วันนี้ (19 กุมภาพันธ์) พรรคก้าวไกลแถลงข่าวจับตานโยบาย (Policy Watch) ‘ภาษีต้องเป็นธรรม อย่าให้สินค้าต่างชาติบนแพลตฟอร์มฆ่า SME ไทย’ โดย สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
โดยภาพรวมเป็นการแถลงตั้งข้อสังเกตพร้อมข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ในการแก้ปัญหาช่องว่างทางภาษีที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์สินค้าต่างชาติล้นตลาดเข้ามาเอาเปรียบผู้ประกอบการชาวไทย และส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค
ช่องว่างยกเว้นภาษีนำเข้า กำลังเอาเปรียบผู้ประกอบการไทย
สิทธิพลระบุว่า ปัจจุบันการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ สินค้าจากต่างชาติสามารถอาศัยช่องว่างทางภาษีที่อนุญาตให้สินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ไม่ต้องเสียอากรนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่สินค้าไทยจากผู้ประกอบการไทยต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรก นั่นหมายความว่าผู้ประกอบการไทยกำลังถูกเอาเปรียบจากช่องว่างทางภาษีตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ภาคเอกชนได้เคยร้องเรียนปัญหาดังกล่าวนี้มายังคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งมีตนเป็นประธาน ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญทั้งผู้ประกอบการ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมสรรพากร กรมศุลกากร กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มาให้ข้อมูล และต่อมาได้นำไปสู่การแถลงข่าวเพื่อเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้มีมาตรการแก้ไข
สิทธิพลกล่าวต่อไปว่า เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตลอดจนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมารับข้อเสนอทั้งจากคณะกรรมาธิการฯ และจากภาคเอกชน ที่ขอให้ภาครัฐพิจารณาทบทวนช่องว่างทางภาษีเหล่านี้ที่กำลังเอาเปรียบพี่น้อง SMEs
ภาษีนับแสนล้านไหลเข้ากระเป๋าต่างชาติ
วันนี้พรรคก้าวไกลจึงขอสื่อสารไปยังรัฐบาลถึงสิ่งที่ต้องทำว่ามีอะไรบ้าง ประการแรกคือ ต้องมีการไปแก้ประกาศซึ่งเป็นต้นตอของปัญหานี้ ซึ่งก็คือประกาศกรมศุลกากรที่ 191/2561 ที่ระบุหลักเกณฑ์ว่า สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ไม่ต้องเสียอากรนำเข้า นั่นหมายความว่าตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา สาเหตุหนึ่งที่ทำให้พ่อค้าแม่ค้าชาวไทยและสินค้าไทยไม่สามารถขายได้ ก็เพราะมีการยกเว้นให้กับสินค้าจากต่างชาติที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ไม่ต้องจ่ายอากรนำเข้า และเมื่อไปรวมกับประมวลรัษฎากรมาตรา 81 (2) (ค) ที่ให้สินค้าที่ได้รับการยกเว้นอากรนำเข้าไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปด้วย ก็ยิ่งทำให้สินค้าที่มาจากต่างชาติที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ไม่ต้องเสียทั้งอากรนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตัวอย่างของผลกระทบที่เกิดจากประกาศฉบับนี้ สมมติกรณีพ่อค้าไทยกับพ่อค้าต่างชาติที่ขายสินค้าประเภทเดียวกัน สมมติว่าเป็นเสื้อหนึ่งตัว ขายที่ราคา 500 บาท ผู้ประกอบการไทยที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เช่น ผ้า ต้องเสียอากรนำเข้า ต้องจ่ายค่าแรง สมมติ 100 บาท ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มอีกประมาณ 32 บาท นั่นหมายความว่าต้นทุนทั้งหมดสำหรับผู้ประกอบการไทยอยู่ที่ประมาณ 232 บาทแล้ว ขณะที่พ่อค้าขายเสื้อสำเร็จรูปจากต่างชาติ นำเข้าสินค้ามาก็ไม่ต้องเสียภาษีเพราะมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ไม่ต้องเสียภาษีทั้งในส่วนของต้นทุนวัตถุดิบ ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แถมค่าแรงอาจจะถูกกว่าอีก นั่นหมายความว่าต้นทุนอย่างมากของเขาก็อยู่ที่ 200 บาทเท่านั้น
สิทธิพลระบุว่า ในกรณีเช่นนี้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบตั้งแต่ในมุ้งแล้ว ขายสินค้าประเภทเดียวกัน อย่างไรก็มีโอกาสเอาชนะสินค้าต่างชาติได้ยาก วันนี้สิ่งที่ภาคเอกชนไทยคาดหวังไม่ใช่การไม่ต้องเสียภาษี แต่พวกเขาคาดหวังว่าจะไม่ถูกเอาเปรียบจากสินค้าต่างชาติที่ไม่ต้องจ่ายภาษี
นอกจากนี้ หลายคนอาจมองว่าสินค้าไทยได้เปรียบจากตำแหน่งที่ตั้ง สามารถส่งได้ง่ายและสะดวกกว่า แต่วันนี้ข้อได้เปรียบนี้หายไปแล้ว จากข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศและระเบียบกรมศุลกากรที่เปิดช่องว่างให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Free Trade Zone Distribution Center (โกดังปลอดภาษี) ที่ผู้ค้าต่างชาติสามารถเอาสินค้ามาพักในโกดังในประเทศไทยได้โดยยังไม่ต้องจ่ายภาษี เมื่อมีคนไทยช้อปปิ้งออนไลน์ก็ค่อยส่งจากโกดังนั้นไปยังบ้านเรือนประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อรวมกับการยกเว้นให้สินค้าที่ราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ไม่ต้องเสียอากรนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ยิ่งทำให้สินค้าต่างชาติบนแพลตฟอร์มทะลักเข้าสู่ตลาดไทยได้อย่างง่าย
สิทธิพลยังกล่าวต่อไปว่า จากการประมาณการของสถาบันวิจัย Krungthai COMPASS พบว่ามูลค่าการค้าของสินค้าบนแพลตฟอร์มดิจิทัลอยู่ที่ปีหนึ่งประมาณ 6-7 แสนล้านบาท ซึ่งตนอนุมานว่าสินค้าที่มาจากแพลตฟอร์มต่างชาติที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท มีปริมาณมาก อาจจะอยู่ที่ราว 90% ของ 6-7 แสนล้านบาทนี้ นั่นหมายความว่าแต่ละปี 4-5 แสนล้านบาทกำลังไหลไปสู่ต่างประเทศจากช่องว่างทางภาษี และรายได้ส่วนนี้ รัฐเก็บภาษีไม่ได้
นอกจากนี้ สิ่งที่ภาคเอกชนร้องเรียนผ่านคณะกรรมาธิการฯ และพรรคก้าวไกล ก็คือวันนี้สินค้าจำนวนมากที่อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์กำลังไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของสินค้า ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มอาหาร ยา อาหารเสริม วิตามิน ที่หากเป็นสินค้าไทยจำเป็นต้องขอ อย. หรืออุปกรณ์อื่นๆ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า ก็ต้องขอ มอก.
แต่ปรากฏว่ามีสินค้าบนแพลตฟอร์มจำนวนมากที่มาจากต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานเหล่านี้ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบสองทาง ทางแรกคือ มีโอกาสส่งผลร้ายต่อผู้บริโภค ประชาชนที่เห็นสินค้าประเภทเดียวกันไม่สามารถรู้ได้ว่าชิ้นไหนมีเลข อย. หรือมีเลข มอก. หรือไม่ เห็นแค่ว่าสินค้าเหมือนกันแต่ราคาถูกกว่า ผู้บริโภคก็มักเลือกซื้อสินค้าที่ราคาถูกกว่า นั่นหมายความว่าในอีกมิติหนึ่ง สินค้าไทยจะขายได้ยากขึ้น ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าไปกำกับแพลตฟอร์มออนไลน์ให้สามารถบังคับให้ผู้ค้าบนแพลตฟอร์มเหล่านั้นมีการแสดงเลขจดแจ้ง ไม่ว่าจะเป็น อย. หรือ มอก. เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
กวดขันภาษีแพลตฟอร์ม
สิทธิพลกล่าวต่อไปถึงข้อร้องเรียนประการต่อมาที่ภาคเอกชนส่งข้อร้องเรียนมายังพรรคก้าวไกล ก็คือมีแพลตฟอร์มออนไลน์จำนวนมากที่ให้บริการกับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นดูหนัง ฟังเพลง สื่อโซเชียลมีเดีย หรือการขายโฆษณา ที่ได้รายได้จากคนไทยไปจำนวนมากในแต่ละปี ที่น่าสนใจคือ ในต่างประเทศรัฐบาลสามารถเก็บภาษีจากรายได้ส่วนนี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่คำถามที่ภาคเอกชนส่งเสียงมาก็คือ วันนี้รัฐบาลไทยสามารถจัดเก็บภาษีจากรายได้ของแพลตฟอร์มต่างชาติเหล่านี้ได้ครบถ้วนหรือไม่
จากการชี้แจงในคณะกรรมาธิการฯ โดยกรมสรรพากร พบว่าในปีที่แล้วรัฐบาลสามารถเก็บภาษีในส่วนนี้ที่เรียกว่า VAT for Electronic Service หรือ VES เป็นจำนวนประมาณ 6-7 พันล้านบาท จากยอดการค้าประมาณ 1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนประเมินว่ายอดรายได้ที่เกิดขึ้นจริงจากบริการออนไลน์น่าจะอยู่ที่ราว 2 แสนล้านบาท หรือพูดง่ายๆ ว่ารายได้ภาษีที่รัฐบาลควรจะเก็บได้อาจจะตกหล่นไปกว่าครึ่งหนึ่ง
ดังนั้นภาคเอกชนจึงเรียกร้องให้รัฐบาลมีกระบวนการในการติดตามอย่างเพียงพอ เพื่อกวดขันว่าแพลตฟอร์มต่างชาติเหล่านี้ได้มาขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากรหรือกระทรวงการคลังครบถ้วนหรือยัง วันนี้มีการมาขึ้นทะเบียนแล้วประมาณ 177 ราย ยังมีใครที่อยู่นอกเหนือจากนี้ที่ทำธุรกิจกับคนไทยแต่ยังไม่ได้มาจดแจ้งหรือไม่ และสามารถไปตรวจสอบได้หรือไม่ว่าแต่ละบริษัทได้นำส่งภาษีครบถ้วนหรือไม่
สิทธิพลกล่าวต่อไปว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด พรรคก้าวไกลจึงไปรวบรวมมาว่าในต่างประเทศมีปัญหาแบบเดียวกันนี้หรือไม่ ก็พบว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยเป็นที่แรก ในอาเซียนเองก็มีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น ที่ประเทศอินโดนีเซีย ที่ปัจจุบันมูลค่าที่ยกเว้นไม่ต้องจ่ายอากรนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่เพียง 100 บาทเท่านั้น ที่น่าสนใจคือ ยอด 100 บาทนี้ อินโดนีเซียเพิ่งปรับลดลงจากก่อนหน้านี้ที่อยู่ที่ 2,000 บาทเมื่อปี 2020
นอกจากนี้ จากการประเมินของสถาบันวิจัยนโยบายเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ Cube Asia ประเมินว่า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่มีขนาดตลาดอีคอมเมิร์ซใหญ่ใกล้เคียงกัน ก็พบว่าอีคอมเมิร์ซไทยมีการกำกับดูแลจากรัฐน้อยกว่าในต่างประเทศ นี่เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า ณ ปัจจุบันการกำกับดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงภาษี ในเชิงคุ้มครองผู้ประกอบการ ในเชิงการดูแลผลกระทบ ปัจจุบันยังน้อยไปและยังไม่เพียงพอ
การบ้าน 3 ข้อจากก้าวไกลถึงรัฐบาล
สิทธิพลกล่าวต่อไปว่า สิ่งที่อยากฝากไปยังรัฐบาลเป็นการบ้านง่ายๆ มีไม่กี่เรื่อง และไม่จำเป็นต้องไปศึกษาเพิ่มแล้ว เพราะสิ่งนี้เป็นข้อเรียกร้องที่ภาคเอกชนเรียกร้องมา 3-4 ปีแล้ว และทุกครั้งภาครัฐก็บอกว่ากำลังศึกษาอยู่ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำทันทีมีอยู่อย่างน้อย 3 เรื่อง คือ
- แก้ประกาศกรมศุลกากรที่ 191/2561 ไปปรับตัวเลขยอด 1,500 บาทให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม ที่ไม่สร้างผลกระทบความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการชาวไทยหรือสินค้าไทย ซึ่งเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยตรง และสามารถทำได้ทันที
- ต้องมีกระบวนการติดตามที่เพียงพอ ให้แพลตฟอร์มที่ให้บริการจากต่างประเทศต้องมาจดแจ้งและนำส่งรายได้อย่างครบถ้วน สิ่งนี้เป็นอำนาจของกรมสรรพากร ซึ่งก็อยู่ภายใต้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเช่นกัน
- ให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระทรวงดิจิทัลฯ ไปคุยกับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ขายสินค้าในประเทศไทย ซึ่งก็มีไม่กี่เจ้า ให้ไปทำระบบกวดขันผู้ค้าให้ต้องระบุเลข อย. หรือ มอก. พร้อมทำระบบหลังบ้านเพื่อตรวจทานกับ อย. หรือ มอก. ว่าเลขเหล่านั้นเป็นเลขที่จดแจ้งอย่างถูกต้องหรือไม่
“ทั้งหมดนี้ต้องทำทันที เพราะภาคเอกชน พี่น้อง SMEs เขาลำบากมามากและลำบากมานานแล้ว สิ่งเหล่านี้พี่น้อง SMEs จำนวนมากไม่เคยทราบว่านี่คือปัญหาที่เกิดจากช่องว่างทางภาษี แต่เขาเป็นคนได้รับผลกระทบ พี่น้องโรงงาน SMEs จำนวนมากไม่รู้เลยว่าทำไมวันหนึ่งออร์เดอร์ถึงหายไป พวกเขาจำนวนมากเปิดร้านค้าจ่ายค่าเช่า ไม่รู้ว่าทำไมนับวันเขาถึงขายของไม่ได้ นี่คือต้นตอของปัญหา นี่คือความรุนแรงของปัญหาที่ทำให้ครอบครัวกิจการ SMEs ไทยจำนวนมากไปต่อไม่ได้” สิทธิพลกล่าว
สิทธิพลยังกล่าวอีกว่า ทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตลอดจนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ไม่จำเป็นต้องไปศึกษาอะไรอีกแล้ว เพราะมีการศึกษามานานแล้ว ท่านมีหน้าที่ต้องไปทำ เพราะสุดท้ายถ้าท่านไม่รีบแก้จะเกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว รายได้จากการค้าออนไลน์จะไหลไปสู่ต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งจะกระทบกับการประกอบธุรกิจของชาวไทย โรงงานไทย ตลอดจนการจ้างงาน การลงทุน และศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาว