ท่ามกลางพัฒนาการที่รวดเร็วของเทคโนโลยี และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก UOB เปิดเผยชุดข้อมูลเชิงลึกของภาคธนาคารและการเงินไทย-ภูมิภาคอาเซียน ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 หัวข้อ Thailand’s Future Finance: Rising to Regional Prominence เร่งเครื่องภาคการเงินไทย สู่อนาคตศูนย์กลางภูมิภาค โดยชี้ว่า การเปลี่ยนผ่าน (Transform) ภาคการเงินไทยสู่ยุคดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญ และสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคได้
เปิดภาพรวมอุตสาหกรรมธนาคารและการเงินไทย
Enrico Tanuwidjaja, Economist at Global Economics and Market Research, UOB Group เปิดเผยว่า
โดยระบุว่า โครงสร้างของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ (Banking) ในไทย รวมทั้งในภูมิภาคอาเซียน ส่วนมากจะเป็นแบบที่มีผู้แข่งขันน้อยราย (Oligopoly) อย่างเช่นในประเทศไทยก็กระจุกตัวอยู่แค่ใน 4 แบงก์ใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เห็นได้จาก 60% ของเงินฝากทั่วประเทศอยู่ใน 4 ธนาคารแห่งนี้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่ไม่มีบัญชีธนาคาร (Unbanked Population) ต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยอยู่ที่ 16% ของจำนวนประชากรทั้งหมดเท่านั้น
แม้ว่าเงินสด (Cash) ยังคงเป็นเครื่องมือการชำระเงินหลักของคนไทย โดยตามการสำรวจพบว่า ผู้คนส่วนใหญ่ใช้จ่ายด้วย ‘เงินสด’ ราว 30% ของการใช้จ่ายทั้งหมดในหนึ่งสัปดาห์ และการชำระเงินด้วยเงินสดในไทยยังค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเป็นรองเพียงฟิลิปปินส์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ลูกค้าธนาคารในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ระบบธนาคารดิจิทัลมากขึ้น โดย 76% ของชาวไทยสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ นอกจากนี้ อัตราดังกล่าวยังคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องภายในปี 2025
Enrico Tanuwidjaja, Economist at Global Economics and Market Research, UOB Group
ทำไมภาคการเงินไทยควรเร่งการทรานส์ฟอร์ม
ผลสำรวจยังพบว่า ‘ธนาคาร’ ยังคงเป็นผู้ให้บริการทางการเงิน (Financial Provider) ที่ผู้คนไว้วางใจที่สุดในการเติมเต็มความต้องการทางการเงิน (Financial Needs) คิดเป็น 86% ของผู้ตอบแบบสอบถาม นำหน้าผู้ให้บริการโทรคมนาคม (Telco Providers) ที่ 75% ของผู้ตอบแบบสอบถามให้ความไว้วางใจ
Enrico Tanuwidjaja ยังมองว่า การบริการทางการเงินบนมือถือ (Mobile-led Financial Services) ในไทยน่าจะเร่งตัวขึ้นต่อ เนื่องจากโครงสร้างประชากรไทยมีคนรุ่นใหม่ และเป็นบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีสูง (Tech Savvy) นอกจากนี้ การเชื่อมต่อกับโทรศัพท์ (Mobile Connection) ยังสูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์
ตามการสำรวจแสดงให้เห็นว่า ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยใช้แอปพลิเคชันประเภท ‘การเงินดิจิทัล (Digital Finance)’ (ซึ่งรวมถึงแอปพลิเคชันธนาคาร) มากที่สุดเมื่อเทียบกับแอปพลิเคชันประเภทอื่นๆ คิดเป็น 83% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มากกว่าแอปพลิเคชันประเภทโซเชียลมีเดีย (Social Media), ส่งอาหาร (Food Delivery), เกม (Video Games) และร้านขายของชำออนไลน์ (Online Grocery)
อีกผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้มีบัญชีธนาคาร สถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการทางการเงินในประเทศไทยมีสัดส่วนถึง 95.6% ต่อประชากรทั้งหมดที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่ยังใช้บริการโอนเงินและฝากเงินเป็นหลักเท่านั้น สะท้อนว่ายังมีพื้นที่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ อีกมาก
Digital Banking ช่วยลดต้นทุนธนาคารแบบดั้งเดิมเหลือ 1 ใน 3
แม้ว่าการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ซึ่งนำไปสู่อุตสาหกรรม Financial Technology (FinTech) จะเข้ามาเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจธนาคาร และด้วยความต้องการสาขาของธนาคารที่ลดลง แต่บริการในด้านต่างๆ ของธนาคารจะยังเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อผู้คน
“บริการด้านการเงินจะเปลี่ยนรูปแบบจากแค่เน้นการออมเงินและปล่อยกู้ ไปสู่การให้บริการบริหารความมั่งคั่ง เช่น ประกัน การลงทุน วางแผนการใช้จ่าย” Enrico Tanuwidjaja กล่าว
ช่วงเวลาภายใน 10 ปีข้างหน้า สาขาของธนาคารจะน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่การทำ Digital Banking ใช้ต้นทุนเพียง 1 ใน 3 ของธนาคารสาขา (Physical Bank)
Enrico Tanuwidjaja ยังชี้ว่า กุญแจสำคัญของการทำทรานส์ฟอร์มสำหรับแบงก์คือ การฝึกฝนทักษะใหม่ๆ ให้กับพนักงาน โดยเฉพาะทักษะด้าน AI และ Blockchain ซึ่งจะช่วยยกระดับบริการด้านต่างๆ ของแบงก์ให้ดียิ่งขึ้น เช่น การชำระเงิน, การออม, การระดมทุน, การลงทุน และการบริหารความมั่งคั่ง
เปิด 4 เทรนด์ที่ภาคการเงินควรคว้าโอกาส
Enrico Tanuwidjaja เปิดเผยอีกว่า อุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นเทรนด์ของการบริโภค 4 ส่วนที่ภาคการเงินต้องให้ความสำคัญ สามารถนิยามได้ผ่าน 4S ได้แก่ Sun หมายถึงการท่องเที่ยว, Skin หมายถึงความงาม, Sugar หมายถึงอาหาร และ Screen หมายถึงความบันเทิง
นอกจากนี้ บริการทางการเงินที่สำคัญและจำเป็นมากขึ้นในอนาคตคือ บริการการเงินด้านเฮลท์แคร์ ซึ่งจำเป็นมากขึ้นในยุคสังคมสูงวัย รวมทั้งการให้บริการทางการเงินกับอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดด้วย
การพัฒนาภาคการเงินช่วยกระตุ้น GDP ได้
UOB ยังชี้ให้เห็นว่า ภาคการเงินนับว่ามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค (Regional Connectivity) ท่ามกลางแนวโน้มการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization)
นอกจากนี้ การยกระดับเสถียรภาพของสถาบันการเงินในประเทศให้มีความมั่นคง ยังเป็นหนึ่งในการปฏิรูปที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นในภูมิภาค
โดยตามข้อมูลจาก ASEAN Statistics และ UOB Global Economics & Markets Research แสดงให้เห็นว่า ภาคการเงินครองสัดส่วนเกือบ 9% ของ GDP ไทย ปี 2022