IMF Journalism Fellowship Program 2024 Annual Meetings ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา IMF ได้ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH เกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดย IMF ระบุว่า ประเทศไทยนั้นขาดการลงทุนในทุนมนุษย์-ทุนทางกายภาพ ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ และการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งล้วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง
ภาพรวมเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยมีความท้าทายด้านโครงสร้างเศรษฐกิจตั้งแต่ก่อนเกิดโควิดและถูกโควิดซ้ำรอย โดยช่วงปี 2011-2019 การเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ประมาณ 3% ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาค เนื่องจากประเทศไทยขาดการลงทุนในทุนมนุษย์-ทุนทางกายภาพ ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ และการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย
โควิดส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และภาคเอกชน ที่ต้องกู้ยืมเพื่อประคองธุรกิจ
หนี้สาธารณะ-การขาดดุลการคลัง
IMF คาด หนี้สาธารณะของไทยจะแตะ 65% ในสิ้นปี 2024 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2019 ที่ 41% เนื่องจากรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโควิด แต่ IMF ไม่กังวลเกี่ยวกับตัวเลขดังกล่าว
โดยระบุว่า หนี้สาธารณะระดับ 60-65% ของ GDP ไม่น่ากังวล เนื่องจากระดับดังกล่าวใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศ Asia Emerging Markets ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ยังอยู่ระดับสูง แต่ในอนาคตก็ควรค่อยๆ ลดระดับหนี้สาธารณะลงมา เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังในการรับมือกับวิกฤตที่คาดไม่ถึงในอนาคต
IMF คาดการณ์การขาดดุลการคลังของไทยจะอยู่ที่ 4% ของ GDP ในสิ้นปี 2025 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ขณะที่วัฏจักรของเศรษฐกิจในเวลานี้อยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพ ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำ ดังนั้นจึงยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อยกระดับการเติบโตให้กลับไปสู่ระดับที่เหมาะสม
เตือนดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 ไม่คุ้ม
ในช่วงแรกของโครงการ รัฐบาลไทยประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คิดเป็นวงเงินประมาณ 3% ของ GDP ให้กับคนเกือบทั้งประเทศภายใน 1 ปี ซึ่งเป็นการใช้จ่ายงบประมาณที่มีต้นทุนสูง และควรเป็นมาตรการให้กับคนเฉพาะกลุ่มที่ต้องการ เพื่อไม่ให้กระทบกับการขาดดุลการคลังมากเกินไป โดยเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลปรับนโยบายเป็นการแจกเงินให้กับเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางในวงเงินที่ลดลง ซึ่ง IMF เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว เนื่องจากเป็นการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมกว่าแบบที่เคยประกาศไว้
อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลต้องการขยายไปสู่ระยะที่ 2 ไปยังกลุ่มคนที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบางควรจะระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากคนกลุ่มที่ 2 อาจไม่นำเงินที่ได้รับจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาใช้จ่าย แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเก็บออม ทำให้ผลบวกต่อเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ
นอกจากนี้ภาครัฐควรใช้จ่ายงบประมาณที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการลงทุนในด้านต่างๆ ที่จำเป็นและขาดการลงทุนมาอย่างยาวนาน ทั้งการศึกษา ทรัพยากรมนุษย์ แรงงาน โครงสร้างด้านดิจิทัล และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น
3 เรื่องเร่งด่วนสำหรับรัฐบาลไทย
IMF แนะนำรัฐบาลไทยควรดำเนินการ 3 อย่าง เพื่อลดหนี้สาธารณะที่กำลังอยู่ในระดับสูง
- เพิ่มรายได้เพื่อให้มีทรัพยากรที่เพียงพอในการใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็นในอนาคต โดยสามารถทำได้หลายทาง เช่น การปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งระดับ 7% ในปัจจุบันเป็นหนึ่งในอัตราที่ต่ำที่สุดของโลก และต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็นที่ 10% ดังนั้นการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% หรือมากกว่านั้น จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลเป็นอย่างมาก
- ขยายฐานภาษีรายได้บุคคลธรรมดา เพราะในขณะนี้มีคนไทยเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ทำให้ฐานภาษีอยู่ในวงจำกัด
- ขึ้นภาษีอสังหาและภาษีความมั่งคั่ง เนื่องจากปัจจุบันความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยค่อนข้างสูง
นอกจากนี้รัฐบาลใหม่ได้พูดถึงการดึงระบบเศรษฐกิจนอกระบบให้เข้าสู่ในระบบ และ Negative Income Tax ที่ช่วยให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
ไม่เห็นด้วยกับการอุดหนุนพลังงาน
IMF ระบุว่า งบประมาณของภาครัฐส่วนใหญ่หมดไปกับนโยบายอุดหนุนพลังงาน แต่นโยบายนี้เป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มคนฐานะดีที่มีการใช้พลังงานมาก เช่น มีรถยนต์ บ้านหลังใหญ่ ในขณะที่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยใช้พลังงานน้อยกว่า ดังนั้นหากนโยบายมุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนเปราะบางจะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่งออก – SMEs ไทย อยู่อย่างไรให้รอด
สำหรับประเด็นการค้าระหว่างประเทศ IMF มองว่าประเทศไทยควรกระจายประเทศคู่ค้าให้มากขึ้น เช่น การกระจายไปยังกลุ่มอาเซียนเหมือนในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้รับอานิสงส์จากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ด้วยการส่งออกสินค้าที่อยู่ภายใต้ความขัดแย้งได้ในปริมาณที่มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผลเชิงบวกนี้อาจเป็นเพียงระยะสั้น เนื่องจากความขัดแย้งทางการค้าจะทำให้มูลค่าการค้าโดยรวมลดลง และกระทบส่งออกของไทยในท้ายที่สุด
ดังนั้นจึงควรเพิ่มศักยภาพให้กับสินค้าการส่งออกด้วยการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ส่งออกสินค้าที่มูลค่าเพิ่ม-ความซับซ้อนมากขึ้น
สำหรับ SMEs ไทย สิ่งที่รัฐบาลควรสนับสนุนคือการให้ความรู้ทางด้านการเงิน (Financial Literacy) มากขึ้น สถาบันการเงินควรให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) รวมทั้งอำนวยความสะดวกในเรื่องการยื่นขอล้มละลาย (Facilitating Bankruptcy) เนื่องจากจะช่วยระงับการสูญเสียทรัพย์สินที่อาจเกิดขึ้น
มุมมอง IMF ต่อนโยบายการเงินไทย
เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพ เงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำ การเติบโตสินเชื่อชะลอตัว ดังนั้นเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจ รักษาเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบของเป้าหมาย และสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงิน การลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 4 ปีเป็นสิ่งที่เหมาะสม ส่วนในระยะต่อไป สิ่งที่ ธปท. ควรดำเนินการคือพิจารณาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อก่อนตัดสินใจให้เหมาะสมกับแนวโน้มในอนาคต
รัฐบาล-ธนาคารกลาง vs. จุดยืน-อิสระ
IMF มองว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลและ ธปท. มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด พร้อมรักษาเสถียรภาพทางการเงิน โดยหน้าที่และสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายควรทำคือการสื่อสารให้ชัดเจนถึงเป้าหมายของการดำเนินนโยบาย เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
IMF ยืนยันว่า สิ่งสำคัญของธนาคารกลางในแต่ละประเทศคือความน่าเชื่อถือและความเป็นอิสระที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศโดยรวม (IMF เคยนำเสนอเรื่องนี้ไว้ https://www.imf.org/en/Blogs/Articles/2024/03/21/strengthen-central-bank-independence-to-protect-the-world-economy) โดยนับตั้งแต่วิกฤตการเงินในประเทศไทยปี 1997 ธปท. สร้างความน่าเชื่อถือด้วยความเป็นอิสระและทำให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายการเงิน ทำให้เงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำและมีเสถียรภาพอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปี 1997