรายได้ให้รัฐแน่นอน

     ด้าน ดร.นพ. อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศ CE-HSMR มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่า โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับหลักการ เพราะมีงานวิจัยทั่วโลกมากมายรองรับว่าการขึ้นราคามีผลทำให้ปริมาณการดื่มลดลงได้จริง แต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่ออุปสงค์ต่ำ หมายความว่าหากขึ้นราคา 10% แต่ในความเป็นจริงผู้บริโภคอาจจะลดการบริโภคลงไม่ถึง 10% คือต่อให้ขึ้นราคามาก แต่คนดื่มจะลดไม่มาก แม้จะลดแน่นอน

     สอดคล้องกับผลวิจัยเรื่อง ความยืดหยุ่นต่อราคาและความยืดหยุ่นไขว้ของอุปสงค์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ที่จัดทำโดย ผศ.ดร. นพพล วิทย์วรพงศ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ทำการสำรวจนักดื่มอายุมากกว่า 15 ปี จำนวน 3,559 คน จนพบว่าเบียร์เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเดียวที่ผู้ดื่มจะลดการบริโภคลงหากราคาปรับเพิ่มขึ้น แต่มีผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่ำ (อยู่ในช่วง -0.057 ถึง -0.073) ดังนั้น การเพิ่มภาษีเบียร์อาจไม่ได้ลดปริมาณการดื่มลง แต่อาจสามารถเพิ่มรายได้ทางภาษีให้กับรัฐบาลได้

     “เวลาทำมาตรการภาษี หรือขึ้นราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไป สมมติขึ้น 100% อาจจะเห็นคนดื่มลดลงแค่ 2-3% ในมุมมองของคนทั่วไปอาจจะไม่รู้สึกว่ามันลดได้จริง เพราะไปผับก็ยังเจอคนดื่ม หรือเห็นเพื่อนฝูงดื่มตามปกติ ซึ่งมาตรการพวกนี้ต้องใช้เวลาพิสูจน์”

 

 

     นอกจากนี้ ดร.นพ. อุดมศักดิ์ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างจากบุหรี่ ตรงที่สังคมมองเห็นอันตรายของบุหรี่อย่างชัดเจน ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังมีเรื่องของวัฒนธรรมการดื่ม และอรรถประโยชน์อื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การเข้าสังคม ทำให้คนบางส่วนคิดว่ามันไม่ได้เป็นอันตราย

     ที่สำคัญคือแม้จะมีการปรับราคาสูงขึ้น แต่ปริมาณนักดื่มอาจไม่ได้ลดลงเพราะปัจจัยด้านราคาเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ต้องมององค์ประกอบอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย

     “ถ้าเราไปดูปริมาณการขายเฉยๆ หรือดูจำนวนคนดื่มเฉยๆ คงไม่ถูกต้อง เพราะต้องเข้าใจว่าโลกความเป็นจริงมันไม่ได้มีผลกระทบจากเรื่องราคาแค่อย่างเดียว เช่น ผมขึ้นภาษีสุรา 100% ถ้าปัจจัยตัวอื่นไม่ได้เปลี่ยนแปลง อาจจะลดการดื่มได้ 50% แต่นอกจากราคาแล้ว บริษัทสุราอาจทำการตลาดหนักมากในปีนั้น จัดอีเวนต์คอนเสิร์ตขนาดใหญ่ เชิญนักร้องบิลบอร์ดระดับโลกมาทำกิจกรรม ถามว่าปีนั้นคนจะดื่มสุราเพิ่มขึ้นไหม ก็อาจจะเพิ่มขึ้นได้ ฉะนั้นการดูตัวเลขดิบๆ จะบอกไม่ได้หรอกว่ามันเป็นผลมาจากสิ่งที่เราทำหรือเปล่า เพราะมันอาจจะมีเอฟเฟกต์ตัวอื่นๆ เข้ามาปนด้วย หรือปีนี้ถ้าบอกว่าการดื่มสุราลดลง ถามว่าจะเคลมได้ไหมว่าเป็นเพราะนโยบายไหน แล้วถ้าตัวเลขคนดื่มเพิ่ม ถามว่านโยบายไม่ได้ผลหรือเปล่า ก็คงไม่ใช่”

     แต่ถึงจะลดปริมาณการดื่มได้แม้เพียงเล็กน้อยจากการขึ้นภาษี ดร.นพ. อุดมศักดิ์ ก็ยังมองว่าเป็นเรื่องที่คุ้มค่าแบบไม่ต้องคิด เพราะอันตรายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมากกว่าอรรถประโยชน์ที่นักดื่มจะได้รับอยู่แล้ว นอกจากนี้รัฐบาลยังจะได้ภาษีเพิ่มอีกด้วย เพราะสำหรับสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่ออุปสงค์ต่ำกว่า 1 การขึ้นราคาจะทำให้รายได้จากการขายต่อหน่วยเยอะขึ้น แปลว่าลดได้ทั้งปริมาณการดื่ม และรัฐบาลยังได้เงินเพิ่มอีกด้วย

     “สุดท้ายเรื่องสุราไม่ได้หมายความว่าดำเนินนโยบายสุดขั้วไปทางใดทางหนึ่งแล้วปัญหามันจะจบ มันก็ต้องอยู่กลางๆ สักจุดหนึ่ง ต้องยอมรับว่ามันคงไม่หายไปไหน ยังไงก็จะมีคนเสพกลุ่มหนึ่งแน่ๆ แต่จะทำยังไงให้คนกลุ่มนี้ไม่สร้างให้เกิดปัญหาในสังคมวงกว้าง

     “ซึ่งการทำนโยบายสาธารณะอะไรก็แล้วแต่ มันมีทั้งคนได้ และคนเสียแน่ๆ บางคนคิดว่าเขาจำเป็นต้องดื่มสุราทุกวันศุกร์และเสาร์ เขาให้ความสำคัญกับการเข้าสังคม บางคนขายสุรา แปลว่าการทำนโยบายสาธารณะเราไม่สามารถมองจากมุมเดียวแบบตรงไปตรงมาได้ สุดท้ายต้องมีการถกเถียงกัน ดีเบตกันบนพื้นฐานของข้อมูลที่เท่าเทียมกัน จากนั้นค่อยตกผลึกออกมาเป็นนโยบาย แบบนั้นน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว”

 

Cover Photo: AjayTvm/shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising