×

IMF ย้ำโควิดยังเป็นความเสี่ยงใหญ่ แนะทั่วโลกงัดมาตรการรับมือสู้ เชื่อมีส่วนสำคัญช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น

03.02.2022
  • LOADING...
IMF

คริสตาลินา จอร์จีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวโน้มทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของนานาประเทศทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด โดยระบุชัดว่า นโยบายจัดการกับการระบาดของโรคโควิดก็คือนโยบายเศรษฐกิจ และความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเศรษฐกิจโลกในปีนี้ โดยปัจจัยเสี่ยงใหญ่ยังคงเป็นโรคโควิด และภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตามมาหลังเกิดการระบาด

 

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ผู้อำนวยการ IMF รายนี้ต้องการจะสื่อก็คือ การเพิ่มแนวทางป้องกันและต่อสู้กับโควิด เช่น การกระตุ้นการฉีดวัคซีน จะเป็นมาตรการสำคัญที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ สามารถพลิกฟื้นกลับมาเติบโตได้เร็วขึ้น

 

นอกจากนี้ จอร์จีวายังยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อกลายเป็น “ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีนัยสำคัญมากกว่าที่คาดไว้” และการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับผลกระทบของเงินเฟ้อ กำลังการบริโภค ราคาอาหาร และสภาวะโลกร้อนต่ำเกินไป แต่ก็เชื่อว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก จะช่วยคลี่คลายแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อได้

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจในหลายประเทศยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนใน 86 ประเทศยังไม่บรรลุเป้าหมายของการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 40% ของประชากรในปี 2021 และอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศที่มีรายได้ต่ำอยู่ที่เพียง 5% เมื่อเทียบกับ 70% ในประเทศร่ำรวย โดยเหตุที่เป็นปัญหาเพราะประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ ยังคงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของโควิด

 

ความเห็นของผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศครั้งนี้มีขึ้นระหว่างเข้าร่วมงานอีเวนต์ที่ทาง The Washington Post จัดขึ้น ซึ่งจอร์จีวายังใช้โอกาสนี้เตือนว่า เศรษฐกิจโลกอาจได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่จะส่งผลให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศยังเป็นปัจจัยลบต่อราคาอาหาร ดังนั้นรัฐบาลนานาประเทศทั่วโลกควรเตรียมหามาตรการพร้อมรับกับปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้

 

ขณะที่ในวันเดียวกัน มีรายงานว่าทางสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของ 19 ประเทศผู้ใช้เงินสกุลยูโร หรือยูโรโซนพุ่งขึ้นสู่ระดับ 5.1% เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่ยูโรสแตทเริ่มรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 1997

 

ความเคลื่อนไหวของดัชนี CPI ครั้งนี้ สวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี CPI จะปรับตัวลดลงแตะระดับ 4.4% ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา และยังเป็นการปรับตัวลดลงจากเดือนธันวาคมก่อนหน้า ที่ดัชนี CPI ปรับตัวอยู่ที่ระดับ 5.0%

 

นอกจากนี้ ดัชนี CPI ล่าสุด ยังสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กำหนดไว้กว่าสองเท่า ขณะที่สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อในยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้นนี้ เป็นเพราะการพุ่งขึ้นของราคาอาหารและราคาน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน โดยเดือนที่ผ่านมา ถือเป็นการปรับขึ้นของตัวเลขดัชนีเงินเฟ้อติดต่อกันมา 3 เดือนแล้ว

 

ในส่วนของดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ทางธนาคารกลางยุโรป (ECB) ให้ความสำคัญ ปรับตัวลงสู่ระดับ 2.5% ในเดือนมกราคม เมื่อคิดเป็นอัตรารายปี และปรับลดลงจากเดือนธันวาคมก่อนหน้าอยู่ที่ 2.7%

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X