×

IMF เตือนรัฐบาลควรเก็บภาษีคาร์บอน เพื่อเลี่ยงหนี้โลกที่อาจเพิ่มขึ้น 50% ในปี 2050

12.10.2023
  • LOADING...
IMF ภาษีคาร์บอน

THE STANDARD WEALTH ยังคงเกาะติดงานประชุมใหญ่ประจำปีของธนาคารโลก (World Bank Group) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ภายใต้ชื่องานว่า Marrakech 2023 World Bank Group – IMF Annual Meetings ระหว่างวันที่ 9-15 ตุลาคม 2023 ณ เมืองมาร์ราเกช ประเทศโมร็อกโก

 

วันที่ 11 ตุลาคม 2566 รายงาน Fiscal Monitor ฉบับเดือนตุลาคม ปี 2023 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวถึงผลกระทบทางการเงินของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยรายงานระบุว่า หากประเทศต่างๆ ยังคงดำเนินนโยบายตามแนวทางเดิม จะทำให้โลกไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและสังคม

 

Vitor Gaspar, Director ของ Fiscal Affairs Department จาก IMF รายงานว่า หากประเทศต่างๆ ต้องการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จะต้องเพิ่มการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และปรับตัวรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยประเทศพัฒนาแล้วและประเทศตลาดเกิดใหม่อาจต้องเพิ่มหนี้สาธารณะขึ้น 40-50% ของ GDP ภายในปี 2050

 

หนี้ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 75 ปีที่ผ่านมา หนี้สูงที่สุดและชันที่สุดอยู่ที่ 258% ของ GDP ในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่มีการระบาดใหญ่ ในอีกสองปีถัดมาเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งพร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิด ทำให้หนี้ลดลง 20% ของ GDP ซึ่งทำให้หนี้กลับมาอยู่ที่ระดับก่อนเกิดการระบาดใหญ่ประมาณ 2 ใน 3 

 

ในปี 2022 หนี้สินรวมของรัฐบาล บริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และครัวเรือน อยู่ที่ 235 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (238% ของ GDP) 

 

IMF ภาษีคาร์บอน

แผนภูมิ ‘Mountains of Debt’ ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1995

 

รายงานให้ข้อมูลอีกว่า หนี้สาธารณะทั่วโลกอยู่ในระดับสูง และต้นทุนการกู้ยืมกำลังเพิ่มขึ้น คาดว่าหนี้สาธารณะโลกจะเพิ่มขึ้นในปี 2023 สาเหตุเกิดจากหนี้ของเศรษฐกิจโลกขนาดใหญ่ (รวมถึงสหรัฐอเมริกาและจีน ทั้งสองประเทศนี้มีสัดส่วนหนี้รวมทั่วโลกนอกภาคการเงินเกือบครึ่ง โดยสัดส่วนของทั้งสองประเทศอยู่ที่ 30% และ 20% ตามลำดับ) คาดว่าหนี้โลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1% ของ GDP ต่อปีในระยะกลาง แต่หากไม่รวมสองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดแล้ว อัตราส่วนจะลดลงประมาณ 0.5% ต่อปี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่าคือ การที่รัฐบาลขาดดุลเพิ่มขึ้นสะท้อนถึงการเติบโตที่ชะลอลง อัตราดอกเบี้ยจริงที่เพิ่มขึ้น และงบประมาณภาครัฐที่ลดลงจนไม่สามารถใช้จ่ายเพิ่มได้ 

 

สรุปคือ หนี้สาธารณะโลกขณะนี้สูงขึ้นอย่างมาก และคาดว่าจะเติบโตเร็วกว่ามากเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ช่วงก่อนเกิดโควิด อัตราส่วนหนี้สาธารณะโลกจะอยู่ที่ประมาณ 100% ของ GDP ภายในปี 2030

 

รัฐบาลแต่ละประเทศเผชิญกับข้อจำกัดด้านงบประมาณที่แตกต่างกัน ในบางประเทศข้อจำกัดเหล่านี้เป็นสิ่งเร่งด่วน เนื่องจากรัฐบาลไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะชำระค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดได้ ตัวอย่างเช่น ในประเทศรายได้ต่ำหลายประเทศ ค่าใช้จ่ายในการขึ้นดอกเบี้ยและผลกระทบของการประเมินมูลค่าต่อหนี้สาธารณะคิดเป็นสัดส่วนที่มากขึ้นของรายได้จากภาษี ในขณะที่ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และจีน แม้ว่าจะไม่มีความกดดันทางการเงินที่รุนแรงในขณะนี้ แต่การดำเนินนโยบายในปัจจุบันต่อไปจะนำไปสู่เส้นทางการคลังที่ไม่ยั่งยืน

 

นอกจากนี้ ในประเทศส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีนโยบายการคลังที่เข้มงวดมากขึ้น ไม่เพียงแต่เพื่อสร้างเสริมกันชนและจำกัดความเสี่ยงด้านการคลังเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสนับสนุนความพยายามของธนาคารกลางในการนำอัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายในเวลาที่เหมาะสม

 

รายงานเสนอแนะว่า แนวทางที่ดีที่สุดในการลดผลกระทบทางการเงินของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือ การใช้มาตรการนโยบายหลายอย่างร่วมกัน ซึ่งรวมถึงการขึ้นราคาคาร์บอน การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ครัวเรือน แรงงาน และชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

 

สำหรับประเทศที่มีทรัพยากรทางการเงินจำกัด ประเทศเหล่านี้ควรให้ความสำคัญกับการลงทุนที่มีประสิทธิภาพและเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น การยกเลิกการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล และควรพยายามปรับปรุงความสามารถในการเก็บภาษี โดยเน้นไปที่การปฏิรูปสถาบันและขยายฐานภาษี

 

IMF เน้นย้ำว่า ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยข้อตกลงระดับโลกเกี่ยวกับราคาคาร์บอนจะเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ปัจจุบันมีประเทศเกือบ 50 ประเทศที่ใช้มาตรการกำหนดราคาคาร์บอนแล้ว 

 

ข้อตกลงระดับโลกเกี่ยวกับราคาคาร์บอนดังกล่าวควรรวมถึงมาตรการอื่นๆ เช่น ความช่วยเหลือทางการเงินและการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยี และกลไกการกระจายรายได้ เพื่อบรรเทาความเหลื่อมล้ำทางการเงินและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

ภาคเอกชนสามารถมีส่วนร่วมในการลงทุนและการจัดหาเงินทุนสำหรับพลังงานหมุนเวียนและโครงการปรับตัวรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ IMF สามารถให้การสนับสนุนด้านนโยบายและการเงินแก่ประเทศต่างๆ ในการบรรลุเป้าหมาย

 

สุดท้าย IMF เน้นย้ำว่า รัฐบาลจำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพทางการเงิน แม้ว่าจะต้องลดเป้าหมายนโยบายหรือเพิ่มการเก็บภาษีก็ตาม

 

สำหรับงานประชุมใหญ่ประจำปีของธนาคารโลก (World Bank Group) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่จะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ทีมงาน THE STANDARD จะอัปเดตข้อมูลที่สำคัญและบรรยากาศงานเป็นประจำทุกวัน ผ่านหลากหลายช่องทางทั้งรายการ Morning Wealth, เว็บไซต์ THE STANDARD WEALTH รวมทั้งโซเชียลมีเดียอื่นๆ ของ THE STANDARD 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X