กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ฉบับล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (16 เมษายน) โดยได้มีการปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2024 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.1% เมื่อเดือนมกราคม เป็น 3.2% อีกทั้งยังสอดคล้องกับการคาดการณ์การเติบโตที่เคยระบุไว้ในปี 2023 ขณะที่การเติบโตในปี 2025 ทาง IMF คาดว่าการเติบโตจะขยายตัวต่อเนื่องในอัตราเดียวกันกับปีนี้คือที่ 3.2%
รายงานระบุว่า การปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ทิศทางโดยรวมของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปโดยบวก อีกทั้งยังพิสูจน์ให้เห็นว่า เศรษฐกิจโลกในเวลานี้ ‘มีความยืดหยุ่นอย่างน่าประหลาดใจ’ แม้จะเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินก็ตาม
Pierre-Olivier Gourinchas (IMF) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวการประชุมฤดูใบไม้ผลิประจำปี 2024 ของ IMF และ World Bank ว่า ท่ามกลางปัจจัยลบที่ทำให้การคาดการณ์ค่อนข้างเลวร้าย แต่เศรษฐกิจโลกก็ยังแสดงความแข็งแกร่ง โดยตัวชี้วัดส่วนใหญ่ยังคงชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจโลกกำลังมุ่งหน้าไปสู่ภาวะ ‘Soft Landing’ หรือการชะลอตัวแบบไม่รุนแรง
ขณะเดียวกันหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์รายนี้ของ IMF ยังได้แสดงความเห็นลงในบล็อกโพสต์ของตนเองว่า “แม้จะมีการคาดการณ์ที่มืดมน แต่เศรษฐกิจโลกยังคงมีความยืดหยุ่นอย่างน่าทึ่ง ด้วยการเติบโตที่มั่นคงและอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวในอัตราที่เกือบจะเทียบเท่ากับตัวเลขที่ขยับปรับเพิ่มขึ้น”
รายงานระบุด้วยว่า บรรดาประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วทั้งหลาย สหรัฐอเมริกายังคงเป็นผู้นำในการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะนี้เติบโตมากกว่าก่อนวิกฤตโควิดระบาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนในกลุ่มของยูโรโซนเองก็แสดงสัญญาณการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มทางเศรษฐกิจของจีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกที่ชะลอลง ทำให้อาจมีผลกระทบต่อคู่ค้าทั่วโลกของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า จีนยังคงเผชิญกับการเติบโตที่อ่อนแอ สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกันความตึงเครียดในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง ก็ส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อในหลายประเทศมีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะราคาน้ำมันแพง บีบให้ธนาคารกลางของนานาประเทศ รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงต่อไป ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในตลาดแรงงานที่ยังคงตึงตัว อาจทำให้เกิดความคาดหมายว่าอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและราคาสินทรัพย์ลดลง
Pierre-Olivier Gourinchas ยังชี้อีกว่า การลดเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเร็ว-ช้าต่างกันในหมู่ประเทศเศรษฐกิจหลักอาจส่งผลต่อความเคลื่อนไหวของสกุลเงินต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในอาเซียน ซึ่งทำให้ภาคการเงินตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน โดยอัตราดอกเบี้ยสูงอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากการปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยประเภทอัตราดอกเบี้ยคงที่และครัวเรือนต้องเผชิญกับภาระหนี้ในระดับสูง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเงิน
กระนั้นด้วยนโยบายการคลังที่ผ่อนคลาย อัตราเงินเฟ้อที่ทยอยลดลง และความก้าวหน้าในด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่มีศักยภาพ โดยขณะนี้บรรดาธนาคารกลางของหลายประเทศทั่วโลกกำลังจับตาดูสัญญาณเกี่ยวกับเส้นทางเงินเฟ้อในอนาคตอย่างใกล้ชิด โดยนักวิเคราะห์หลายรายเริ่มมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรปจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ IMF ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั่วโลกน่าจะปรับตัวลดลงจากค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 6.8% ในปี 2023 เป็น 5.9% ในปี 2024 และ 4.5% ในปี 2025 โดยประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วกลับเข้าสู่เป้าหมายเงินเฟ้อเร็วกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่
อ้างอิง: