×

IMF เผย เศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนจากความกังวลด้านเงินเฟ้อไปสู่การเมืองและหนี้สิน

22.10.2024
  • LOADING...

เศรษฐกิจโลกกำลังมุ่งหน้าสู่ช่วงปลายปีด้วยปัจจัยหนุนที่คาดไม่ถึง อันเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง แม้ว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจหลายอย่างจะดูดีขึ้น แต่อุปสรรคทางการเมืองกำลังรออยู่ข้างหน้า

 

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจส่งผลทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงต่อโลก นอกเหนือจากหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้น, ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นในตะวันออกกลาง, สงครามที่ดุเดือดระหว่างรัสเซียและยูเครน และความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน

 

ฉากหลังที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดเหล่านี้ ทำให้เหล่ารัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้บริหารธนาคารกลางมารวมตัวกันในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในสัปดาห์นี้ เพื่อการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก

 

ตามข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เผยว่า อัตราการว่างงานในประเทศเศรษฐกิจขั้นสูงยังคงเท่าเดิมกับในปี 2022 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ธนาคารกลางเริ่มปรับขึ้นต้นทุนการกู้ยืมในอัตราเร็วที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

 

ขณะที่ Bloomberg Economics คาดการณ์ว่า ตัวเลข GDP ทั่วโลกจะเติบโต 3% ในปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเติบโต 3.3% ในปี 2023 แต่ยังห่างไกลจากการคาดการณ์ภาวะขาลงในช่วงต้นปี

 

ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ยังคงจับจ่ายใช้สอย และบริษัทต่างๆ ยังคงจ้างงานต่อไป ส่วนในยุโรปเศรษฐกิจน่าจะยังคงเติบโตต่อไปได้ แม้อุปสงค์ในยุโรปลดลง ในขณะเดียวกันผู้กำหนดนโยบายของจีนกำลังทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อกำหนดเพดานขั้นต่ำสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ มาตรการเหล่านี้อาจไม่เป็นไปตามความหวังของนักลงทุน แต่ก็เพียงพอที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเข้าใกล้เป้าหมายการเติบโตในปีนี้ที่ประมาณ 5%

 

สำหรับศึกการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แม้ว่า คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี จะเสนอนโยบายที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดี แต่คู่ต่อสู้ของเธออย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดี ได้วางนโยบายที่อาจส่งคลื่นช็อกไปทั่วทั้งการค้าโลก

 

โดยทรัมป์ขู่ว่า จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทั้งหมดอย่างน้อย 10% และขึ้นภาษีนำเข้ามากถึง 60% หรือสูงกว่านั้นสำหรับสินค้าจากจีน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความโกลาหลทางธุรกิจได้ ทรัมป์เผยว่า “ยิ่งภาษีนำเข้าสูงเท่าไร โอกาสที่บริษัทจะเข้ามาตั้งโรงงานในสหรัฐฯ ก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น เพื่อไม่ให้ต้องจ่ายภาษีนำเข้า”

 

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ เป็นฝ่ายที่เสียเปรียบมากที่สุดหากจีนตอบโต้มาตรการภาษีที่ทรัมป์เสนอ โดยตัวเลข GDP ของสหรัฐฯ อาจลดลง 0.8% ภายในปี 2028 ทางด้านยุโรปเองก็อาจได้รับผลกระทบมากขึ้นหากสินค้าจีนเข้าสู่ภูมิภาคนี้ ในช่วงเวลาที่ผู้ผลิตยุโรปกำลังเผชิญกับความต้องการอุปโภคบริโภคที่ลดลง การลงทุนไม่เคยฟื้นตัวเต็มที่หลังจากการระบาดใหญ่และลดลงตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ในขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนยังคงซบเซา

 

คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า สงครามการค้ารอบใหม่ ตลอดจนความไม่แน่นอนและอุปสรรคใดๆ ต่อการค้า มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ อีกทั้งสงครามเต็มรูปแบบในตะวันออกกลางก็อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก โดย Bloomberg Economics คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันอาจพุ่งไปที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

 

นอกจากนี้หนี้สินยังเป็นความเสี่ยงอีกประการหนึ่ง IMF คาดการณ์ว่า หนี้สาธารณะทั่วโลกจะสูงถึง 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 93% ของ GDP โลกภายในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ IMF ยังเตือนว่า รัฐบาลจะต้องตัดสินใจเพื่อรักษาเสถียรภาพของการกู้ยืม หลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมากระทรวงการคลังสหรัฐฯ รายงานว่า ภาระดอกเบี้ยและต้นทุนหนี้ของสหรัฐฯ พุ่งสูงสุดในรอบ 28 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาล และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X