×

‘IMF’ เตือน คว่ำบาตรรัสเซียจะลดอิทธิพลของเงินดอลลาร์ในฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศ

31.03.2022
  • LOADING...
คว่ำบาตรรัสเซีย

IMF เตือนว่า การคว่ำบาตรรัสเซียโดยสหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตกอาจทำให้อิทธิพลของเงินดอลลาร์ลดลง และเร่งให้เกิดการยอมรับคริปโตเคอร์เรนซีเร็วมากขึ้น 

 

กีตา โกปินาธ รองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวกับหนังสือพิมพ์ Financial Times ว่าการประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย นำโดยสหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตก อาจส่งผลให้ความสำคัญของสกุลเงินดอลลาร์ลดลง และทำให้ระบบการเงินโลกกระจายตัวมากขึ้น

 

“แม้ดอลลาร์จะยังคงเป็นสกุลเงินหลักของโลก แต่การคว่ำบาตรครั้งนี้ก็อาจทำให้ระบบการเงินกระจายตัวในระดับย่อยมากขึ้น ขณะนี้มีบางประเทศที่กำลังพิจารณาเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินใหม่สำหรับการชำระหนี้การค้า” โกปินาธกล่าว

 

ทั้งนี้ รัสเซียใช้เวลาหลายปีในการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ ซึ่งเป็นการรณรงค์ที่เร่งตัวขึ้นอย่างจริงจังหลังจากสหรัฐฯ คว่ำบาตรรัสเซียเพื่อตอบโต้การเข้ายึดครองไครเมียในปี 2557

 

แม้จะมีพยายามทำเช่นนั้น แต่รัสเซียยังคงมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศประมาณ 1 ใน 5 เป็นสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ (ก่อนการบุกรุกยูเครน) 

 

เธอตั้งข้อสังเกตว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปสกุลเงินดอลลาร์ ลดลงจาก 70% เป็น 60% ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ทุนสำรองสกุลอื่นๆ เพิ่มสัดส่วนมากขึ้น นำโดยดอลลาร์ออสเตรเลีย

 

ทั้งนี้ ประมาณ 1/4 ของสัดส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปสกุลดอลลาร์ที่ลดลงนั้น อาจเป็นเพราะเงินหยวนเพิ่มสัดส่วนขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก IMF ระบุว่าเงินสำรองของธนาคารกลางทั่วโลกเป็นเงินหยวนน้อยกว่า 3% จึงเชื่อว่าเงินหยวนไม่น่าจะแทนที่เงินดอลลาร์ที่เป็นสกุลเงินสำรองที่โดดเด่นได้

 

ปัจจุบัน จีนอยู่ระหว่างขั้นตอนของการทำให้เงินหยวนเป็นสากลแต่เกิดวิกฤตขึ้นเสียก่อนแผนจึงสะดุดลง แต่ทั้งนี้ จีนถือว่ากำลังนำหน้าประเทศอื่นๆ ในมิติของการนำสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางมาใช้แล้ว

 

นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังส่งผลให้การยอมรับและความนิยมต่อเงินดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นคริปโตเคอร์เรนซี หรือ Stablecoin ไปจนถึงสกุลเงินดิจิทัลของที่ออกโดยธนาคารกลางประเทศต่างๆ

 

โดยประเมินว่ายิ่งนานาประเทศหันมาใช้สกุลเงินอื่นในการค้าโลกมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศต้องกระจายการถือสินทรัพย์สำรองมากขึ้น

 

ทั้งนี้ สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรขนานใหญ่ต่อรัสเซีย เพื่อตอบโต้ต่อกรณีที่รัสเซียบุกโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 โดยรัสเซียนิยามการรุกรานดังกล่าวว่า เป็นปฏิบัติการทางทหารพิเศษเพื่อปลดอาวุธยูเครน

 

ก่อนหน้านี้ โกปินาถเคยกล่าวไว้ว่า การคว่ำบาตรรัสเซียครั้งนี้ไม่มีประเทศใดคาดการณ์ถึงการเสื่อมค่าของค่าเงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินสำรอง และสงครามในยูเครนจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกช้าลง แต่จะไม่ทำให้เกิดภาวะถดถอยทั่วโลก

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X