×

‘IMF’ แนะรัฐบาลทั่วโลกใช้นโยบายการเงินและการคลังที่สอดประสานกัน ลดความเสี่ยง ‘เศรษฐกิจถดถอย’

04.10.2022
  • LOADING...
IMF

ผู้อำนวยการ IMF แนะรัฐบาลโลกใช้นโยบายการเงินและการคลังที่สอดประสานกัน เพื่อช่วยหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ด้าน UNCTAD ระบุ หาก Fed ยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง จะสร้างผลกระทบครั้งใหญ่ต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 

 

คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยได้ให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าว Reuters ระหว่างเดินทางเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียเพื่อเข้าร่วมประชุมด้านความมั่นคงทางอาหารเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (3 ตุลาคม) 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


จอร์เจียวามองว่า หลายประเทศทั่วโลกสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ หากนโยบายการคลังของรัฐบาลสอดคล้องกับนโยบายการเงินที่เข้มงวด แต่มีแนวโน้มว่าจะมีประเทศส่วนหนึ่งที่ไม่อาจหลีกหนีภาวะถดถอยในปีหน้าได้

 

เธอกล่าวว่า ภายใต้บริบทของนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น นโยบายการคลังย่อมไม่สามารถอยู่เฉยๆ ได้ เนื่องจากวิกฤตค่าครองชีพกำลังส่งผลกระทบต่อส่วนต่างๆ ของสังคมอย่างมาก

 

“เราต่างต้องการให้บรรดาธนาคารกลางทั้งหลายตัดสินใจดำเนินการอย่างมีกึ๋น เหตุผลเพราะเงินเฟ้อในขณะนี้เป็นอะไรที่ดื้อด้านมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อการเติบโต และเป็นสิ่งที่เลวร้ายสำหรับคนจน เงินเฟ้อคือภาษีของคนยากจน” จอร์เจียวากล่าว 

 

ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการ IMF ยังส่งเสริมการใช้นโยบายการคลังที่สนับสนุนทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งรวมถึงการควบคุมราคาพลังงาน และการให้เงินอุดหนุน แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะขัดกับวัตถุประสงค์ของนโยบายการเงิน โดยเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า นโยบายการเงินเสมือนกับการเหยียบเบรกไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงจนเกินไปจนซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อ ขณะที่นโยบายการคลังก็คือการหาทางเหยียบคันเร่งเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ 

 

ผู้อำนวยการ IMF ระบุอีกว่า การที่บรรดารัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกก้าวเข้ามาสนับสนุนประชากรของพวกเขาท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อด้านอาหารที่สูงขึ้นและการขาดแคลนอาหาร ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งผลให้เกิดคลื่นภาวะช็อกผ่านตลาดการเงินและเศรษฐกิจ

 

ความเห็นดังกล่าวสองคล้องกับความเห็นของทางองค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ออกโรงเรียกร้องให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกหลีกเลี่ยงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

ทั้งนี้ รายงานประจำปีของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ชี้ว่า แนวทางนโยบายการเงินของ Fed มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หาก Fed ยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

 

UNCTAD คาดการณ์ว่า หาก Fed ทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศร่ำรวย 0.5% ภายหลังจากนั้น 3 ปี และกระทบเศรษฐกิจของประเทศยากจน 0.8% ภายในช่วงเวลาเดียวกัน 

 

นอกจากนี้ ทาง UNCTAD ยังระบุอีกว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในปีนี้จะทำให้มูลค่าเศรษฐกิจของประเทศยากจนลดลงถึง 3.6 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงเวลา 3 ปี และหาก Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ก็จะส่งผลกระทบมากขึ้นต่อกลุ่มประเทศดังกล่าว

 

ข้อเรียกร้องดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของผู้อำนวยการ IMF ที่ขอให้ Fed ใช้นโยบายที่รอบคอบอย่างยิ่ง และคำนึงถึงผลกระทบกับส่วนอื่นๆ ของโลกในวงกว้าง โดยย้ำว่า บทบาทหน้าที่ความรับผิดของ Fed จะต้องอยู่ในระดับที่สูงมากๆ 

 

ทั้งนี้ ในมุมมองของ IMF ตลาดแรงงานในสหรัฐฯ ยังค่อนข้างตึงตัว อุปสงค์ยังคงค่อนข้างสำคัญสำหรับสินค้าและบริการ และ Fed ก็จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นในสภาพแวดล้อมดังกล่าว ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะได้เห็นตัวเลขการว่างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งหากถึงเวลานั้นก็จำเป็นที่ Fed จะต้องยอมรับว่าได้ทำหน้าที่เสร็จสิ้นแล้ว ถึงเวลาใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินได้แล้ว กระนั้นในขณะนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมยังก้าวไปไม่ถึงขั้นดังกล่าว 

 

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทาง IMF เพิ่งจะอนุมัติกรอบความช่วยเหลือทางการเงิน ซึ่งขยายเพิ่มเติมจากเครื่องมือทางการเงินฉุกเฉินที่มีอยู่ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศยากจนให้สามารถรับมือกับปัญหาการขาดแคลนอาหาร และค่าใช้จ่ายสูงที่เกิดจากอัตราเงินเฟ้อทวีความรุนแรงขึ้นจากสงครามของรัสเซียในยูเครนได้

 

เบื้องต้นจอร์เจียวาประเมินว่า จะมีประมาณ 10-20 ประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา ยื่นความจำนงขอเข้าถึงเงินทุนช่วยเหลือดังกล่าว 

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising