กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ออกมาแสดงความเห็นกึ่งเตือนว่า ประมาณเกือบ 40% ของตำแหน่งงานทั่วโลกในปัจจุบันอาจได้รับผลกระทบจากบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI โดยกลุ่มประเทศร่ำรวยมีแนวโน้มที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกลุ่มประเทศยากจน
คำเตือนดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งทาง IMF ได้ดำเนินการประเมินผลกระทบเทคโนโลยี AI ที่อาจเกิดขึ้นกับตลาดแรงงานทั่วโลก และพบว่า ในกรณีส่วนใหญ่ เทคโนโลยีดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้ความไม่เท่าเทียมกันโดยรวมแย่ลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จับตาภาคธนาคารสหรัฐฯ วิกฤตหรือไม่? หลังแบงก์ใหญ่เลย์ออฟกว่า 1.7 หมื่นรายในปี 2023
- เทรนด์การทำงาน 2024: ทักษะแบบไหนที่ทำให้เรากลายเป็นคนที่ทุกองค์กรมองหา เมื่อทักษะพิมพ์ดีดและภาษาอังกฤษไม่เพียงพออีกต่อไป
Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการ IMF ได้เรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายของนานาประเทศทั่วโลก เร่งจัดการกับ ‘แนวโน้มที่น่าหนักใจ’ นี้ และแสวงหาแนวทางปฏิบัติเพื่อดำเนินการเชิงรุกในการ ‘ป้องกันไม่ให้เทคโนโลยี AI เพิ่มความตึงเครียดทางสังคม’ โดย Georgieva ย้ำว่า สังคมโลกในขณะนี้กำลังจะเกิดการปฏิวัติทางเทคโนโลยีที่ไม่เพียงสามารถเร่งประสิทธิภาพการผลิต ส่งเสริมการเติบโตทั่วโลก และเพิ่มรายได้ทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังจะสามารถเข้ามาแทนที่งาน จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันมากขึ้น
ทั้งนี้ IMF ประเมินว่า ในกลุ่มประเทศร่ำรวยอาจมีตำแหน่งงานราว 60% เลยทีเดียวที่ได้รับผลกระทบจาก AI ขณะที่รับตำแหน่งงานอีกส่วนหนึ่งอาจได้รับประโยชน์จากการบูรณาการ AI เพื่อเพิ่มผลผลิต
ในส่วนของตำแหน่งงานต่างๆ ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ IMF ประเมินว่าราว 40% ของตำแหน่งงานในพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับผลกระทบจากการนำ AI มาใช้งาน ขณะที่งานในกลุ่มประเทศยากจนที่มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบจาก AI ที่ 26%
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของ IMF กลับชี้ให้เห็นว่า ในระยะสั้น กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศที่มีรายได้น้อยเผชิญกับภาวะดิสรัปชัน (Disruption) ค่อนข้างน้อย เนื่องจากหลายประเทศเหล่านี้ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานของแรงงานที่มีทักษะเพื่อใช้ประโยชน์จาก AI ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่เทคโนโลยีอาจทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มีอยู่แล้วเลวร้ายมากยิ่งขึ้นอีกในระยะยาว เพราะพนักงานที่สามารถเข้าถึงประโยชน์ของ AI สามารถเพิ่มผลผลิตและเงินเดือนได้ ในขณะที่พนักงานที่เข้าไม่ถึงย่อมเสี่ยงต่อการถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง จากเดิมที่ต้องเดินตามหลังตลอดอยู่แล้ว
ก่อนหน้านี้ ทาง Goldman Sachs ได้ออกมาเตือนแล้วว่า เทคโนโลยี Generative AI อาจส่งผลกระทบต่องานมากถึง 300 ล้านตำแหน่งทั่วโลก แม้ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นผลผลิตและการเติบโตของแรงงาน รวมถึงเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้มากถึง 7% ก็ตาม
ทั้งนี้ รายงานฉบับล่าสุดของ IMF ในครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่ผู้นำทางธุรกิจและการเมืองจากทั่วโลกมารวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) ในเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะสิ้นสุดในวันศุกร์ที่ 19 มกราคมนี้ โดยปีนี้ การประชุมจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ‘การรื้อฟื้นความน่าเชื่อถือ’ (Rebuilding Trust) ซึ่งหมายรวมถึงการกลับคืนสู่พื้นฐานของโลกเศรษฐกิจการค้าการลงทุนที่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำทางธุรกิจ และภาคประชาสังคมมารวมตัวกันพูดคุยอย่างเปิดกว้างและสร้างสรรค์ ซึ่งนอกจากหารือเรื่องแนวทางการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจโลกแล้ว หลายฝ่ายมองว่าที่ประชุม WEF จะมีการหารือเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของการนำเทคโนโลยี AI มาใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในแต่ละประเทศทั่วโลกอย่างจริงจัง
อ้างอิง: