×

IMF เตือนสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นและคริปโต อาจเผชิญแรงเทขายต่อเนื่องในปีนี้ หลังธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มใช้นโยบายการเงินตึงตัว

27.01.2022
  • LOADING...
หุ้น คริปโต

โทเบียส เอเดรียน ผู้อำนวยการด้านตลาดเงินตลาดทุนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาเตือนว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวของธนาคารกลางหลายประเทศอาจส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นที่มีความเสี่ยงสูงและคริปโต ต้องเผชิญกับแรงเทขายต่อเนื่องในปีนี้

 

“เราจะได้เห็นการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นในปีนี้อย่างแน่นอน ซึ่งนั่นหมายถึงสินทรัพย์เสี่ยงจะถูกเทขายต่อเนื่องแม้ธนาคารกลางทุกแห่งจะบอกว่าการปรับนโยบายจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม” เอเดรียนกล่าว

 

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (26 มกราคม) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ส่งสัญญาณว่าจะยุติ QE และเริ่มต้นขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม โดยเอเดรียนเชื่อว่าการส่งสัญญาณที่ค่อนข้างชัดของ Fed จะทำให้ตลาดมีเวลาปรับตัว แต่ถึงกระนั้นแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงก็ยังน่าจะมีต่อไป

 

เอเดรียนระบุว่า สินทรัพย์ที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวในรอบนี้จะไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่หุ้นเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงคริปโตเคอร์เรนซี ที่ปัจจุบันเริ่มมีความเชื่อมโยงกับนโยบายเศรษฐกิจในเชิงมหภาคมากขึ้นด้วย เห็นได้จากมูลค่าของคริปโตที่ร่วงลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา

 

การแสดงความเห็นของเอเดรียนเกิดขึ้นหลังจาก IMF มีการเผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2022 ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (27 มกราคม) ในรายงานดังกล่าว IMF ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเหลือ 4.4% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.9%

 

นอกจากนี้ IMF ยังปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียในปีนี้ โดยระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชียเป็นไปอย่างล่าช้า และอาจกดดันให้บรรดาธนาคารกลางในเอเชียใช้มาตรการเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เม็ดเงินทุนจะไหลออกจากภูมิภาค โดย IMF คาดว่า เศรษฐกิจเอเชียในปี 2022 มีแนวโน้มชะลอตัวลงสู่ระดับ 5.9% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 6.3%

 

“เราเห็นการชะลอตัวของเงินทุนที่ไหลเข้าสู่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว และเชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องในปีนี้” เอเดรียนกล่าว

 

ผู้บริหาร IMF ยังมองด้วยว่า แรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้ธนาคารในหลายประเทศต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุม ซึ่งจะส่งผลกระทบให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศที่ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่และมีปัญหาทางการคลังต้องล่าช้าออกไป

 

อ้างอิง:


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising