×

Immersion ผีในโลกเสมือนที่ ‘เจ๊ง’ มากกว่า ‘เจ๋ง’

23.09.2023
  • LOADING...
Immersion เกาะผีดุ

Immersion เกาะผีดุ คือผลงานของผู้กำกับ ชิมิซุ ทาคาชิ ที่โด่งดังมาจากภาพยนตร์ชุด Ju-On ว่าด้วยเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์หนุ่ม โทโมฮิโกะ คาตาโอกะ (ไดโกะ นิชิฮาตะ) ที่ถูกทาบทามให้มาเป็นหัวหน้าทีมวิจัย VR บนเกาะพิศวง ซึ่ง ณ ที่แห่งนั้นเองพวกเขาได้สแกนและสร้างพื้นที่เสมือนจริงจากแปลนของเกาะขึ้นมา 

 

ทว่าเมื่อโทโมฮิโกะสวมแว่นตา VR และเข้าสู่โลกเสมือนจริง เขากลับพบว่าในโลกแห่งนี้มีหญิงสาวคนหนึ่งที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ และจากจุดนี้เองที่ทำให้พวกเขาทุกคนกลายเป็นเป้าหมายของ ‘คำสาป’ บางอย่างที่ยึดโยงอยู่กับเกาะนี้ โดยคนที่กุมความลับทั้งหมดอาจเป็นชายแก่คนหนึ่งที่ผู้คนบนเกาะนี้เกลียดชัง

 

Immersion เกาะผีดุ

 

กล่าวอย่างรวดเร็ว จุดเชื่อมโยงอย่าง ‘ผีในโลกความจริง’ กับ ‘ผีในโลกเสมือน’ เป็นคอนเซปต์ที่น่าสนใจ หากแต่วิธีการเล่าเรื่องกลายเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งภาพรวมทั้งหมดของภาพยนตร์เอาไว้ โดยเฉพาะเมื่อผู้กำกับเลือกที่จะให้พื้นที่แก่ ‘ไอเดีย’ มากกว่า ‘ผี’ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่ด้วยการตัดสินใจแบบครึ่งๆ กลางๆ ตลอดทั้งเรื่อง ทำให้ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหนก็ไม่สามารถไปถึงเป้าประสงค์ที่ตัวเองวาดหวังเอาไว้ได้ 

 

ส่งผลให้ปมทั้งหมดที่ถูกขมวดอย่างน่าติดตามกลายเป็นสิ่งที่จืดจางและไร้พลังกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งถ้าว่ากันตามตรง การนำคำสาปพื้นเมืองมาผูกโยงกับเรื่องราวของภาพยนตร์เป็นจุดแข็งของ ชิมิซุ ทาคาชิ อยู่แล้ว แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างที่ขาดน้ำหนักทางอารมณ์ ทำให้ ‘ความน่าเชื่อถือ’ ที่เกิดขึ้นกับการกระทำของตัวละครถูกลดทอนลงไปด้วย 

 

แต่ส่วนสำคัญจริงๆ คือ เมื่อมันล้มเหลวในแง่ของการเล่าเรื่องที่ตัวเขานั้นหมายมั่นเสียยิ่งกว่าการปั้นฉากจัมป์สแกร์ใส่คนดู นั่นจึงทำให้สิ่งที่ภาพยนตร์พยายามปูมาตลอดทั้งเรื่องอย่างมิติที่ทับซ้อนกัน กลายเป็นทางผ่านระหว่างโลกของเทคโนโลยี วิญญาณ และความจริง ซึ่งเป็นหัวใจหลักของภาพยนตร์ไม่อาจเป็นได้มากกว่า ‘เงื่อนไข’ ที่ส่งให้ตัวละครมายังสถานที่แห่งนี้ และ ‘ใช่’ มันก็จบลงที่ตรงนั้นด้วยเช่นกัน

 

Immersion เกาะผีดุ

 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงทำให้ทีมวิจัย VR ที่ควรจะเป็นตัวชูโรงในการไขเรื่องราวปริศนาทั้งหมดกลายเป็นเพียงตัวประกอบที่ไม่น่าจดจำ แต่ความน่าจดจำที่ว่ากลับไปตกอยู่ที่ตัวละครตามทางแทน ไม่ว่าจะเป็นป้าร่างทรง ชายแก่ หรือแม้แต่เด็กนักเรียนสาว ที่เรียกได้ว่าพวกเขาเหล่านั้นมีเสน่ห์ยิ่งกว่าตัวละครหลักเสียอีก

 

อย่างไรก็ดี กลิ่นอายและบรรยากาศของภาพยนตร์ยังคงความเป็นตัวตนของ ชิมิซุ ทาคาชิ เอาไว้อย่างครบถ้วน แต่จากที่กล่าวไปข้างต้นทั้งหมดก็อาจสรุปได้ว่า ภาพยนตร์ของเขาล้วนประสบปัญหาเดียวกับสิ่งที่ภาพยนตร์สยองขวัญยุคนี้เป็น นั่นคือการที่ปมเฉลยของมันไม่สามารถทำให้คนดูเชื่อว่าสิ่งที่ผู้สร้างพยายามปูเกริ่นมาตลอดทั้งเรื่องนั้นมีความน่าอัศจรรย์ ซึ่งคำถามที่เกิดขึ้นในใจนี่เองก็อาจทำให้ตอนจบของภาพยนตร์สยองขวัญที่ต้องการจะวัดเหลี่ยมคนดู กลายเป็นการตั้งคำถามกลับไปยังตัวของคนทำแทนว่า ‘เหตุใดพวกเขาถึงได้นำเสนอเรื่องราวออกมาเช่นนี้’

 

Immersion เกาะผีดุ

 

ในภาพรวม Immersion จึงกลายเป็นภาพยนตร์ที่มีองค์ประกอบที่ ‘เจ๋ง’ แต่ ‘เจ๊ง’ เพราะการตัดสินใจที่ยังไม่เฉียบคมของผู้สร้าง จนกลายเป็นภาพยนตร์สยองขวัญที่กระท่อนกระแท่นทั้งในมุมของการเล่าเรื่องและความหลอน 

 

อีกทั้งรายละเอียดระหว่างโลกทั้งสองก็ไม่ได้รับการขยายเพิ่มเติมมิติใดๆ ราวกับเป็นเพียงแค่เครื่องมือที่ใส่มาเพื่อชี้นำให้เรื่องราวของภาพยนตร์มีจุดเริ่มต้นและไปต่อเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก เมื่อเทียบกับกลไกการเรื่องเล่าของเขาใน Ju-On ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่ายังห่างไกลจากความสำเร็จยิ่งนัก


Immersion เกาะผีดุ เข้าฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์ 

 

รับชมตัวอย่างได้ที่:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising