IMF ระบุว่า ความเป็นอิสระของธนาคารกลางเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการเอาชนะการต่อสู้กับเงินเฟ้อ และการบรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงในระยะยาว แต่ผู้กำหนดนโยบายมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับแรงกดดันท่ามกลางการเลือกตั้งของหลายประเทศในปีนี้
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยแพร่บทความของ Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ซึ่งมีเนื้อความว่า ความเป็นอิสระของธนาคารกลางในปัจจุบันเผชิญกับความท้าทายมากมาย ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควรก็ตาม
โดยความท้าทายดังกล่าวก็มีแนวโน้มว่าจะเข้มข้นขึ้น เมื่อประชากรครึ่งหนึ่งของโลกเตรียมตบเท้าเข้าคูหาเลือกตั้งในปีนี้
ท่ามกลางความเสี่ยงจากการแทรกแซงทางการเมืองต่อการตัดสินและการแต่งตั้งบุคลากรของธนาคารกลางที่มีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลและธนาคารกลางควรร่วมใจต่อต้านแรงกดดันเหล่านี้
Georgieva ย้ำว่า ความอิสระและความน่าเชื่อถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศประสบความสำเร็จในการป้องกันภาวะล่มสลายทางการเงินทั่วโลก และสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
“ความสำเร็จในการลดความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อเมื่อเร็วๆ นี้ต่างจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อสูงเมื่อทศวรรษที่ 1970 อย่างมาก
“ย้อนกลับไปตอนนั้น ธนาคารกลางไม่มีอำนาจ (Mandate) ที่ชัดเจนในการจัดลำดับความสำคัญของเสถียรภาพด้านราคา หรือไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนที่ปกป้องความเป็นอิสระ เป็นผลให้ถูกกดดันจากนักการเมืองให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง เมื่ออัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ทำให้ทุกคนได้รับบาดเจ็บจากภาวะเงินเฟ้อ”
การวิจัยจำนวนมาก รวมถึงของ IMF เอง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของความเป็นอิสระนี้ โดยการศึกษาของ IMF ฉบับหนึ่ง ซึ่งศึกษาธนาคารกลางหลายสิบแห่งตั้งแต่ปี 200-2021 แสดงให้เห็นว่า ‘ธนาคารที่มีความเป็นอิสระสูงจะประสบความสำเร็จมากกว่าในการควบคุมการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของประชาชน ซึ่งช่วยให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ’
การศึกษาของ IMF อีกฉบับที่ติดตามธนาคารกลางในลาตินอเมริกา 17 แห่งในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น ความเป็นอิสระในการตัดสินใจ ความชัดเจนของอำนาจ และความเป็นไปได้ที่ธนาคารอาจถูกบังคับให้ปล่อยกู้ให้กับรัฐบาล พบว่ายิ่งเป็นอิสระยิ่งเป็นผลดีกับเงินเฟ้อ
อ้างอิง: